Taylor Swift เซเลบรวยสุดแห่งปี แต่เงินมหาศาลซื้อบางอย่างที่เธอต้องการไม่ได้

สวย รวย เก่ง เป็นคุณสมบัติที่น่าอิจฉา แต่โลกนี้ไม่มีใครได้ดั่งใจต้องการไปซะทุกอย่าง แม้แต่นักร้องสาวเทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) ซึ่งปีนี้เธอครองแชมป์คนดังที่ทำรายได้สูงสุดประจำปี (นับรอบปีจากมิถุนายน 2018-มิถุนายน 2019) จากการจัดอันดับของ Forbes ที่เพิ่งประกาศรายชื่อ “The World’s Highest-Paid Celebrities” เมื่อไม่กี่วันก่อน

เทย์เลอร์ สวิฟต์ นักร้องสาวชาวอเมริกัน ทำรายได้ 185 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าเซเลบระดับโลกหลายคนที่เราพอจะนึกชื่อออก ไม่ว่าจะเป็น ไคลี่ เจนเนอร์ ที่อยู่อันดับ 2, คานเย่ เวสต์ อันดับ 3, ลิโอเนล เมสซี่ อันดับ 4, เอ็ด ชีแรน อันดับ 5 และ คริสเตียโน่โรนัลโด้ อันดับ 6

หลัก ๆ รายได้ของเธอมาจากส่วนแบ่งการทัวร์คอนเสิร์ต Reputation Stadium Tour ที่ทำเงิน 345 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เงินจำนวนมหาศาลที่เทย์เลอร์ สวิฟต์ หามาได้นั้นก็ไม่ทำให้เธอได้ทุกอย่างที่ต้องการ แม้ว่าสิ่งที่เธอต้องการเป็นสิ่งที่สามารถซื้อได้ด้วยเงินก็ตาม

สิ่งที่เทย์เลอร์ สวิฟต์ ต้องการแต่ซื้อไม่ได้ก็คือ “ลิขสิทธิ์งานบันทึกเสียง” บทเพลงของตัวเธอเองซึ่งเป็นประเด็นดราม่ามาสักพักหนึ่งแล้ว โดยเรื่องมีอยู่ว่าเมื่อปีที่แล้วเทย์เลอร์ สวิฟต์ ย้ายจากค่าย Big MachineRecords ไปอยู่กับค่าย Republic Records ในเครือ Universal Music

ปัญหาก็คือ เมื่อตอนเซ็นสัญญากับ Big Machine Records เทย์เลอร์ สวิฟต์ อายุ 15 เธอก็เหมือนกับวัยรุ่นหลายคนที่มีความฝันต้องการโอกาสออกอัลบั้มเป็นศิลปินดัง

เธอเซ็นสัญญากับค่ายเพลง ซึ่งสัญญานั้นระบุว่า ลิขสิทธิ์เพลงของเธอจะเป็นของค่าย สัญญาฉบับนั้นก็เหมือนสัญญาทั่วไปในอุตสาหกรรมดนตรีที่ค่ายเพลงมักจะเขียนสัญญาให้ค่ายได้เปรียบอยู่แล้ว เพราะค่ายต้องลงทุนในการสร้างสรรค์บทเพลงเหล่านั้น เว้นแต่กรณีที่ศิลปินชื่อดังที่มีพลังอำนาจในการต่อรองก็ต่อรองได้เป็นรายกรณีไป

เทย์เลอร์ สวิฟต์ มีผลงานกับ Big Machine Records ทั้งหมด 6 อัลบั้ม ความโด่งดังระดับอันดับ 1 ของวงการในเวลาหลายปีที่ผ่านมา ทำให้เธอมีรายได้มหาศาลมากพอที่จะซื้อลิขสิทธิ์เพลงของตัวเองได้ และเธอก็ได้ยื่นข้อเสนอซื้อลิขสิทธิ์เพลงไปแล้ว แต่สกอตต์ บอร์เชตตาเจ้าของค่ายไม่ยอมขายให้เธอ แน่นอนว่าเทย์เลอร์ผิดหวังที่ไม่ได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงของตัวเอง แต่ตอนนั้นดราม่าก็ยังไม่เกิด

จนกระทั่งเมื่อเร็ว ๆ นี้เจ้าของค่ายกลับขายลิขสิทธิ์เพลงให้กับสกูเตอร์ บรอน คู่อริของเธอ งานนี้นักร้องสาวก็เลยเกิดความรู้สึกเสียใจและเจ็บช้ำใจเอามาก ๆ เธอเขียนจดหมายเปิดเผยความในใจว่า เธอพยายามขอซื้อลิขสิทธิ์เพลงจากเจ้าของค่าย แต่เธอถูกปฏิเสธ และได้รับข้อเสนอว่าถ้ากลับมาเซ็นสัญญากับค่าย เธอจะได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงอัลบั้มใหม่และอัลบั้มก่อนหน้านี้เพียงหนึ่งอัลบั้ม เธอจึงตัดสินใจเดินออกมา แต่แล้วความเจ็บช้ำที่ยิ่งกว่านั้นก็เกิดขึ้นอีก

“ฉันรู้มาว่า สกูเตอร์ บรอน จ่ายเงินซื้อลิขสิทธิ์งานบันทึกเสียงเพลงทั้งหมดของฉัน ที่ฉันคิดได้คือ นี่มันเป็นการกลั่นแกล้งที่ไม่หยุดหย่อน อย่างที่ฉันได้รับจากน้ำมือของเขามาตลอดเวลาหลายปี”

“สกูเตอร์ดึงฉันออกจากงานที่ฉันทำมาทั้งชีวิต ฉันไม่มีโอกาสได้ซื้องานของตัวเอง ผลงานของฉันกำลังจะตกไปอยู่ในมือใครบางคนที่พยายามทำลายมันมาตลอด”

“เมื่อฉันทิ้งงานเพลงของฉันไว้ในมือของสกอตต์ ฉันทำใจยอมรับความจริงว่า สักวันหนึ่งเขาก็จะขายมัน แต่แม้แต่ฝันร้ายที่สุดของฉันก็ยังไม่เคยคิดว่าคนที่ซื้อจะเป็นสกูเตอร์ ทุกครั้งที่สกอตต์ บอร์เชตตาได้ยินคำว่า “สกูเตอร์ บรอน” หลุดจากปากฉัน นั่นคือตอนที่ฉันกำลังร้องไห้หรือพยายามกลั้นน้ำตาไว้ เขารู้ว่าเขากำลังทำอะไรอยู่ เขารู้กันทั้งคู่ มันคือการควบคุมผู้หญิงที่ไม่อยากข้องเกี่ยวกับพวกเขาสักนิด”

ความช้ำใจของเทย์เลอร์ สวิฟต์ จึงไม่ใช่การไม่ได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์งานของตัวเองตั้งแต่ต้น แต่มันช้ำมากตรงที่เธอมีเงินมากพอที่จะซื้อมันมาเป็นของตัวเอง แต่เจ้าของค่ายไม่ขายให้เธอ ซ้ำยังขายให้ศัตรูของเธอ ซึ่งนั่นแปลว่าเธอไม่มีวันจะซื้อมันกลับมาได้ ต่อให้เธอมีเงินมหาศาลกว่านี้แค่ไหนก็ตาม

จากบทเรียนในอดีตบวกกับ ณ เวลานี้ เทย์เลอร์ สวิฟต์ มีพาวเวอร์มากพอที่จะต่อรองกับคายเพลง สัญญาครั้งใหม่ของเธอกับค่ายเพลงใหม่ของเธอจึงถูกเขียนแบบที่เธอพอใจ อย่างที่เธอเขียนในจดหมายว่า

“ขอบคุณที่ทุกวันนี้ฉันได้เซ็นสัญญากับค่ายเพลงที่เชื่อว่าฉันควรจะได้เป็นเจ้าของผลงานที่ฉันสร้าง ขอบคุณที่ฉันทิ้งอดีตของตัวเอง ไม่ใช่อนาคตไว้ในมือสกอตต์ และหวังอย่างยิ่งว่าศิลปินรุ่นใหม่และเด็ก ๆ ที่มีความฝันอยากทำดนตรีจะอ่านและเรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการป้องกันตนเองให้ดีขึ้นในการเจรจาต่อรองสัญญา และคุณคู่ควรที่จะได้เป็นเจ้าของงานศิลปะที่คุณสร้างขึ้นมานะ”

สำหรับ “ลิขสิทธิ์งานบันทึกเสียง” ที่เทย์เลอร์ สวิฟต์ ไม่มีโอกาสครอบครองนั้นคือสิทธิในเสียงเพลงที่บันทึกเสียงในอัลบั้ม ซึ่งลิขสิทธิ์นี้แยกกันกับ “ลิขสิทธิ์บทประพันธ์” คือเนื้อร้องทำนองเพลง ซึ่งสิทธิในส่วนนี้ยังเป็นของเธออยู่ อธิบายเห็นภาพคือ หากจะมีการนำเพลงที่บันทึกเสียงในอัลบั้มไปดัดแปลง เช่น นำเพลงไปรีมิกซ์ อันนี้เป็นสิทธิที่ค่าย ซึ่งถือครอง “ลิขสิทธิ์งานบันทึกเสียง” มีสิทธิอนุญาตให้ใครเอาไปทำก็ได้ โดยค่ายเป็นผู้ได้รับประโยชน์ ส่วนเนื้อร้องและทำนองเพลง ตรงนี้

เทย์เลอร์ยังเป็นเจ้าของสิทธินั้นอยู่ เธอมีสิทธิให้ใครเอาเพลงของเธอไปร้อง หรือเอาไปทำเวอร์ชั่นใหม่ก็ได้ ตราบใดที่ไม่ได้ไปยุ่งกับมาสเตอร์เพลงในอัลบั้ม และเธอก็มีสิทธินำเพลงไปทำการแสดงสดได้เลยโดยไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์

เรื่องลิขสิทธิ์เพลงเป็นเรื่องทางเทคนิคของอุตสาหกรรมดนตรีที่มีรายละเอียดเยอะมาก ความชอกช้ำของเทย์เลอร์ สวิฟต์ ครั้งนี้คงเป็นกรณีศึกษาให้กับศิลปินรุ่นต่อ ๆ ไปได้ดี อย่างที่เธอได้ทิ้งท้ายในจดหมาย แต่อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าเด็กที่ต้องการการสนับสนุนจากค่ายเพลงจะสามารถต่อรองอะไรได้มากนักแต่หากจะว่ากันจริง ๆ ค่ายก็ไม่ได้ผิด

เพราะค่ายเป็นผู้ลงทุนสร้างสรรค์งานบันทึกเสียง ค่ายจึงมีสิทธิครอบครองผลผลิตที่ได้จากการลงทุนไป ถ้าศิลปินมีพลังต่อรองมากหน่อยก็คงจะได้ครอบครองสิทธิร่วมกันอย่างเหมาะสม

ถ้าเป็นตามนั้นก็เป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับคนทำงานสร้างสรรค์