กินหมูได้ไม่ต้องกังวล กรมควบคุมโรคยืนยัน “อหิวาต์สุกร” ไม่ติดต่อสู่คน

เป็นข่าวสร้างความกังวลมาสักระยะใหญ่ ๆ แล้วสำหรับกรณีโรคอหิวาต์แฟริกาในสุกรที่ระบาดในหลายประเทศ และล่าสุดมีข่าวว่าระบาดมาถึงชายแดนไทยแล้วด้วย เนื่องจากหมูเป็นเนื้อสัตว์ที่คนไทยบริโภคกันมาก จึงทำให้เกิดความกังวลกันว่าถ้าโรคนี้ระบาดแล้วจะเป็นอันตรายต่อคนเหมือนกรณีไข้หวัดนกหรือไม่ ซึ่งคำตอบที่ได้รับการยืนยันจากกรมควบคุมโรคก็คือ ไม่

นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลว่า โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF (African Swine Fever) เป็นโรคติดต่อในสุกร ยังไม่มีวัคซีนป้องกันและไม่มียารักษาในสุกร เชื้อไวรัสมีความทนทาน สามารถอยู่ในผลิตภัณฑ์จากสุกรได้นาน โรคนี้เป็นโรคที่ติดต่อในสุกรและหมูป่าเท่านั้น ยังไม่มีรายงานติดสัตว์ชนิดอื่นและไม่มีรายงานติดต่อสู่คน

ในช่วงปี 2561–2562 พบการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร 27 ประเทศ ประกอบด้วย ทวีปยุโรป 12 ประเทศ ทวีปแอฟริกา 5 ประเทศ และทวีปเอเชีย 10 ประเทศ ยังไม่มีรายงานในประเทศไทย ปัจจุบันยังไม่พบรายงานการติดต่อของโรคจากสัตว์สู่คน จึงสามารถบริโภคเนื้อสุกรปรุงสุกได้อย่างปลอดภัย อย่างไรก็ตาม คนสามารถเป็นพาหะในการนำโรคได้ ผ่านเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนเชื้อ รวมถึงยานพาหนะ เครื่องมือและเครื่องใช้ที่ปนเปื้อน 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้โรคนี้จะไม่ติดต่อมาสู่คน แต่ขอให้ประชาชนยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” ไม่รับประทานเนื้อหมูสุก ๆ ดิบ ๆ เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการรับเชื้อก่อโรคติดต่อทางอาหารและน้ำชนิดต่าง ๆ เช่น เชื้อแบคทีเรียก่อโรคไข้หูดับ โรคอาหารเป็นพิษ และโรคอุจจาระร่วง เป็นต้น

รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวอีกว่า กรมควบคุมโรค ขอความร่วมมือประชาชน ห้ามไม่ให้นำสุกรที่ป่วยตายหรือสงสัยว่าติดเชื้อ รวมถึงสุกรรวมฝูงนั้นมาชำแหละเพื่อปรุงเป็นอาหาร เนื่องจากขั้นตอนการปรุงอาหารอาจทำให้ผู้ชำแหละได้รับเชื้อ และอาจเป็นพาหะนำเชื้อไปสู่สุกรตัวอื่นได้ ในกรณีที่ต้องสัมผัสกับสุกรที่เลี้ยงไว้หรือต้องเกี่ยวข้องกับการทำลายสุกรที่ป่วยหรือตาย ให้มีการป้องกันตนเองด้วยการใส่หน้ากากอนามัย สวมถุงมือ สวมแว่นตาที่สามารถป้องกันมิให้ของเหลวจากสัตว์กระเด็นเข้าตา ใส่เสื้อผ้ามิดชิด ล้างมือให้บ่อย อาบน้ำหลังการสัมผัสสัตว์ และทำความสะอาดหรือซักล้างเสื้อผ้าด้วยสารซักล้างหรือน้ำยาฆ่าเชื้อ

หากพบการป่วยการตายของสุกร โดยมีอาการไอ ไข้สูง นอนสุมกัน ขาหลังไม่มีแรง ผิวหนังแดง มีจุดเลือดออก มีรอยช้ำที่ผิวหนัง บริเวณใบหูและท้อง ท้องเสียเป็นเลือด และแม่สุกรมีการแท้ง  ขอให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) กำนัน หรือผู้ใหญ่บ้านโดยทันที หรือแจ้งสายด่วนกรมปศุสัตว์ โทร 063 225 6888 และแอปพลิเคชั่น DLD 4.0 เพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวังโรคและควบคุมโรคในสุกร มิให้มีความเสี่ยงในการแพร่กระจายโรคออกไป