10 ข้อควรปฏิบัติ เตรียมความพร้อม “ว่าที่คุณพ่อคุณแม่” ป้ายแดง

ผศ.นพ.พิทักษ์ เลาห์เกริกเกียรติผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาผู้มีบุตรยาก ศูนย์การรักษาจีเอฟซี Genesis Fertility Center (G.F.C.) มาไขข้อปัญหาที่เหล่าสามีภรรยารุ่นใหม่อาจประสบกับตัวเองได้ในเรื่องของความพร้อมในการมีบุตร และความจำเป็นที่ต้องตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์

“การตรวจสภาพร่างกายในทางการแพทย์มีวัตถุประสงค์หลัก คือ ข้อแรกตรวจสุขภาพเพื่อป้องกัน ในกรณีที่ว่าที่คุณพ่อคุณแม่มีความพร้อมภายในสมบูรณ์มากพอที่จะให้กำเนิดลูกตามธรรมชาติ โดยที่ทั้งสองคนไม่มีปัญหาสุขภาพและโรคภัยที่เป็นอันตรายหรือเสี่ยงต่อลูกที่จะเกิดมา ก็เป็นข้อมูลที่ต้องยินดีและถือว่า ทั้งคู่ก็ได้ทำหน้าที่ว่าที่คุณพ่อคุณแม่อย่างดีที่สุด ด้วยการเตรียมความพร้อมด้านสุขภาพไว้รองรับการมีลูก ซึ่งคุณหมอก็จะให้คำแนะนำเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ที่เป็นอันตรายและไม่พึงประสงค์ เช่น การป้องกันการแท้ง เป็นต้น ข้อสองคือการตรวจสุขภาพเพื่อรักษากรณีที่ตรวจพบว่ามีโรคประจำตัวหรืออยู่ในกลุ่มที่มีพาหะโรคที่อาจไม่รู้ล่วงหน้าเพราะไม่แสดงอาการชัดเจน เช่น โรคเกี่ยวกับระบบเลือดหรือธาลัสซีเมีย คุณหมอก็จะแนะนำว่าไม่ควรมีบุตร และถ้ามีพาหะโรคแล้วต้องการมีบุตรจะมีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใดทั้งต่อคุณแม่และลูกในอนาคต ซึ่งว่าที่คุณพ่อคุณแม่จะได้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจอย่างครบถ้วน และหากยังต้องการมีบุต รคุณหมอก็จะได้แนะนำให้คำปรึกษาวิธีการที่เหมาะสมให้แต่ละคู่ต่อไป

“ในกรณีที่มีสุขภาพภายในพร้อมแต่ยังไม่สมบูรณ์มากพอที่จะมีบุตรโดยวิธีธรรมชาติ และเกรงว่าหากปล่อยทิ้งไว้ยิ่งอายุมากขึ้น โอกาสมีลูกตามธรรมชาติยิ่งลดน้อยลงและมีผลเสียต่อสุขภาพว่าที่คุณแม่และลูกมากขึ้น ซึ่งการรักษามีหลายวิธีผสมผสานกันเพื่อช่วยทำให้มีบุตรง่ายขึ้น”

โดยทั่วไปการตรวจสุขภาพของคู่สามีภรรยาในขั้นเตรียมพร้อมเพื่อให้กำเนิดบุตรนั้น คุณหมอจะเน้นการตรวจประวัติด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกัน อาทิ ประวัติการคุมกำเนิด การใช้ยาคุมกำเนิด ประวัติการตั้งครรภ์ครั้งก่อนๆ ประวัติการตรวจมะเร็งปากมดลูก สุขภาพของประจำเดือน สุขภาพด้านโรคประจำตัว รวมถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือการอักเสบของช่องคลอด และผลการตรวจภายในประวัติทางสูติกรรม เคยตั้งครรภ์มาก่อนหรือไม่ จำนวนการตั้งครรภ์ ความผิดปกติของการตั้งครรภ์ เช่น การตั้งครรภ์นอกมดลูก ครรภ์เป็นพิษ เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ การคลอดก่อนกำหนด การผ่าตัดทำคลอด การตั้งครรภ์แฝด การแท้งบุตร หรือการป้องกันการให้กำเนิดเด็กพิการ คุณแม่ต้องเตรียมข้อมูลให้พร้อม ประวัติการฉีดวัคซีน เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่อาจจะติดต่อไปยังทารกหรือไม่ เช่น โรคหัดเยอรมัน ไวรัสตับอักเสบ ไข้สุกใส บาดทะยัก เป็นต้น ประวัติด้านมรดกโรคจากบรรพบุรุษที่อาจถ่ายทอดทางพันธุกรรม ที่ต้องงดการตั้งครรภ์เพราะมีความเสี่ยงสูงที่เด็กที่จะเกิดมาแล้วมีปัญหาสุขภาพตามมาทางแพทย์จะแนะนำวิธีการช่วยให้มีบุตรด้วยวิธีการอื่นๆ ที่ปลอดภัยและถูกต้องตามกฎหมายแก่คู่สามีภรรยาแทน ดังที่กล่าวมาและมีข้อที่ควรปฏิบัติบางส่วนมาแนะนำ

10 ข้อควรปฏิบัติเพื่อสุขภาพที่ดีในการเตรียมความพร้อมของว่าที่คุณพ่อคุณแม่ดังนี้

1.เข้ารับการตรวจประเมินสุขภาพด้านความสมบูรณ์ของภาวะเจริญพันธุ์กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อให้สามารถรับแนวทางในการปฏิบัติตัว และหรือแนวทางในการแก้ไขอย่างถูกต้องหากมีปัญหาที่ต้องตัดสินใจเกี่ยวกับสุขภาพ

2.เมื่อได้รับการประเมินสภาพความสมบูรณ์ของภาวะเจริญพันธุ์โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแล้วควรปฏิบัติตามคำแนะนำ ว่าที่คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มดูแลสุขภาพอย่างจริงจัง และลดการปฏิบัติตนที่ตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะทำให้ระบบเจริญพันธุ์มีปัญหาจนขาดความสมบูรณ์ของภาวะเจริญพันธุ์

3.รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายให้ครบ 5 หมู่ตามหลักโภชนาการ โดยเฉพาะว่าที่คุณแม่ควรเน้นรับประทานอาหารกลุ่มที่มีกรดโฟลิคเป็นพิเศษเพราะช่วยบำรุงกระดูก เช่น รับประทานผักใบเขียว ผักขม ผลไม้ต่างๆ ให้มากพอ

4.ว่าที่คุณแม่ต้องเริ่มเก็บข้อมูลสถิติรอบเดือนของตนเอง เพื่อให้ข้อมูลแก่แพทย์ได้อย่างถูกต้องและชัดเจน นำมาซึ่งการวินิจฉัยและแก้ปัญหาได้อย่างแม่นยำ

5.ฝึกจิตใจให้แจ่มใสเบิกบาน จัดแบ่งเวลาสำหรับตนเองและคนใกล้ชิดให้เพียงพอและเหมาะสม

6.ออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสุขภาพ และควบคุมน้ำหนักให้อยู่เกณฑ์ที่เหมาะสม

7.เว้นบุหรี่และแอลกอฮอล์เพราะทำให้ปริมาณอสุจิของว่าที่คุณพ่อลดลง และงดคาเฟอีนจากกาแฟ ชา น้ำอัดลมหรือถ้าบริโภคควรกำหนดไว้ไม่ให้เกินวันละ 150 มิลลิกรัมต่อวัน

8.ตรวจเช็คสุขภาพฟันและแก้ไขตามคำแนะนำของแพทย์ ป้องกันการสะสมของเชื้อแบคทีเรีย กลายเป็นเรื่องความสะอาดภายในช่องปากที่ส่งผลถึงภาวะครรภ์เป็นพิษ หรือการคลอดก่อนกำหนดได้

9.บริหารจัดการหาเจ้าของบ้านใหม่ให้สัตว์เลี้ยง เช่น น้องหมา น้องแมว เพราะอุจจาระของเจ้าเหมียวนั้นมีปรสิตซึ่งอาจนำโรคท็อกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis) มาสู่ว่าที่คุณแม่ได้ในระหว่างตั้งครรภ์

10.เลือกสรรทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาด้านการเตรียมพร้อมเพื่อความสมบูรณ์ภายใน หรือช่วยแนะนำวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดสำหรับว่าที่คุณพ่อคุณแม่เพื่อคุณภาพของลูกน้อย