ภาพแรกจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศ เจมส์เว็บบ์ เตรียมเผยส่วนลึกของจักรวาล ส่องได้ไกลสุดเท่าที่เคยมีมา

ในวันอังคารที่ 12 ก.ค. หรืออีกไม่ถึงสองสัปดาห์ข้างหน้า องค์การนาซาจะเผยโฉมภาพถ่ายห้วงอวกาศลึกชุดแรกจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศ เจมส์เว็บบ์ (JWST) ซึ่งขณะนี้ได้ผ่านการติดตั้งและปรับค่าของอุปกรณ์ต่าง ๆ เสร็จสมบูรณ์แล้ว

หนึ่งในภาพชุดนี้จะแสดงให้เห็นจักรวาลส่วนลึกที่สุด ซึ่งอยู่ห่างไกลโลกออกไปยิ่งกว่าที่กล้องโทรทรรศน์อวกาศใดในอดีตจะเคยมองเห็นได้มาก่อน โดยสถิติเดิมของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลนั้น สามารถมองย้อนไปไกลสุดได้ถึงห้วงอวกาศยุค 330 ล้านปี หลังเกิดเหตุการณ์บิ๊กแบง

NASA / ESA / CSA / STSCI

บิลล์ เนลสัน ผู้บริหารขององค์การนาซาระบุว่า เขามีความเชื่อมั่นในศักยภาพของกล้อง JWST ว่าจะสามารถทำลายสถิติของฮับเบิล โดยมองเห็นและบันทึกภาพวัตถุอวกาศอายุเก่าแก่ที่อยู่ในช่วงต้นของกำเนิดจักรวาลได้ดี ยิ่งกว่ากล้องโทรทรรศน์อื่นใดที่มนุษย์เคยมีมาทั้งหมด

เนื่องจากจักรวาลกำลังขยายตัว แสงที่เดินทางมาไกลจากดาวฤกษ์ในยุคแรกเริ่มของจักรวาลจะเปลี่ยนแปลงความถี่ โดยเกิดการ “เลื่อน” ไปทางสีแดงของสเปกตรัมมากขึ้น (redshift) ทำให้รังสีอัลตราไวโอเลตและแสงในย่านความยาวคลื่นที่มนุษย์มองเห็นได้กลายเป็นรังสีอินฟราเรด ซึ่งกล้อง JWST มีความสามารถในการตรวจจับความร้อนจากรังสีอินฟราเรดได้ไวและละเอียดเป็นพิเศษ

NASA / JPL-CALTECH / ESA

นอกจากการแถลงถึงภาพประวัติศาสตร์ที่เตรียมจะเปิดเผยในเร็ววันแล้ว ผู้บริหารองค์การนาซายังแจ้งข่าวดีว่า กระบวนการนำส่งกล้อง JWST ขึ้นสู่อวกาศและเข้าสู่วงโคจรตลอดหลายเดือนที่ผ่านมานั้น สามารถทำได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพดีเกินคาด ทำให้เหลือเชื้อเพลิงเป็นแหล่งพลังงานในปริมาณที่เพียงพอให้ JWST ขยายเวลาปฏิบัติภารกิจออกไปได้อีก 10 ปี ซึ่งรวมแล้วเท่ากับว่ากล้องตัวนี้จะมีอายุการใช้งานนานถึง 20 ปี

NASA / JPL-CALTECH / ESA

ส่วนในการแถลงข่าววันที่ 12 ก.ค. ทีมนักดาราศาสตร์จากสถาบันวิทยาศาสตร์กล้องโทรทรรศน์อวกาศ (STScI) ที่เมืองบัลติมอร์ของสหรัฐฯ ได้เตรียมเผยถึงผลการใช้อุปกรณ์วิเคราะห์สารจากสเปกตรัมของแสงรุ่นใหม่ ซึ่งติดตั้งบน

กล้อง JWST อีกด้วย โดยพวกเขาใช้เครื่องมือล้ำสมัยนี้ ศึกษาองค์ประกอบทางเคมีในชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ (exoplanet) ซึ่งจะบอกได้ว่าดาวที่อยู่ห่างไกลมีโมเลกุลของสารใดอยู่บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีน้ำหรือสารอินทรีย์ซึ่งเอื้อต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตบ้างหรือไม่

………..

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว