ลิขสิทธิ์ไทยลีกอลหม่าน ย้อนดูมูลค่าที่ผ่านมา พร้อมเปิดรายได้บริษัท ไทยลีก

ลิขสิทธิ์ไทยลีก

ย้อนดูค่าลิขสิทธิ์ที่ผ่านมาพร้อมเปิดรายได้ บริษัท ไทยลีก จำกัด เมื่อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลไทยลีก ฤดูกาล 2023-24 ยังอลหม่าน เหลือเพียง 50 ล้านบาทเท่านั้น ขณะที่สโมสรชงตั้งบริษัทใหม่ดูแลสิทธิประโยชน์ด้วยตัวเอง 

วันที่ 28 มิถุนายน 2566 สืบเนื่องจากการประชุมร่วมกันของ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, บริษัท ไทยลีก จำกัด ผู้จัดการแข่งขัน พร้อมด้วยตัวแทนสโมสรในศึกไทยลีก (ไฮลักซ์ รีโว่ ไทยลีก) เรื่องการประมูลลิขสิทธิ์ฟุตบอลลีก ฤดูกาล 2023-24 ถึง 2026-27 รวม 4 ฤดูกาล

ในการประชุมครั้งนี้ แต่ละสโมสรได้ส่งตัวแทนที่มีอำนาจในการตัดสินใจเข้าร่วมแทบทั้งสิ้น ทำให้บิ๊กเนมหลายคนเดินทางมาด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น “นายเนวิน ชิดชอบ” ประธานสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด, “นายปวิณ ภิรมย์ภักดี” ประธานสโมสรบีจี ปทุม, “มาดามแป้ง-นวลพรรณ ล่ำซำ” ประธานสโมสรการท่าเรือ และ “นายมิติ ติยะไพรัช” ประธานสโมสรลีโอ เชียงราย เป็นต้น แต่ “บิ๊กอ๊อด-พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง” นายกสมาคม ไม่ได้เข้าประชุมด้วยตัวเอง

มาดามแป้ง-นวลพรรณ ล่ำซำ

ปรากฏว่ามีการประมูลลิขสิทธิ์ฟุตบอลไทยแบบครบวงจรจากบริษัทหนึ่งเพียงแค่ 50 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งไม่เป็นไปตามเป้าและถือว่าน้อยมาก อีกทั้งจะกระทบต่อทีมที่เข้าร่วมการแข่งขัน

ทำให้เกิดการเสนอแนวความคิดที่ 16 สโมสรในไทยลีกจะออกมาตั้งบริษัทใหม่เพื่อดูแลสิทธิประโยชน์ด้วยตัวเอง คล้ายกับที่พรีเมียร์ลีก อังกฤษ เคยทำ ซึ่งในที่ประชุมมีผู้เห็นด้วยและเห็นด้วยแบบมีเงื่อนไขรวม 11 ทีม และอีก 5 ทีมยังไม่แสดงท่าทีใด ๆ

นายเนวิน ชิดชอบ

มติชน ระบุ “นายพาทิศ ศุภะพงษ์” เลขาธิการสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า สโมสรต่าง ๆ มองว่าแม้เรื่องการหารายได้จะท้าทายและต้องศึกษาแต่ก็มีโมเดลจากต่างประเทศอยู่ ไม่อยากให้พึ่งนโยบายบริษัทมากเกินไป จึงต้องหาอะไรที่เป็นของตัวเอง ปัจจุบันถ้าไปขึ้นกับแพลตฟอร์ม หรือสถานีใด ๆ จะกลายเป็นขึ้นอยู่กับคนอื่น แต่ถ้าสโมสรถ่ายทอดสดเอง มีแพลตฟอร์มของตัวเองก็ต่างไปจากเดิมที่รอผู้ซื้อลิขสิทธิ์ไป

ตอนนี้เป็นเพียงหลักการที่นำมาเสนอกัน สมาคมและตัวแทนสโมสรจะต้องไปหารายละเอียดเพิ่มเติมมาคุยกัน ซึ่งประธานสโมสรหลายทีมก็เป็นนักธุรกิจ รู้จักตลาดและธุรกิจด้านนี้เป็นอย่างดี นายพาทิศกล่าว

ย้อนดูค่าลิขสิทธิ์ไทยลีก

หากย้อนกลับไปดูค่าลิขสิทธิ์ไทยลีกที่ผ่านมา ตัวเลข 50 ล้านบาท จากที่ประชุมเมื่อวานนี้ไม่แปลกเลยที่จะทำให้ 16 สโมสรในไทยลีกชงตั้งบริษัทใหม่เพื่อดูแลสิทธิประโยชน์ด้วยตัวเอง เพราะเมื่อก่อนตัวเลขตรงนี้อยู่ในหลัก 1 พันล้านบาทต่อฤดูกาล

เมื่อปี 2014-2016 ตอนยังเป็น โตโยต้า ไทยพรีเมียร์ลีก “ทรูวิชั่นส์” เป็นผู้คว้าสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลไทยลีก 3 ปี ด้วยมูลค่า 1,800 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 600 ล้านบาท

ถัดมาในปี 2017-2020 ทรูวิชั่นส์ เจ้าเดิมก็คว้าลิขสิทธิ์ต่อเนื่องไปอีก 4 ฤดูกาล ทั้งไทยลีก, ลีกวัน, ลีกคัพ และเอฟเอ คัพ ด้วยมูลค่าที่เป็นจุดพีก พุ่งกระฉูดถึง 4,200 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 1,050 ล้านบาท

จากนั้นในปี 2021-22 ก็เกิดการเปลี่ยนมือ โดยเป็น “AIS” ที่คว้าลิขสิทธิ์ไปครองด้วยจำนวนเงินที่ลดลงเหลือ 800 ล้านบาท และต่อสัญญาอีกครั้งในฤดูกาล 2022-23 กับค่าลิขสิทธิ์ที่คาดว่าราว 300 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เปิดเผยข้อมูลการถ่ายทอดสด โดยระบุว่า ตัวเลขผู้ชมฟุตบอลสดและย้อนหลังของการแข่งขันฟุตบอลทีมชาติไทยและไทยลีกผ่านการรับชมจากแพลตฟอร์ม AIS PLAY ใน 2 ฤดูกาลที่ผ่านมา มียอดคนดูกว่า 11.66 ล้านคน และยอดวิวรวม 1,001,352,000 วิว

เปิดรายได้-กำไร บริษัท ไทยลีก จำกัด

“บริษัท ไทยลีก จำกัด” เป็นบริษัทบริหารการจัดการแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพ ถือหุ้นโดยสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ปรากฏรายชื่อกรรมการ คือ นายสมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง, นางลัขณานันท์ ลักษมีธนานันต์ และนายยงยศ พึ่งธรรม ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2559 แทน “บริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด” ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2552 ข้อมูลจาก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์” พบว่า บริษัท ไทยลีก จำกัด มีรายได้และกำไรขาดทุน ดังนี้

ปี 2561

  • รายได้รวม 1,164,621,546.53 บาท
  • กำไร 22,450,297.67 บาท

ปี 2562

  • รายได้รวม 1,256,495,335.91 บาท
  • กำไร 51,562,802.18 บาท

ปี 2563

  • รายได้รวม 457,987,132.27 บาท
  • ขาดทุน 29,972,966.79 บาท

ปี 2564

  • รายได้รวม 223,588,176.78 บาท
  • ขาดทุน 98,903,733.40 บาท

ปี 2565

  • รายได้รวม 487,164,103.31 บาท
  • กำไร 49,915,382.32 บาท

เรื่องที่เกี่ยวข้อง