ปลุกผี “ซูเปอร์ลีก” เป็นไปได้แค่ไหน เมื่อทีมใหญ่ในยุโรปไม่เอาด้วย

ซูเปอร์ลีก
ภาพจาก Reuters

ปลุกผี “ซูเปอร์ลีก” เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน เมื่อศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป ตัดสินว่าฟีฟ่าและยูฟ่า ไม่มีอำนาจขัดขวาง แต่บรรดาทีมใหญ่ในยุโรปทยอยออกแถลงการณ์ไม่กลับไปเข้าร่วม เหมือนจะมีแค่เรอัล มาดริด และ บาร์เซโลนา ที่ยืนยันไปต่อ

วันที่ 22 ธันวาคม 2566 “ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก” (ESL) ถูกพูดถึงอีกครั้ง หลังจากที่ “ศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป” (ECJ) มีคำตัดสินว่า การที่สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) และสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ออกกฎห้ามไม่ให้สโมสรฟุตบอลในยุโรปเข้าร่วมซูเปอร์ลีกนั้น เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้สโมสรต่าง ๆ ในยุโรปสามารถเข้าร่วมการแข่งขันซูเปอร์ลีกได้อย่างถูกต้อง

ปี 2021 สโมสรดังผุดไอเดียซูเปอร์ลีก

ย้อนความทรงจำกันสักนิด ซูเปอร์ลีก ถูกริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา นำโดย 12 สโมสรใหญ่ ประกอบด้วย เรอัล มาดริด, บาร์เซโลนา, แอตเลติโก มาดริด, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, ลิเวอร์พูล, แมนเชสเตอร์ ซิตี้, เชลซี, อาร์เซน่อล, ท็อตแน่ม ฮอตสเปอร์, ยูเวนตุส, เอซี มิลาน และอินเตอร์ มิลาน

เป็นทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลที่ตั้งเป้าแข่งขันกับรายการของยูฟ่า โดยจะแยกตัวออกไปเตะกันเองเป็นลีกใหม่ พร้อมหวังโกยรายได้มหาศาล จากเกมที่อุดมไปด้วยบิ๊กแมตช์

แต่ไม่น่านหลังจากนั้น ด้วยกระแสต่อต้านจากยูฟ่าและฟีฟ่า ที่ขู่แบนนักเตะรวมทั้งสโมสรที่เข้าร่วม ทั้งนี้ แฟนบอล ตำนานนักเตะ และผู้จัดการทีมต่างก็ไม่เห็นด้วยกับรายการใหม่ดังกล่าว ทำให้สโมสรที่จะร่วมก่อตั้งได้ถอนตัวออกไป เหลือเพียงเรอัล มาดริด และบาร์เซโลนา เรื่องซูเปอร์ลีกจึงเงียบลงไป

ทำให้เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซูเปอร์ลีกได้มีการฟ้องร้องยูฟ่าและฟีฟ่า ต่อศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป จนกระทั่งมีคำตัดสินออกมาอย่างที่ทราบกัน

ซูเปอร์ลีก
AFP : ป้ายต่อต้าน ซูเปอร์ลีก ใกล้สนามโอลด์แทรฟฟอร์ดของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เมื่อปี 2021

เหลือแค่มาดริดและบาร์เซโลนา ?

ทันทีที่มีคำตัดสินจากศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป บรรดาสโมสรดังที่เคยจะร่วมก่อตั้งซูเปอร์ลีกก็โร่ออกแถลงการณ์ ซึ่งส่วนมากเมินกลับเข้าร่วมการแข่งขันรายการดังกล่าว

BBC SPORT ระบุว่า ปีศาจแดง “แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด” เป็นสโมสรในอังกฤษแห่งแรกที่ยืนยันการสนับสนุนต่อสถานะที่เป็นอยู่ โดยแจงว่า จุดยืนของเราไม่เปลี่ยนแปลง เรายังคงมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการเข้าร่วมการแข่งขันของยูฟ่า และให้ความร่วมมือเชิงบวกกับยูฟ่า พรีเมียร์ลีก และสโมสรอื่น ๆ ในการพัฒนาเกมยุโรปอย่างต่อเนื่อง

ต่อมา “แมนเชสเตอร์ ซิตี้” “ท็อตแน่ม ฮอตสเปอร์” และ “เชลซี” ต่างก็แถลงการณ์ด้วยข้อความที่คล้ายกัน รวมทั้งยักษ์ใหญ่แห่งบุนเดสลีกา “บาเยิร์น มิวนิก” และ “โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์” สโมสรที่เคยจะลงนามในโปรเจ็กต์ซูเปอร์ในตอนแรกก็แถลงถอยห่าง ซึ่ง “อินเตอร์ มิลาน” แห่งลีกอิตาลีก็เช่นเดียวกัน

ส่วนหนึ่งในแถลงการณ์ของบาเยิร์น มิวนิก ระบุว่า เราได้รับทราบคำตัดสินของศาลยุติธรรมแห่งยุโรปแล้ว เรื่องนี้ไม่ได้เปลี่ยนจุดยืนของบาเยิร์น ซูเปอร์ลีกจะเป็นการโจมตีความสำคัญของลีกระดับประเทศและโครงสร้างของฟุตบอลยุโรป บุนเดสลีกาเป็นรากฐานของสโมสรฟุตบอลบาเยิร์น เช่นเดียวกับลีกระดับประเทศทั้งหมดที่เป็นรากฐานของสโมสรฟุตบอลอื่น ๆ ในยุโรป

ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของเราและความเชื่อมั่นอันลึกซึ้งของเราที่จะเสริมสร้าง ไม่ใช่ทำให้ลีกอ่อนแอลง นอกจากนี้เรายังมุ่งมั่นในการแข่งขันระดับสโมสรในยุโรปภายใต้การดูแลของยูฟ่า ขอชี้แจงให้ชัดเจนอีกครั้งว่า ประตูสำหรับซูเปอร์ลีกยังคงปิดอยู่สำหรับบาเยิร์น

ซูเปอร์ลีก
AFP : การต่อต้านซูเปอร์ลีก สนามสแตมฟอร์ด บริดจ์ ในลอนดอน เมื่อปี 2021

ขณะที่ The Independent รายงานว่า รัฐบาลของ “ริชี่ ซูแน็ก” นายกรัฐมนตรีประเทศอังกฤษ ได้ออกคำสั่งห้ามทีมในศึกพรีเมียร์ลีกร่วมแข่งขันซูเปอร์ลีก

โฆษกของกระทรวงวัฒนธรรม สื่อ และกีฬา (DCMS) กล่าวว่า ความพยายามก่อนหน้านี้ในการสร้างลีกที่แยกตัวออกมาคือช่วงเวลาที่กำหนดความเป็นไปในฟุตบอลอังกฤษ และถูกประณามจากแฟนบอล สโมสร รวมทั้งรัฐบาลทั่วโลก

ก่อนหน้านี้ พรีเมียร์ลีก เคยประกาศแล้วว่าจะมีการตัดแต้มสโมสรที่เข้าร่วมซูเปอร์ลีก 30 คะแนน พร้อมเงินอีก 25 ล้านปอนด์ หรือราว 1.1 พันล้านบาท

ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ล่าสุดจาก พรีเมียร์ลีก ระบุว่า พรีเมียร์ลีกยังคงปฏิเสธแนวคิดซูเปอร์ลีกต่อไป กองเชียร์มีความสำคัญอย่างยิ่ง และพวกเขามีเวลาอีกครั้งในการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการต่อต้านการแข่งขันที่ “แตกแยก” ซึ่งตัดการเชื่อมโยงระหว่างฟุตบอลในประเทศและฟุตบอลยุโรป

พรีเมียร์ลีกตอกย้ำความมุ่งมั่นต่อหลักการที่ชัดเจนของการแข่งขันแบบเปิด ซึ่งเป็นรากฐานความสำเร็จของการแข่งขันระดับสโมสรในประเทศและต่างประเทศ

ฟุตบอลเจริญเติบโตจากความสามารถในการแข่งขันที่สร้างขึ้นโดยการเลื่อนชั้นและการตกชั้น คุณสมบัติประจำปีตามผลงานตั้งแต่ลีกและถ้วยในประเทศไปจนถึงการแข่งขันระดับสโมสรระดับนานาชาติ

นอกจากนี้ ยังมีสโมสรอีกมากมาย ทั้งกลาสโกว์ เซลติก, อตาลันตา, โรมา, โคเปนเฮเกน, เรอัล โซเซียดัด, เซบียา, บาเลนเซีย, เลบานเต, เรอัล บายาโดลิด, กรานาดา, บียาร์เรอัล, เฟเยนูร์ด, โมนาโก, ปารีส แซงต์ แชร์กแมง, กาลาตาซาราย และปอร์โต เป็นต้น ที่ไม่เห็นด้วยกับซูเปอร์ลีก ซึ่งคาดว่าจะมีการแถลงยืนยันไม่เข้าร่วมออกมาต่อเนื่อง

ดังนั้น เหมือนว่าตอนนี้จะมีแค่เรอัล มาดริด และบาร์เซโลนา สโมสรที่ผลักดันซูเปอร์ลีกมาแต่ต้นเท่านั้นที่ยืนยันจะไปต่อ ท่ามกลางทีมใหญ่ในยุโรปที่ประกาศตัวถอยห่าง