ไต้หวันส่งสัญญาณเปิดประเทศ แอร์ไลน์เพิ่มไฟลต์ ททท.รุกดึงกลุ่มสายเปย์

นทท.ไต้หวัน

ททท.เผยไต้หวันส่งสัญญาณบวก ผ่อนมาตรการข้ามพรมแดน เที่ยวบินระหว่าง 2 ประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง “ไชน่าแอร์ไลนส์-การบินไทย-ไทยเวียตเจ็ท” รุกเพิ่มความถี่เที่ยวบินเดือนกันยาฯ แล้ว ขณะที่ “ไทเกอร์แอร์-ไทยสมายล์-ไทยไลอ้อนแอร์” พร้อมกลับมาให้บริการปลายปีนี้ ลุยเจาะตลาดนักท่องเที่ยวใช้จ่ายสูงทุกกลุ่มเป้าหมาย

นางดวงใจ กาญธีรานนท์ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานไทเป ไต้หวัน เปิดเผยว่า ปัจจุบันจำนวนเที่ยวบินจะหว่างไทยและไต้หวันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจากการเก็บข้อมูลของ ททท. สำนักงานไทเป

พบว่าเดือนสิงหาคม 2565 (ข้อมูลถึง 25 สิงหาคม) มีเที่ยวบินที่ทำการบินระหว่างไทยและไต้หวัน 84 เที่ยวบินมีจำนวนที่นั่งรวม 21,484 ที่นั่ง จากสายการบินอีวีเอแอร์ (EVA Air), ไชน่าแอร์ไลน์ส, สตาร์ลักซ์แอร์ไลนส์(Starlux Airlines), ไทยเวียตเจ็ท และการบินไทย

แอร์ไลน์เพิ่มไฟลต์-กลับมาบิน

และในเดือนกันยายน 2565 จำนวนเที่ยวบินเชื่อมไทยและไต้หวันเพิ่มขึ้นเป็น 86 เที่ยวบิน ให้บริการรวม 23,256 ที่นั่ง โดยสายการบินไชน่าแอร์ไลน์ส การบินไทย และไทยเวียตเจ็ท เพิ่มความถี่เที่ยวบินมากขึ้น ขณะที่อีวีเอแอร์ ลดความถี่เที่ยวบินลงเล็กน้อย

นอกจากนี้ ยังมีสายการบินต้นทุนต่ำ (Low-cost airline) มีแผนการกลับมาให้บริการเส้นทางบินอีก 3 สายการบิน ประกอบด้วย 1.ไทเกอร์แอร์ (Tiger Air) เส้นทางไทเป-กรุงเทพฯ (ดอนเมือง) กลับมาให้บริการเมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา ให้บริการ 2 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ แต่เนื่องด้วยอัตราบรรทุกผู้โดยสารต่ำกว่า 60% ทำให้เที่ยวบินต้องยกเลิกไป

2.ไทยสมายล์ เส้นทางเกาสง (ไต้หวัน)-กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) มีแผนกลับมาให้บริการในเดือนตุลาคมนี้ จำนวน 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ (ขึ้นอยู่กับการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทาง) และ 3.ไทยไลอ้อนแอร์ ไทเป-กรุงเทพฯ (ดอนเมือง) มีแผนกลับมาให้บริการในเดือนพฤศจิกายนนี้ และคาดว่าจะทำการบินทุกวัน

เจาะกลุ่มใช้จ่ายสูงทุกเซ็กเมนต์

นางดวงใจกล่าวว่า สำหรับตลาดไต้หวันนั้น ททท.มุ่งเจาะกลุ่มตลาดนักท่องเที่ยวหลายประเภท ทั้งกลุ่มมิลเลนเนียล (Millennials) พนักงานออฟฟิศ ครอบครัว ผู้สูงวัย รวมถึงนักท่องเที่ยวเชิงกีฬา โดยจากการสำรวจพบว่า

นักท่องเที่ยวกลุ่มมิลเลนเนียลและพนักงานออฟฟิศให้ความสนใจการทำสปา ตามด้วยอาหาร (Gastronomy) และการช็อปปิ้ง มีพฤติกรรมการค้นหาข้อมูลการท่องเที่ยวผ่านช่องทางออนไลน์ และสนใจการเดินทางระยะสั้นเป็นหลัก

โดยผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวที่เหมาะสมกับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้คือ โรงแรมและรีสอร์ตที่หรูหรา สินค้าและบริการด้านสุขภาพและเวลเนส อาหารไทย (มิชลิน) การสัมผัสประสบการณ์ความเป็นไทย เช่น กิจกรรมทำอาหารไทย ท่องเที่ยวในเมืองท่องเที่ยวหลัก เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต พังงา

ส่วนกลุ่มนักท่องเที่ยวครอบครัว มีพฤติกรรมออกเดินทางในช่วงฤดูร้อน เน้นการเดินทางพักผ่อน ท่องเที่ยวชายหาดและธรรมชาติ ยินดีใช้จ่ายในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่หรูหรา สินค้าแฟชั่น ร้านอาหารที่ดี ผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวที่เหมาะสม เช่น การลิ้มรสอาหารไทย อาหารริมทาง การสัมผัสประสบการณ์ของแต่ละท้องถิ่น

ขณะที่นักท่องเที่ยวกลุ่มผู้สูงวัย ททท.จะมุ่งเป้าจับกลุ่มตลาดนักธุรกิจสูงวัย ผู้บริหาร ประชาชนที่เกษียณอายุ มีพฤติกรรมการท่องเที่ยวที่เน้น “ช้า ๆ” กับกลุ่มเพื่อน เดินทางไม่ไกล ระยะเวลาท่องเที่ยวไม่ยาวนาน ผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวที่เหมาะสม เช่น การท่องเที่ยวสัมผัสวัฒนธรรมท้องถิ่น โรงแรมหรู พูลวิลล่า สปา และเวลเนส

ด้านนักท่องเที่ยวเชิงกีฬาพบว่ามีชาวไต้หวันเล่นกอล์ฟราว 800,000 คน ททท.จึงพร้อมนำเสนอผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยว ทั้งอาหารไทย สปา นวดไทย โรงแรมที่ดีมีคุณภาพ นอกจากนี้ ยังได้เปิดตลาดใหม่ คือกลุ่มดำน้ำ คาดว่ามีจำนวนราว 300,000 คน ให้มาดำน้ำในประเทศไทย เช่น เกาะเต่า หมู่เกาะสิมิลัน

รัฐบาลส่งสัญญาณเปิดประเทศ

นางดวงใจกล่าวด้วยว่า ปัจจัยบวกที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างไทย-ไต้หวันคือ รัฐบาลภายใต้การนำของนางไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐจีน ให้ความสำคัญกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และล่าสุดยังมีกระแสข่าวว่าไต้หวันส่งสัญญาณการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยความระมัดระวัง ซึ่งถือเป็นสัญญาณบวกแก่ภาคการท่องเที่ยวไทย

ตาราง นักทท.ไต้หวัน

รวมทั้งประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมที่หลากหลาย ตอบโจทย์นักเดินทางแต่ละกลุ่ม มีบริการที่พักในราคาที่เหมาะสม ขณะเดียวกัน ไทยและไต้หวันสามารถเดินทางไปมาหาสู่กันได้ง่าย ด้วยบริการเที่ยวบินตรงของสายการบินต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม ตลาดไต้หวันยังมีความท้าทายในหลายประเด็น เนื่องจากรัฐบาลยังคงมาตรการควบคุมโรค เช่น การกักตัวเมื่อเดินทางถึงไต้หวัน ไม่เปิดรับกรุ๊ปทัวร์นักท่องเที่ยวต่างชาติ เที่ยวบินจากสายการบินต้นทุนต่ำยังกลับมาให้บริการไม่มากนัก และยังไม่มีเที่ยวบินตรงสู่เมืองท่องเที่ยวหลักของไทย เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ เป็นต้น

ปี’62 นทท.ไต้หวัน 8.3 แสนคน

นางดวงใจกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ปี 2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19 มีนักท่องเที่ยวไต้หวันเดินทางไปต่างประเทศจำนวน 17,101,355 คน แบ่งเป็นการเดินทางระยะใกล้จำนวน 15,757,473 คน จุดหมายปลายทางระยะไกล 1,343,862 คน ขณะที่ปี 2564 มีนักท่องเที่ยวออกเดินทางไปต่างประเทศเพียง 359,977 คน

สำหรับประเทศไทยนั้นในปี 2562 มีนักท่องเที่ยวชาวไต้หวันเดินทางจำนวน 830,166 คน ปี 2564 ลดลงเหลือเพียง 7,976 คน และล่าสุดข้อมูลจากวันที่ 1 มกราคม-30 มิถุนายน 2565 พบว่ามีชาวไต้หวันเดินทางมายังประเทศไทยแล้วจำนวน 9,693 คน เพิ่มขึ้น 194% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 โดยจำนวนดังกล่าวนี้คิดเป็นอันดับที่ 5 รองจากจีนแผ่นดินใหญ่, เวียดนาม, ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ตามลำดับ