ชู “เกาะหมาก” แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนของโลก ต้นแบบจัดการขยะ

พิพัฒน์-อพท. ยก “เกาะหมาก” แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนของโลก ชูต้นแบบจัดการขยะ เตรียมผลักดันทะเลสาบสงขลาสู่ Green Destinations Top 100

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า เพื่อมุ่งเน้นเป้าหมายนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ โดยให้ความสำคัญกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม กระทรวงได้มอบหมายให้องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ขับเคลื่อนนโยบายการท่องเที่ยวสีขาวภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG

เป็นที่มาของการพัฒนาพื้นที่เกาะหมาก ตามแนวทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ให้มีความสะอาด สะดวก และปลอดภัย ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว และล่าสุดเกาะหมากได้รับการเลือกเป็น 1 ในแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก ประจำปี 2565 ถือเป็นเกาะต้นแบบแห่งแรกในประเทศไทยในด้านความปลอดภัย และด้านการจัดการขยะ

นาวาอากาศเอกอธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2566 อพท.จะเพิ่มความเข้มข้นในการพัฒนาพื้นที่เดิมที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณา 15 ข้อและได้รับรอง Green Destinations Top 100 ไปแล้ว เพื่อมุ่งสู่การคัดเลือกเป็น Green Destinations ซึ่งต้องผ่านเกณฑ์การประเมินครบ 30 ข้อ

นอกจากนี้ อพท.ยังค้นหาแหล่งท่องเทียวที่มีศักยภาพที่อยู่ในพื้นที่พิเศษเพื่อพิจารณาส่งเข้ารับการคัดเลือก Green Destinations Top 100 โดยปีนี้กำลังศึกษาความพร้อมและผลักดันแหล่งทะเลสาบสงขลาและพื้นที่ใกล้เคียงเข้าสู่การพิจารณา

ทั้งนี้ สำหรับแหล่งท่องเที่ยวไทยที่ได้รับการคัดเลือกในปี 2565 ซึ่งจัดโดย Green Destinations Foundation ประกอบด้วย 3 พื้นที่ ได้แก่ 1.เกาะหมาก จังหวัดตราด ถือว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Destination) แห่งแรกของไทย

2.บ้านห้วยปูแกง จังหวัดแม่ฮ่องสอน และ 3.วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวสาปยา จังหวัดชัยนาท ทั้งสองแห่งได้ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวโดยชุมชน มุ่งพัฒนาทักษะฝีมือสมาชิก สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อนำมาจำหน่ายให้นักท่องเที่ยว ควบคู่กับการส่งเสริมสภาวะแวดล้อมของแหล่งท่องเที่ยว

นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราดกล่าวว่า เกาะหมากเป็นพื้นที่ที่มีข้อได้เปรียบในการบริหารจัดการ เนื่องจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่ห่างจากแผ่นดินใหญ่ราว 30 กิโลเมตร เดินทางไม่สะดวก นักท่องเที่ยวมักเดินทางมาเยือนในช่วงไฮซีซั่นมากกว่าช่วงเวลาอื่น

ประกอบกับเกาะหมากมีพื้นที่ประมาณ 10,000 ไร่ แบ่งเป็นที่ดินเอกชนราว 9,500 ไร่ พื้นที่ภูเขา 500 ไร่ มีประชากรตามทะเบียนราษฎรราว 600 คน และประชากรแฝงราว 1,000 คน มีตระกูลใหญ่ในพื้นที่ 5 ตระกูล ทำให้สามารถประสานงานได้ง่าย

“โจทย์สำคัญคือ ทำอย่างไรที่จะรักษามาตรฐานเอาไว้ให้ได้ ถ้านักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากขึ้นจะมีแผนการรับมืออย่างไร ในอนาคตหากมีระบบการจัดการขยะที่ดี เข้าเกณฑ์มาตรฐานโครงการบ้านสะอาด ก็จะผลักดันการจดทะเบียนที่พักอาศัยที่ไม่เป็นโรงแรม” นายชำนาญวิทย์กล่าว

โดยหนึ่งครอบครัวสามารถจดทะเบียนได้ 4 ห้องนอน รองรับการพักอาศัยได้ไม่เกิน 20 คน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมรายได้ให้ชาวบ้าน ลดการเข้ามาลงทุนของทุนใหญ่ และจะมีพื้นที่ที่พักนับร้อยรูปแบบ สร้างเสน่ห์ให้กับเกาะหมากอีกทาง