ชี้ “นักท่องเที่ยวอังกฤษ” ฟื้นตัวเร็ว ททท.รุกเจาะกลุ่มไฮเอนด์

นักท่องเที่ยว

ททท.ปลื้มนักท่องเที่ยวอังกฤษฟื้นตัวเร็ว เผยตัวเลขล่าสุดกลับมาเกือบ 80% เทียบก่อนโควิด ขณะที่แอร์ไลน์ตะวันออกกลางเปิดเที่ยวบินเพิ่มเสริมปัจจัยบวก หวั่นเงินเฟ้อ เที่ยวบินตรงมีน้อยทุบมู้ดเดินทาง เร่งดึง นทท.เป๋าหนักไม่แคร์เงินเฟ้อเข้าไทย

นางสาวสดุดี แสงนิล ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานลอนดอน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการเก็บข้อมูลของ ททท. พบว่าความต้องการ (demand) เดินทางมายังประเทศไทยของนักท่องเที่ยวชาวสหราชอาณาจักร (UK) เพิ่มขึ้นมากอย่างเห็นได้ชั

สดุดี แสงนิล
สดุดี แสงนิล

โดยในไตรมาส 4/2565 มีนักท่องเที่ยวจากสหราชอาณาจักรเข้าประเทศไทยคิดเป็นร้อยละ 75 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4/2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19

มกราคม 2566 ฟื้นตัวร้อยละ 78

ททท.มองว่าจำนวนดังกล่าวถือเป็นจำนวนที่น่าพึงพอใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับจำนวนที่นั่ง (seat capacity) ของเที่ยวบินตรง ที่มีเพียงร้อยละ 60 เมื่อเทียบกับปี 2562 ขณะที่สถิตินักท่องเที่ยวจากสหราชอาณาจักรเข้าไทยในเดือนมกราคม 2566 คิดเป็นร้อยละ 78 เมื่อเทียบกับมกราคม 2562

นอกจากนี้ จากการสอบถามสายการบินหลักที่บินตรงไปยังประเทศไทย อย่างการบินไทยและสายการบิน EVA Airways ยังระบุว่า ณ ปัจจุบันมี load factor ของช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 75-80

“ช่วงเดือนมกราคมของทุกปีเป็นช่วง key booking period ของตลาดสหราชอาณาจักร ซึ่งจากการสอบถามพันธมิตรได้ข้อมูลว่าไทยยังเป็น destination ที่ขายดีที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีอเมริกา มัลดีฟส์ และประเทศในแถบแคริบเบียน เป็นคู่แข่งหลัก”

“กาตาร์-เอทิฮัด” เพิ่มไฟลต์

นางสาวสดุดีกล่าวว่า สำหรับปัจจัยบวกที่ส่งเสริมให้ตลาดดังกล่าวเติบโตขึ้น ประกอบด้วยปัจจัยหลัก 3 ประการคือ 1.สายการบินประเภทเที่ยวบินต่อเครื่อง (indirect flight) เริ่มเพิ่มจำนวนเที่ยวบินไปยังประเทศไทย เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น

โดยเดือนกุมภาพันธ์นี้ สายการบินกาตาร์เพิ่มเที่ยวบินเส้นทางกรุงโดฮา-ภูเก็ต เป็น 3 เที่ยวบินต่อวัน ทำให้มีเที่ยวบินเข้าประเทศไทยทั้งสิ้น 7 เที่ยวบินต่อวัน (กรุงเทพฯ 4 เที่ยวบิน และภูเก็ต 3 เที่ยวบิน) ส่วนในเดือนมีนาคมสายการบินเอทิฮัด แอร์เวย์สจะเพิ่มเที่ยวบิน อาบูดาบี-กรุงเทพฯ เป็นวันละ 2 เที่ยวบิน

2.การยกเลิกมาตรการคัดกรองการเดินทางต่าง ๆ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวกลุ่มครอบครัวมีความมั่นใจและตัดสินใจกลับมาเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น และ 3.ประเทศไทยยังมีความโดดเด่นในเรื่องของความคุ้มค่าของราคา

ปัจจัยเสี่ยง (ยัง) เพียบ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าปี 2566 อัตราการเติบโตผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของสหราชอาณาจักรจะอยู่ที่ร้อยละ -0.7 ต่ำที่สุดในบรรดากลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ (G7)

สอดคล้องกับรายงานจาก ททท.ที่ระบุว่า สหราชอาณาจักรกำลังประสบปัญหาเงินเฟ้อขั้นรุนแรง ส่งผลให้ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบถึงการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยว

เที่ยวบินตรงน้อย-ค่าตั๋วแพง

ขณะที่สงครามรัสเซีย-ยูเครนยังส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ราคาบัตรโดยสารเครื่องบินเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ขณะที่จำนวนเที่ยวบินและจำนวนที่นั่งในส่วนของเที่ยวบินตรงจากตลาดสหราชอาณาจักร เมื่อเทียบกับปี 2562 ถือว่ามีจำนวนลดลง

โดยในปี 2562 มีจำนวนที่นั่งเที่ยวบินตรงระหว่าง 2 ประเทศอยู่ที่ 43,628 ที่นั่งต่อเดือน แต่ในปัจจุบันมีเพียง 26,956 ที่นั่งต่อเดือน หรือคิดเป็นร้อยละ 61 ของปี 2562

“ปัจจุบันจำนวนเที่ยวบินและจำนวนที่นั่งในส่วนของเที่ยวบินตรงจากตลาดสหราชอาณาจักร มีสัดส่วนประมาณ 60% ของปี 2562 ขณะที่นักท่องเที่ยวต้องการเดินทางด้วยเที่ยวบินตรง”

ชู “เมืองไทยเที่ยวได้ทั้งปี”

นางสาวสดุดีกล่าวต่อไปอีกว่า ททท. สำนักงานลอนดอน จะเน้นการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการขายการท่องเที่ยวไทยภายใต้แนวคิด always warm นำเสนอประเทศไทยในฐานะแหล่งท่องเที่ยวที่มีอากาศร้อนและมีแสงแดดตลอดปี รวมถึงมุ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพและกลุ่มตลาดลักเซอรี่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อน้อยที่สุด

โดยในไตรมาสที่ 2/2566 นี้ มีแผนการจัดกิจกรรม tactical advertising campaign กระตุ้นการเดินทางเข้าในช่วง off-peak season หรือช่วงปลายเดือนเมษายน-มิถุนายน 2566

และจัดกิจกรรม digital advertising campaign กิจกรรม joint marketing ส่งเสริมการขายร่วมกับพันธมิตรบริษัทนำเที่ยวและสายการบิน และกิจกรรมส่งเสริมภาพลักษณ์และสร้างการรับรู้ผ่านรายการโทรทัศน์ต่าง ๆ