ทอท.เชียงใหม่ผนึกสนามบิน “เตินเซินเญิ้ตโฮจิมินห์” เชื่อมเมืองปลุกท่องเที่ยว 2 ประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะผู้บริหารและพนักงานท่าอากาศยานเชียงใหม่พร้อมสื่อมวลชนในจังหวัดเชียงใหม่ ได้เดินทางไปศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การบริหารท่าอากาศยาน ภายใต้ข้อจำกัดด้านกายภาพและสิ่งอำนวยความสะดวกกับท่าอากาศยานนานาชาติ เติน เซิน เญิ้ต เมืองโฮจิมินห์ ซึ่งเป็นสนามบินหลักที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุดในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยท่าอากาศยานเชียงใหม่จะผนึกกำลังร่วมกับสนามบินเตินเซินเญิ้ต โฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นสนามบินติดอันดับ 1 ใน 50 ที่มีผู้โดยสารหนาแน่นที่สุดในโลก ด้วยการแลกเปลี่ยนการบริหารท่าอากาศยาน พร้อมเปิดรูทบินเชื่อมเมืองต่อเมือง ปลุกการท่องเที่ยวของ 2 ประเทศอย่างคึกคัก

นาวาอากาศเอก วิสูธ จันทนา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานท่าอากาศยานภูมิภาค) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ท่าอากาศยานนานาชาติ เติน เซิน เญิ้ต สร้างขึ้นเมื่อปี 2473 ให้บริการในระดับนานาชาติครอบคลุมพื้นที่เวียดนามฝั่งใต้ มีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้ 28 ล้านคนต่อปี แต่ในปี 2560 มีผู้โดยสารเข้ามาใช้บริการมากถึง 35.9 ล้านคน และติดอันดับ 1 ใน 50 สนามบินที่มีผู้โดยสารหนาแน่นที่สุดในโลก ซึ่งการเดินทางมาศึกษาดูงานครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือระหว่างท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่และท่าอากาศยานนานาชาติ เติน เซิน เญิ้ต ที่จะได้การแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการบริหารจัดการและการเดินทางของผู้โดยสารระหว่างเมืองต่อเมือง

ทั้งนี้ พบว่าการบริหารจัดการของท่าอากาศยานนานาชาติ เติน เซิน เญิ้ต ผู้โดยสารส่วนใหญ่ค่อนข้างมีวินัย เคารพในกฎกติกา ขณะเดียวกันจำนวนผู้โดยสารที่มีมากเกินขีดความสามารถในการรองรับของท่าอากาศยาน ก็มีวิธีบริหารจัดการโดยใช้กำลังบุคลากรในช่วงเวลาที่มีการเดินทางคับคั่ง เน้นความพร้อมของเจ้าหน้าที่ในการให้บริการเต็มประสิทธิภาพ จึงทำให้การบริการสะดวกและรวดเร็ว

“การบริหารจัดการของเขาค่อนข้างดีเพราะไม่ว่าออกกฎอะไรมาเขาก็ปฏิบัติตาม แต่ของเราต้องทำความเข้าใจ แม้จะแออัดก็พยายามพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะถนนที่ค่อนข้างคับแคบ ส่วนการจัดสร้างสนามบินแห่งใหม่ก็ต้องอยู่ที่ผู้บริหารใหญ่ เราก็มีหน้าที่พัฒนาสนามบินที่มีอยู่เดิมให้ดีที่สุด”

นาวาอากาศเอก วิสูธ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันการเดินทางเชื่อมต่อเมืองต่อเมืองไม่มีพรมแดน และเวียดนามเป็นประเทศที่กำลังเกิดใหม่ในการเดินทางทางอากาศ ทำให้กลายเป็นจุดเชื่อมการบินจากหลายเมือง หลายประเทศ ซึ่งเชียงใหม่เป็นจุดหมายปลายทางหนึ่งของชาวเวียดนาม และเวียดนามก็เป็นจุดหมายของเมืองเชียงใหม่ ที่สามารถส่งเสริมในด้านการท่องเที่ยวและธุรกิจระหว่างกัน แนวโน้มคาดว่าจะมีสายการบินอีกมากของเวียดนามที่จะเปิดเส้นทางบินเข้ามาสู่เชียงใหม่

ด้านนาวาอากาศตรี มณธนิก รักงาม ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) กล่าวว่า สนามบินเชียงใหม่มีขนาดเล็กกว่าสนามบิน เติน เซิน เญิ้ต แต่อนาคตเมื่อมีการพัฒนาอาคารหลังเก่าและก่อสร้างอาคารหลังใหม่ ก็จะมีความลึกของพื้นที่มากกว่า รวมถึงมีรูปลักษณ์ทางกายภาพที่น่าจะสมบูรณ์แบบขึ้น แต่สำหรับท่าอากาศยานนานาชาติ เติน เซิน เญิ้ต เป็นหนึ่งในท่าอากาศยาน ภายใต้การกำกับดูแลของ Airport Corporation of Vietnam (ACV) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบบริหารท่าอากาศยานจำนวนทั้งสิ้น 21 แห่งของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

โดย ACV ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างท่าอากาศยาน (Sister Airport Agreement: SAA) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 มีท่าอากาศยานที่มุ่งเน้นในการดำเนินกิจกรรมความร่วมมือภายใต้การบริหารของ ACV จำนวน 4 ท่าอากาศยาน คือ ท่าอากาศยานนานาชาติ เติน เซิน เญิ้ต ท่าอากาศยานนานาชาติ โหน่ยบ่าย ท่าอากาศยานนานาชาติดานัง และท่าอากาศยานนานาชาติ ฟูก๊วก ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน อาทิ การเดินทางไปประชุม ACV AOT Executive Meeting ณ เมืองดาลัด และการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้และประสบการณ์ภายใต้หัวข้อ Expansion Project และ Safety and Security การเดินทางไปศึกษาดูงานภายใต้หัวข้อ Expansion Project และ Safety Management System (SMS) ณ ท่าอากาศยานนานาชาติโหน่ยบ่าย และท่าอากาศยานนานาชาติฟูก๊วก

คณะผู้แทนของ ACV เดินทางมาประชุมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ร่วมกับคณะผู้แทนของ ทอท.ภายใต้หัวข้อ Airport Operations และ Aeronautical and Non Aeronautical Services in the Airport
ปัจจุบัน ทอท.มีกลุ่มพันธมิตรท่าอากาศยานที่ลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ร่วมกับ ทอท.ทั้งสิ้น 11 องค์กร ใน 8 ประเทศ ครอบคลุมท่าอากาศยานนานาชาติ 15 แห่ง โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ ท่าอากาศยานที่เป็นพันธมิตร ในการแบ่งปันข้อมูล (Data Sharing Partners) เพื่อเปรียบเทียบความสามารถและนำข้อมูลมาพัฒนาท่าอากาศยาน ของ ทอท.ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ได้แก่ กลุ่มท่าอากาศยานแนวหน้าหรือเทียบเท่า ทอท.หรือท่าอากาศยานที่ตั้งไกลออกไป เช่น ท่าอากาศยานออสติน-เบิร์กสตอร์ม มลรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ท่าอากาศยานนานาชาติเซี่ยงไฮ้ผู่ตง สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นต้น

อีกกลุ่มคือ ท่าอากาศยานที่เป็นแหล่งการเรียนรู้ของแนวทางการปฏิบัติที่ดีที่สุด (Sources of Best Practice) เพื่อนำแนวทางการปฏิบัติที่ดีที่สุดมาพัฒนาขีดความสามารถของ ทอท.ได้แก่ ท่าอากาศยานแนวหน้าที่มีความใกล้เคียงกับ ทอท.และไม่ใช่คู่แข่งโดยตรง เช่น ท่าอากาศยานมิวนิค สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ท่าอากาศยานอินชอน สาธารณรัฐเกาหลี ท่าอากาศยานนาริตะ ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น และอีกกลุ่มคือ ท่าอากาศยานที่เป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย (Potential Future Clients) เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์สำหรับโอกาสทางธุรกิจในอนาคต เช่น การฝึกอบรมและบริการให้คำปรึกษา ได้แก่ ท่าอากาศยานที่มีความต้องการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรและพัฒนาขีดความสามารถของท่าอากาศยาน โดย ทอท.มุ่งเน้นที่ท่าอากาศยานในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง (CLMV) เช่น ท่าอากาศยานเนปิดอว์ และท่าอากาศยานย่างกุ้ง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ เป็นต้น

สำหรับท่าอากาศยานนานาชาติ เติน เซิน เญิ้ต มีแนวโน้มที่ผู้โดยสารจะใช้บริการเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีสายการบินภายในประเทศเวียดนามที่ให้บริการบินจำนวน 4 สายการบิน ที่บินภายในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่จำนวนเที่ยวบินของทุกสายการบินทั้งในประเทศและต่างประเทศเฉลี่ย 700 เที่ยวบิน/วัน โดยท่าอากาศยานนานาชาติ เติน เซิน เญิ้ต มีแผนการพัฒนาในระยะ 5-10 ปี ในการพัฒนาอาคารผู้โดยสารที่มีอยู่เดิมเพื่อรองรับผู้โดยสารในระยะใกล้และระยะกลาง รวมถึงการพัฒนาอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารให้ได้ 60 ล้านคนภายในระยะเวลา 10 ปี