คืนภาษี ณ จุดขาย ดันใช้จ่ายด้านช็อปปิ้งพุ่ง

“ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้ความเห็นประกอบการพิจารณาการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ จุดขาย กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นอกจากจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาจับจ่ายสินค้าในประเทศไทยมากขึ้นแล้ว ยังช่วยให้นักท่องเที่ยวนำเงินที่ได้รับคืนมาต่อยอดซื้อสินค้าอื่น ๆ ต่อ หากสามารถขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มและได้เงินคืน ณ เวลานั้นเลย

โดยคาดว่าการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ จุดขาย จะมีส่วนช่วยทำให้สัดส่วนการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวด้าน shopping ปรับสูงขึ้น จากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 25 ของค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวทั้งหมด

ปัจจุบันนักท่องเที่ยวสามารถขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้อยู่แล้วที่สนามบินก่อนเดินทางออกไปต่างประเทศ ดังนั้นหากจะนำระบบการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ จุดขาย มาใช้ และเพื่อป้องกันไม่ให้คนไทยบางกลุ่มที่มีเจตนากระทำผิดสวมรอยแอบแฝงคนต่างชาติเพื่อซื้อสินค้าแบบไม่เสียภาษี โดยไม่นำสินค้าออกไปต่างประเทศจริงเหมือนนักท่องเที่ยวทั่วไป กระทรวงการคลังต้องมีระบบควบคุมและการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ ต้องกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ขอคืนภาษี ณ จุดขาย และมูลค่าสินค้าขั้นต่ำ เช่นเดียวกับประเทศ

ญี่ปุ่นที่กำหนดให้ผู้ขอคืนภาษี ณ จุดขาย ต้องแสดง passport ที่ลงตราประทับวีซ่าประเภทพำนักระยะสั้น (15-30 วัน) และซื้อสินค้าตั้งแต่ 5,000 เยนขึ้นไป สำหรับ consumer able products ที่ซื้อที่ร้านเดียวกันในวันเดียวกัน

สำหรับการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ จุดขาย ในประเทศไทย อาจเริ่มต้นในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่และร้านค้าปลีกขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ทั้งในกรุงเทพฯ และเมืองท่องเที่ยวหลักในต่างจังหวัดที่มีความพร้อมและสามารถนำระบบการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ จุดขาย ตามที่กระทรวงการคลังกำหนดมาใช้ ก่อนที่จะขยายออกไปยังร้านค้าอื่น ๆ ที่ต้องการเป็นจุดคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ จุดขาย หรือ duty free shop สำหรับนักท่องเที่ยว เช่น ในประเทศญี่ปุ่น ที่มีร้านค้าเป็น duty free shop จำนวน 29,000 แห่งทั่วประเทศ

ส่วนประเด็นที่กล่าวว่า การคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ จุดขาย จะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการรายใหญ่ หรือห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่เท่านั้น ผู้ประกอบการ SMEs จะไม่ได้ประโยชน์นั้น “ยุทธศักดิ์” บอกว่า จากตัวอย่างการดำเนินการในต่างประเทศ ก็จะพบข้อเท็จจริงว่า ไม่ใช่ผู้ประกอบการทุกคนจะได้ประโยชน์จากการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ จุดขาย กอปรกับผู้ประกอบการ SMEs ไทย ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้รับประโยชน์จากระบบการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มในปัจจุบันอยู่แล้ว แต่หากนำระบบการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ จุดขาย มาใช้ กลับจะทำให้ผู้ประกอบการSMEs ไทยได้รับประโยชน์จากระบบนี้มากขึ้นในระยะสั้น ผู้ประกอบการ SMEs ไทยจะได้ประโยชน์จากการเป็น suppliers ของร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ โดยอาจขอความร่วมมือจากห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ให้พื้นที่แก่ SMEs เพื่อเสนอขายสินค้าให้กับนักท่องเที่ยวโดยตรง หรือกำหนดจุดรวบรวมสินค้า SMEs ไทย เป็น duty free shop

ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ปิดกั้น SMEs ที่มีความพร้อมที่จะมาเป็น duty free shop หาก SMEs รายใดพร้อม สามารถนำระบบการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ จุดขาย ตามที่กระทรวงการคลังกำหนดมาใช้ได้ ก็ให้มาเป็น duty free shop ได้ทัน

สำหรับระยะต่อไป การเข้ามาเป็น duty free shop ของ SMEs อาจพิจารณาได้ว่า การคืนภาษีมูลค่าเพิ่มและนำเงินที่ได้คืนมาซื้อของในร้านเพิ่มเติม จะเป็นแรงจูงใจให้ SMEs เข้าสู่ระบบภาษีมากขึ้น กระทรวงการคลังควรเตรียมความพร้อม โดยให้ความรู้แก่ SMEs ให้มีขีดความสามารถในการเข้าร่วมเป็น duty free shop เพื่อรองรับการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ จุดขาย ในอนาคตต่อไป