เอมิเรตส์ รุก “พลังงานทดแทน” ตอบโจทย์ด้าน “ความยั่งยืน”

พลังงานทดแทน

การใช้งานเครื่องบินที่ทันสมัยและประหยัดเชื้อเพลิงถือเป็น “หัวใจ” สำคัญสำหรับโมเดลธุรกิจของสายการบิน “เอมิเรตส์” มาโดยตลอด ซึ่งการลงทุนอย่างต่อเนื่องหลายพันล้านเหรียญสหรัฐเป็นความมุ่งมั่นที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งไม่ใช่เพียงเพื่อความสะดวกสบายของผู้โดยสารเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการให้ความสำคัญเรื่อง “ความยั่งยืน” และการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้เหลือน้อยที่สุด

โดยที่ผ่านมาเอมิเรตส์เป็นผู้ให้บริการฝูงบินลำตัวกว้างที่ใหม่ที่สุด มีอายุเฉลี่ยเพียง 9.1 ปี ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมการบินค่อนข้างมาก ซึ่งเครื่องบินแอร์บัส A350 และโบอิ้งรุ่นใหม่ B777-X และ B777-9 จะให้ประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงที่ดียิ่งขึ้นเมื่อเข้าร่วมฝูงบินในปี 2567 และ 2568

โดยสนับสนุนความมุ่งมั่นในอุตสาหกรรมโดยรวมของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association) หรือ IATA และเป้าหมายความปรารถนาระยะยาว (LTAG) ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization) หรือ ICAO เพื่อบรรลุการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593

จากทิศทางดังกล่าวนี้ ทำให้ “เอมิเรตส์” ต้องทบทวนโอกาสและแนวทางที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายนี้ อาทิ การต่ออายุฝูงบิน ประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงในการดำเนินงาน เชื้อเพลิงการบินที่มีคาร์บอนต่ำและยั่งยืน และพลังงานหมุนเวียน

โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ สายการบินเอมิเรตส์ได้ประกาศข้อตกลงร่วมกับ Shell Aviation ในการจัดหาเชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน (SAF) แบบผสมจำนวน 300,000 แกลลอน เพื่อใช้ที่ศูนย์กลางระหว่างประเทศของเอมิเรตส์ในดูไบ (DXB)

และการส่งมอบ SAF ครั้งแรกภายใต้ข้อตกลงดังกล่าวนี้คาดว่าจะเริ่มก่อนสิ้นปีนี้ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ SAF ได้รับการจัดหาผ่านระบบเติมเชื้อเพลิงของสนามบิน DXB ซึ่งนับเป็นเวลาหลายเดือนหลังจากที่ประสบความสำเร็จในการบินสาธิตที่ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน SAF 100%

กราฟฟิก ฝูงบินเอมิเรตส์

 

และในเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา เอมิเรตส์ได้ทำการบินสาธิตครั้งสำคัญของเครื่องโบอิ้ง B777-300ER ที่ขับเคลื่อนด้วย SAF 100% และเป็นครั้งแรกในภูมิภาคลุ่มตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (Middle East & North Africa : MENA) ซึ่งมีส่วนในการรวบรวมข้อมูลของอุตสาหกรรมและความพยายามในการเปิดใช้การบิน SAF 100% ในอนาคต

ขณะเดียวกันยังนำขั้นตอนการปฏิบัติงานมาตรฐานสีเขียว (Green SOPs) ไปใช้อย่างประสบความสำเร็จโดยนักบิน ซึ่งประกอบด้วยมาตรฐานต่าง ๆ เช่น การใช้เครื่องบินที่ลดลง การทำ idle reverse (ชะลอเครื่องบินขณะลงจอด) การตัดสินใจอย่างรอบคอบกับเชื้อเพลิงส่วนเกิน การจัดการความเร็วบนเครื่องบินเพื่อลดการเผาผลาญเชื้อเพลิง ฯลฯ

แนวทางทั้งหลายทั้งปวงนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา การตระหนักรู้ การวิเคราะห์ข้อมูลของนักบิน รวมถึงเป็นเรื่องของเทคโนโลยีสมัยใหม่

โดยในปี 2022-2023 ตัวมาตรฐานสีเขียว หรือ Green SOPs และโครงการริเริ่มอื่น ๆ ช่วยลดการเผาไหม้เชื้อเพลิงได้มากกว่า 50,000 ตัน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนมากกว่า 160,000 ตัน

นอกจากนี้ ยังได้ลงทุนในระบบพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตไฟฟ้าที่สะอาดในโรงงานหลักในดูไบ รวมถึงศูนย์บำรุงรักษาเครื่องยนต์ (Emirates Engine Maintenance Center) บริการจัดเลี้ยงการบิน (Emirates Flight Catering) สนามกีฬา (Emirates Sevens Stadium) และศูนย์ฝึกอบรมนักบินแห่งใหม่ที่จะเปิดให้บริการในปีหน้านี้

ทั้งนี้ ปัจจุบันกลุ่มเอมิเรตส์สามารถผลิตไฟฟ้าหมุนเวียนได้มากกว่า 9,000 เมกะวัตต์ต่อปี ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 4 ล้านกิโลกรัม

ไม่เพียงเท่านี้ ยังเพิ่มยานพาหนะไฟฟ้าให้กับกลุ่มยานยนต์เพื่อใช้รับ-ส่งลูกเรือกว่า 4,000 คน สำหรับไปและกลับจากที่ทำงานในดูไบ รวมถึงเข้าไปมีส่วนร่วมในระบบการซื้อขายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหภาพยุโรป (EU ETS) Swiss ETS และ UK ETS

จึงกล่าวได้ว่า “เอมิเรตส์” เป็นสายการบินที่มุ่งมั่นในเรื่องของความยั่งยืน ดูแลสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนเป้าหมายการบรรลุการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ในอนาคต