หวั่นค่าแรงทุบ “โรงแรม 3 ดาว” แนะ “คุมต้นทุน-ขายออนไลน์” รับแข่งขันสูง

“ทีเอชเอ” หวั่นโรงแรม 3 ดาวกระอักต้นทุน หลังรัฐบาลประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 1 เมษายนที่ผ่านมา แนะเร่งปรับตัวทั้งทำแผนควบคุมต้นทุนรักษาพนักงาน หารายได้เพิ่ม หนุนผู้ประกอบการพลิกแพลงวิธีทำตลาดออนไลน์สู้ภาวะแข่งขันรุนแรง ปรับราคาห้องพัก-อาหารไม่ได้

นางสาวศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้สมาคมมองว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงแรมในประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มระดับ 3 ดาว คือ การปรับเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำที่มีผลเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา ทำให้ต้นทุนของโรงแรมสูงขึ้น เพราะนอกเหนือจากค่าแรงของพนักงานโรงแรมแล้ว ต้นทุนวัตถุดิบอาหารยังมีการปรับสูงขึ้นตามต้นทุนค่าแรงขั้นต่ำใหม่ด้วย

ประกอบกับปัจจุบันธุรกิจโรงแรมยังประสบปัญหาเรื่องไม่สามารถปรับขึ้นราคาห้องพักและค่าอาหารได้มากนัก เนื่องจากการแข่งขันที่ค่อนข้างรุนแรง ผู้ประกอบการโรงแรมจึงต้องระมัดระวังและหาวิธีบริหารจัดการควบคุมต้นทุนให้ได้มากที่สุด

โอดค่าแรงกระทบต้นทุนโรงแรม

“ตอนนี้การประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำใหม่มีผลต่อธุรกิจโรงแรมแล้ว เพราะขึ้นทุกจังหวัดในประเทศไทย ยกเว้นพื้นที่เมืองพัทยาและจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็น 2 พื้นที่ที่มีค่าแรงสูงสุด อย่างโรงแรมในภูเก็ตมีราคาห้องพักสูงอยู่แล้ว จึงไม่ได้รับผลกระทบมากนักเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่น เพราะโรงแรมมีการจ่ายค่าแรงแก่พนักงานสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว โดยผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของโรงแรมแบบเดี่ยว (indi-vidual hotel) จะได้รับผลกระทบบ้าง โดยเฉพาะระดับ 3 ดาวที่ค่าแรงกระทบต้นทุนเพิ่มขึ้นราว 5-10% เพราะถ้าไม่ขึ้นค่าแรงให้ พนักงานอาจหาย ลาออกไปทำงานที่อื่นแทน” นางศุภวรรณ กล่าว

และว่า ขณะที่โรงแรมระดับ 4-5 ดาว ไม่ค่อยมีปัญหาจากการประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมากนัก เนื่องจากส่วนใหญ่จ่ายค่าจ้างในอัตราที่สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้ว ส่วนธุรกิจบริการที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือร้านอาหาร เพราะค่าแรงมีผลโดยตรงกับราคาวัตถุดิบอาหาร

ติดกับดัก “ซัพพลาย” ล้น

นางสาวศุภวรรณ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันธุรกิจโรงแรมต้องประสบกับภาวะต้นทุน ทั้งเรื่องค่าแรงและค่าวัตถุดิบที่ขยับสูงขึ้นตลอด แต่โรงแรมกลับปรับราคาขายห้องพักได้น้อย เมื่อเทียบกับสัดส่วนต้นทุนที่สูงขึ้น ประกอบกับเจอปัญหาห้องพักล้นตลาด (โอเวอร์ ซัพพลาย) ในทุกภูมิภาค ทำให้ผู้ประกอบการโรงแรมต้องเร่งปรับตัวรับการแข่งขันที่รุนแรง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปรับโครงสร้างรายได้ ด้วยการเร่งหารายได้เพิ่มทั้งในช่องทางเก่าและใหม่ พร้อมดึงลูกค้าเดิมให้กลับมาใช้บริการซ้ำที่โรงแรมมากที่สุด ไม่ให้เปลี่ยนใจไปพักที่โรงแรมอื่น

รวมถึงดำเนินกลยุทธ์ทั้งเชิงรุกและรับกับการเปลี่ยนแปลงด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี เนื่องจากโรงแรมเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงและเร็วสุด เห็นได้จากการแข่งขันที่รุนแรงในช่องทางออนไลน์มากกว่าออฟไลน์ ทำให้ผู้ประกอบการโรงแรมต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อรับมือกับเรื่องเหล่านี้มากขึ้น

พลิกแพลงวิธีขาย “ออนไลน์”

“หากโรงแรมไม่ใช้ความสามารถในการทำตลาดจากช่องทางออนไลน์เพื่อเพิ่มอัตราเข้าพักให้มากขึ้นก็จะเสียเปรียบโรงแรมอื่น ๆ ที่รุกทำตลาดเพื่อให้นักท่องเที่ยวจองห้องพักผ่านช่องทางนี้ โดยโรงแรมที่มีเชนรับบริหารเขาจะเก่งเรื่องการทำตลาดออนไลน์อยู่แล้ว และมีแพลตฟอร์มจองห้องพักเป็นของตัวเอง ขณะที่โรงแรม individual hotel ในกรุงเทพฯ และเมืองท่องเที่ยวหลัก จะปรับตัวกับการขายผ่านช่องทางออนไลน์ได้ดี ส่วนโรงแรมในต่างจังหวัดบางแห่งอาจจะยังไม่เก่งในเรื่องนี้ ซึ่งจำเป็นต้องเร่งปรับตัว” นางศุภวรรณกล่าว

นายกสมาคมโรงแรมไทย ยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า นับตั้งแต่มีการขายห้องพักผ่านช่องทางออนไลน์ ยอมรับว่าโรงแรมสามารถทำราคาขายได้ดีขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับวิธีการพลิกแพลงการขายให้ดี สามารถกำหนดเรตราคาขายห้องพักให้ขึ้นลงตามดีมานด์ซัพพลายในแต่ละวัน วันไหนหรือเดือนไหนเหลือห้องน้อยก็สามารถกำหนดราคาขายแบบแพงได้ นี่คือข้อดีของการขายห้องพักผ่านช่องทางออนไลน์ ขณะที่ในยุคก่อนจะขายห้องพักในราคาแบบ flat rate แก่บริษัทตัวแทนนำเที่ยว (แทรเวล เอเย่นต์) เป็นหลัก