ไทยแอร์เอเชีย ฟื้นแรง! ปี 2566 ขนผู้โดยสารกว่า 18 ล้านคน ไฟลต์แน่น 90%

เครื่องบินแอร์บัส A320 สายการบินไทยแอร์เอเชีย
เครื่องบินแอร์บัส A320 สายการบินไทยแอร์เอเชีย ที่มา : ไทยแอร์เอเชีย

Capital A บริษัทแม่สายการบินแอร์เอเชียเผย ไทยแอร์เอเชีย (TAA) ปี 2566 ฟื้นแรง! ขนผู้โดยสาร 18 ล้านคน โหลดแฟกเตอร์แน่น 90% จากเครื่องบินที่ใช้ปฏิบัติการ 52 ลำ

วันที่ 26 มกราคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า Capital A บริษัทแม่ของกลุ่มสายการบินแอร์เอเชีย เปิดเผยสถิติการดำเนินการของธุรกิจการบิน, ธุรกิจดิจิทัล, ธุรกิจโลจิสติกส์ และธุรกิจให้บริการด้านการบินประจำไตรมาสที่ 4/2566

กลุ่มธุรกิจสายการบินฟื้นตัว

สำหรับธุรกิจสายการบิน ซึ่งประกอบด้วยสายการบินแอร์เอเชีย (มาเลเซีย), ไทยแอร์เอเชีย, แอร์เอเชียอินโดนีเซีย และแอร์เอเชีย ฟิลิปปินส์ ตลอดปีที่ผ่านมาทั้งกลุ่มมีอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (Load Factor) เฉลี่ยสูงกว่า 80% ในทุกไตรมาส และทำให้ตลอดทั้งปี มีอัตราการบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ย 88% เพิ่มขึ้น 5 จุด (ppt) จากปี 2565 ที่ผ่านมา

รายงานระบุว่า ผลการดำเนินงานดังกล่าวสะท้อนถึงความต้องการการเดินทางที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง และสอดคล้องกับการที่กลุ่มสายการบินแอร์เอเชียพยายามเพิ่มปริมาณที่นั่งโดยสารที่ให้บริการกลับสู่ตลาดการบิน พร้อมทั้งฟื้นเส้นทางบิน

ในปี 2566 กลุ่มธุรกิจสายการบินมีเครื่องบินประจำการอยู่ทั้งสิ้น 162 ลำ ขนส่งผู้โดยสารจำนวน 56,985,467 คน คิดเป็น 77% ของปริมาณผู้โดยสารในปี 2562 (เทียบเคียงเฉพาะสายการบินทั้ง 4 แห่งที่กล่าวไปข้างต้น) และปริมาณที่นั่งโดยสาร (Seat Capacity) อยู่ที่ระดับ 74% เมื่อเทียบกับก่อนยุคโควิด

โดยแต่ละสายการบินของกลุ่มแอร์เอเชีย (เฉพาะที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน) ได้ขนส่งผู้โดยสาร ดังนี้

  • แอร์เอเชีย (มาเลเซีย) ขนส่งผู้โดยสารทั้งสิ้น 25,318,738 คน
  • ไทยแอร์เอเชีย ขนส่งผู้โดยสารทั้งสิ้น 18,877,595 คน
  • แอร์เอเชียฟิลิปปินส์ ขนส่งผู้โดยสารทั้งสิ้น 6,606,839 คน
  • แอร์เอเชียอินโดนีเซีย ขนส่งผู้โดยสารทั้งสิ้น 6,182,295 คน
ตารางแสดงผลการดำเนินงานในเชิงสถิติจำนวนผู้โดยสาร และรายละเอียดด้านการบินที่เกี่ยวข้อง ในปี 2566 ของกลุ่มสายการบินแอร์เอเชีย
ที่มา : Capital A

ทั้งนี้ ในปี 2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19 แต่ละสายการบินของกลุ่มแอร์เอเชีย (เฉพาะที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน) มีผลการดำเนินงานดังนี้

  • แอร์เอเชีย (มาเลเซีย) ขนส่งผู้โดยสารทั้งสิ้น 35,038,498 คน
  • ไทยแอร์เอเชีย ขนส่งผู้โดยสารทั้งสิ้น 22,149,474 คน
  • แอร์เอเชียฟิลิปปินส์ ขนส่งผู้โดยสารทั้งสิ้น 8,553,305 คน
  • แอร์เอเชียอินโดนีเซีย ขนส่งผู้โดยสารทั้งสิ้น 7,967,267 คน

ไทยแอร์เอเชียฟื้นแรง

รายงานจาก Capital A ระบุว่า ในไตรมาสที่ 4/2566 สายการบินไทยแอร์เอเชีย (รหัสเที่ยวบิน FD) ขนส่งผู้โดยสารทั้งสิ้น 5,099,263 คน เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4/2565 ที่ 26% ขณะที่ปริมาณที่นั่งที่เปิดให้บริการ (Seat Capacity) มีจำนวน 5,640,838 ที่นั่ง เพิ่มขึ้น 25% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

สำหรับไตรมาส 4/2566 สายการบินมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Load Factor) อยู่ที่ 90% เทียบเท่ากับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่ปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) (จำนวนที่นั่งบนเที่ยวบินทั้งหมด คูณด้วยจำนวนกิโลเมตรที่ทำการบินบนที่นั่งเหล่านั้น) อยู่ที่ 6,189 ล้านกิโลเมตร เพิ่มขึ้น 46%

ส่วนผลการดำเนินงานในเชิงสถิติของปี 2566 ไทยแอร์เอเชีย ได้ขนส่งผู้โดยสารทั้งสิ้น 18,877,595 คน เพิ่มขึ้น 90% จากปี 2565 ซึ่งขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ 9,949,564 คน มีปริมาณที่นั่งที่เปิดให้บริการ (Seat Capacity) มีจำนวน 20,888,546 ที่นั่ง เพิ่มขึ้น 76% จากปี 2565

ด้านอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร มีสถิติอยู่ที่ 90% เพิ่มขึ้น 7 จุด (ppt) จากปีก่อนหน้า ปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) อยู่ที่ 22,945 ล้านกิโลเมตร เพิ่มขึ้น 123% จากปี 2565 และมีเครื่องบินประจำการทั้งสิ้น 56 ลำ และใช้ปฏิบัติการบินอยู่ทั้งสิ้น 52 ลำ เพิ่มขึ้น 10 จากปลายปี 2565

ตารางแสดงผลการดำเนินงานในเชิงสถิติจำนวนผู้โดยสาร และรายละเอียดด้านการบินที่เกี่ยวข้อง ในปี 2566 ของกลุ่มสายการบินไทยแอร์เอเชีย
ที่มา : Capital A

ธุรกิจ MOVE

ขณะธุรกิจด้านดิจิทัลของกลุ่ม Capital A อย่าง airasia MOVE (เดิมคือ airasia Superapp) พบว่าในไตรมาส 4 ที่ผ่านมา มียอดผู้ใช้งานต่อเดือน (Monthly Active User : MAU) มากกว่า 16 ล้านคน และมีค่าเฉลี่ยผู้ใช้งานแอปพลิเคชั่นตลอดทั้งปีที่ 15 ล้านคนต่อเดือน และแพลตฟอร์มดังกล่าวมียอดธุรกรรมสะสม 32.5 ล้านครั้งตลอดทั้งปี เพิ่มขึ้น 75% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

โดยจำแนกตามมูลค่ารวมการจอง (Gross Booking Value : GBV) พบว่า บริการการท่องเที่ยว (เที่ยวบิน) เพิ่มขึ้น 110% บริการเรียกรถ เพิ่มขึ้น 54% และแอร์เอเชีย รีวอร์ดและธุรกิจอื่น ๆ เพิ่มขึ้น 42%

ภาพพนักงานขับรถ airasia Ride
ที่มาภาพ : Capital A

ธุรกิจขนส่งสินค้า

  • ส่วนงานคาร์โก้ (Cargo Segment) : ปริมาณการขนส่งสินค้ารวมทั้งปีอยู่ที่เกือบ 200,000 ตัน เติบโต 88% เมื่อเทียบกับปี 2565
  • ส่วนงานดีลิเวอรี่ (Delivery Segment) : ไตรมาส 4/2566 ส่วนงานดังกล่าวส่งมอบพัสดุเป็นจำนวน 12 ล้านชิ้น ทำสถิติสูงสุดเท่าที่เคยมีมา เพิ่มขึ้น 279% YOY และยอดจัดส่งพัสดุรายวันทะลุ 130,000 ชิ้น เป็นครั้งแรกในไตรมาส 4/2566 โดยได้แรงหนุนจากปริมาณลูกค้าใหม่ที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาล โดยรวมแล้วส่วนงานดังกล่าวส่งมอบพัสดุได้ 29.9 ล้านชิ้นในปี 2566 เติบโต 275% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ธุรกิจให้บริการด้านการบิน

Asia Digital Engineering (ADE) ธุรกิจให้บริการซ่อมแซมอากาศยาน (MRO) พบว่ามีผลการดำเนินงานด้านการบำรุงรักษาที่ลานจอด (Line Maintenance) เพิ่มขึ้น 92% เทียบกับปี 2565 ขณะที่การซ่อมขั้นโรงซ่อม (Base Maintenance) เพิ่มขึ้น 50% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ขณะที่ Santan ธุรกิจให้บริการในเที่ยวบิน ได้ขายสินค้าไปได้ทั้งสิ้น 19.6 ล้านหน่วยในปี 2566 เพิ่มขึ้น 114% YIY โดยเป็นการขายสินค้าที่น่าสนใจ ดังนี้

  • อาหารและเครื่องดื่มที่เน่าเสียง่ายและไม่เน่าเสียง่าย : ขายได้ 19.1 ล้านหน่วย เติบโต 115% เมื่อเทียบกับปีก่อน สอดคล้องกับความถี่เที่ยวบินระหว่างประเทศและปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น
  • สินค้าปลอดภาษีและสินค้าอื่น ๆ : ขายได้มากกว่า 500,000 หน่วย เติบโต 90% เมื่อเทียบกับปีก่อน
เมนูนาซีเลอมัก (Nasi Lemak)
ที่มาภาพ : Capital A

ส่วนธุรกิจการให้บริการภาคพื้น (Ground Team Red : GTR) ได้ให้บริการเที่ยวบินกว่า 144,000 เที่ยวบิน ให้บริการผู้โดยสารกว่า 22 ล้านคน และสินค้า (Cargo) กว่า 86,000 ตัน เพิ่มขึ้น 63% YOY