ดุสิตธานี ส่ง “ดุสิต กาสโทร” เจาะลูกค้าโรงแรม ร้านอาหาร คาเฟ่

ดุสิต กาสโทร

“ดุสิตธานี” เดินหน้าขยายธุรกิจอาหาร หลัง “ดุสิต ฟู้ดส์” ประสบความสำเร็จ เผยปี’67 เร่งด้าน “ดุสิต กาสโทร” บริษัทย่อยเป็นศูนย์กลางจัดหาวัตถุดิลูกค้า ทั้งบริษัทในเครือ-ลูกค้าทั่วไป มั่นใจตอบโจทย์ความต้องการลูกค้ากลุ่มโรงแรม ร้านอาหาร คาเฟ่ & แคเทอริ่ง พร้อมนำทัพสินค้าและบริการร่วมงานแฟร์ใหญ่ THAIFEX-HOREC Asia ระหว่าง 6-8 มีนาคมนี้ หวังดันรายได้แตะ 2,500 ล้านภายในปี’70

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังจากกลุ่มดุสิตธานีขยายการลงทุนในธุรกิจอาหาร ด้วยการจัดตั้งบริษัท ดุสิต ฟู้ดส์ จำกัด ตั้งแต่ปี 2561 นั้นปัจจุบันสามารถเติบโตได้อย่างน่าพอใจ

ศุภจี สุธรรมพันธุ์

โดยในรอบ 9 เดือนของปี 2566 ที่ผ่านมา ธุรกิจอาหารมีรายได้ในสัดส่วน 19.5% ของรายได้รวมของกลุ่มดุสิตธานี สูงกว่าเป้าหมายที่กลุ่มดุสิตธานีวางไว้ว่าจะกระจายรายได้ไปในธุรกิจอื่น ๆ นอกจากธุรกิจโรงแรมและการศึกษาในสัดส่วน 10%

นางศุภจีกล่าวว่า ธุรกิจอาหารเป็นธุรกิจที่เติบโตดีและมีศักยภาพ ขณะที่กลยุทธ์ที่เราวางไว้เพื่อสร้างการเติบโตของธุรกิจอาหารก็เป็นไปตามแผน จากจุดเริ่มต้นที่เราเน้นการลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจรับจัดเลี้ยงหรือแคเทอริ่ง ด้วยการถือหุ้น 70% ในเอ็บเพอคิวร์ กรุ๊ป ที่ปัจจุบันให้การบริการรับจัดอาหารให้กับโรงเรียนนานาชาติ ทั้งในไทย เวียดนาม และกัมพูชา

การลงทุนในธุรกิจเบเกอรี่ ด้วยการถือหุ้นในบองชู กรุ๊ป ในสัดส่วน 55% ทำให้เรามีโรงงานผลิตเบเกอรี่ คือ พอร์ต รอยัล เข้ามาในพอร์ตลงทุนของเรา รวมถึงการถือหุ้นใน Savor Eats ในสัดส่วน 51% ที่จะเห็นรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจนมากขึ้นในปีนี้ และในปีนี้ดุสิต ฟู้ดส์จะสร้างการเติบโตจากภายในผ่านบริษัท ดุสิต กาสโทร จำกัด ที่ถือหุ้นในสัดส่วน 100%

“ทั้งหมดนี้ เป็นพัฒนาการของธุรกิจอาหารที่จะกลายเป็นกำลังสำคัญในการสร้างการเติบโตให้กับกลุ่มดุสิตธานีในอนาคตอย่างแน่นอน” นางศุภจีกล่าว

ด้านนางสาวมณิศา มิตรไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดุสิต ฟู้ดส์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าหมายการเติบโตของธุรกิจไว้ที่เฉลี่ยปีละ 15-18% โดยวางเป้าหมายว่าจะสามารถสร้างรายได้แตะระดับ 2,500 ล้านบาทภายในปี 2570 ในรอบปีที่ผ่านมา (9 เดือน) บริษัทสามารถสร้างรายได้ถึง 878 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 19.5% ของรายได้โดยรวมของกลุ่มดุสิตธานีที่ 4,512 ล้านบาท

โดยสัดส่วนรายได้ที่สำคัญมาจาก 2 ธุรกิจที่เข้าไปลงทุนไว้ก่อนหน้า คือ เอ็บเพอคิวร์ กรุ๊ป และบองชู กรุ๊ป โดยในปีนี้ทั้งเอ็บเพอคิวร์ ซึ่งปัจจุบันดำเนินธุรกิจรับจัดอาหาร (แคเทอริ่ง) ให้กับโรงเรียนนานาชาติ ทั้งในประเทศไทย เวียดนาม และกัมพูชา มีแผนจะขยายลูกค้าไปยังกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง

รวมถึงประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก พร้อม ๆ กับขยายการให้บริการที่นอกเหนือไปจากกลุ่มโรงเรียนนานาชาติ เช่นเดียวกับบองชู กรุ๊ป ที่มีแผนขยายฐานลูกค้าไปยังจีน ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ซึ่งจะตอบโจทย์พันธกิจหลักของ “ดุสิต ฟู้ดส์” ที่จะนำอาหารเอเชียออกไปสู่ตลาด

สำหรับปีนี้บริษัทมีแผนทำให้ภาพการเป็นบริษัทที่ลงทุนด้านอาหารในรูปโฮลดิ้งส์ชัดเจนมากขึ้น และจะรุกการเป็น Food Solutions ที่จะขับเคลื่อนจากภายใน ผ่านบริษัท ดุสิต กาสโทร จำกัด ที่ดุสิต ฟู้ดส์ ถือหุ้น 100% โดย “ดุสิต กาสโทร” จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการจัดหาวัตถุดิบคุณภาพ (Food Sourcing Hub) ตั้งแต่ข้าวออร์แกนิก ที่กลุ่มดุสิตธานีทำสัญญากับเกษตรกรโดยตรง รวมถึงเครื่องปรุงชนิดต่าง ๆ เพื่อส่งต่อให้กับลูกค้าทั้งในเครือและนอกเครือ

ตลอดจนสร้างสรรค์นวัตกรรมอาหาร (Innovation) ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นสำคัญของ “ดุสิต กาสโทร” ที่สามารถรับคำสั่งในการรังสรรค์เมนูอาหาร รวมถึงขนมอบต่าง ๆ ให้กับลูกค้าแบบเฉพาะเจาะจง ตั้งแต่วัตถุดิบ ขนาด รสชาติ และงบประมาณ ซึ่งจะทำให้ “ดุสิต กาสโทร” เป็นจุดเชื่อมทุกธุรกิจของกลุ่มดุสิตธานีไปสู่ฐานลูกค้าใหม่ ๆ ที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะการให้บริการในกลุ่มเท่านั้น

ปัจจุบัน “ดุสิต กาสโทร” ได้เริ่มเจาะกลุ่มลูกค้าในธุรกิจค้าปลีก โรงแรม ร้านกาแฟในสถานีบริการน้ำมัน ที่มีสาขาทั่วประเทศ รวมถึงศูนย์แสดงสินค้าขนาดใหญ่แล้ว

และล่าสุด “ดุสิต ฟู้ดส์” ยังเดินหน้าขยายฐานลูกค้าในกลุ่มโรงแรม ร้านอาหาร คาเฟ่และแคทอริ่ง (HoReCa : Hotel Restaurant Café and Catering) ด้วยการนำ “ดุสิต กาสโทร” ร่วมเปิดตัวในงาน “ไทยเฟ็กซ์-โฮเรค เอเชีย” (THAIFEX-HOREC Asia)

ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าที่เน้นธุรกิจโรงแรม ร้านอาหารและการจัดเลี้ยง (HoReCa) และนับเป็นงานแสดงสินค้าครั้งสำคัญโดยความร่วมมือของพันธมิตร โดยงานดังกล่าวจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-8 มีนาคม 2567 ณ ศูนย์แสดงสินค้าอิมแพ็ค เมืองทองธานี

“เรามั่นใจว่าดุสิต กาสโทรจะตอบโจทย์ที่เป็น pain point หรือปัญหาสำคัญของผู้ประกอบการกิจการอาหาร ที่ต้องเผชิญภาวะการขาดแรงงาน ต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มขึ้น มาตรฐานของวัตถุดิบและการผลิตที่ไม่สามารถควบคุมให้สม่ำเสมอได้ ปัญหาขยะอาหารเหลือทิ้ง (Food Waste) และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งรับมือได้ยาก” นางสาวมณิศากล่าว