ไทยแอร์เอเชียจัดทัพครั้งใหญ่ ลุย 3 โปรเจ็กต์ยักษ์ตอกย้ำภาพ “โลว์คอสต์”

“ไทยแอร์เอเชีย” ขยับตัวครั้งใหญ่ ! ประกาศเดินหน้าผุด 3 โปรเจ็กต์ยักษ์ “ศูนย์ซ่อม-โลว์คอสต์เทอร์มินอล” อู่ตะเภา-ศูนย์ฝึกนักบินและลูกเรือ หวังจัดการต้นทุนได้ดียิ่งขึ้น เตรียมผนึก “ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์” สร้างเครือข่าย “connecting flight” หลังไตรมาส 1 กวาดกำไรไปแล้วกว่า 1 พันล้านบาท ล่าสุดดัน “สันติสุข คล่องใช้ยา” ขึ้นแท่น CEO ขณะที่ “ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์” นั่งแท่น “ประธานกรรมการบริหาร” ลุยงานใหญ่เต็มสูบ

นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) และ บจ.ไทยแอร์เอเชีย (TAA) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทมีแผนลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ 3 โปรเจ็กต์หลัก ๆ ประกอบด้วย 1.ศูนย์ซ่อมบำรุง หรือ Maintenance, Repair and Overhaul :

MRO อู่ตะเภา (ซึ่งอยู่ในพื้นที่ EEC) โดยทางรัฐบาลของไทยได้จัดสรรพื้นที่ให้ประมาณ 60 ไร่ ขณะที่บริษัทเองก็ได้เจรจากับพันธมิตรที่จะเข้ามาลงทุนแล้วถึง 3 ราย หากสามารถได้ข้อสรุปกับทางรัฐบาลภายในเดือนนี้ บริษัทก็พร้อมเดินหน้าทันที และคาดว่าจะใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 1 ปี หรือแล้วเสร็จประมาณไตรมาส 3 หรือไตรมาส 4 ปี 2562 นี้

2.ลงทุนอาคารผู้โดยสารสายการบินราคาประหยัด หรือ lowcost terminal ที่สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของรัฐบาลที่มีเป้าหมายระยะยาวว่าอยากให้สนามบินแห่งนี้มีศักยภาพในการรองรับจำนวนผู้โดยสารได้ถึง 30 ล้านคน จากปัจจุบันที่รองรับได้ประมาณ 3 ล้านคน

3.ลงทุนสร้างอาคารสำนักงานและศูนย์ฝึกอบรมนักบินและลูกเรือ บนที่ดิน 19 ไร่ (ย่านดอนเมือง) มูลค่า 1,500 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถลงเสาเข็มได้ประมาณเดือนสิงหาคมนี้ และใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 1 ปีครึ่ง หรือแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2562 นี้เช่นกัน

ตอบโจทย์ “ลดต้นทุน”

“สำหรับโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอู่ตะเภานั้น เรามีโมเดลหลายรูปแบบ อาทิ ให้พันธมิตรเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด หรือเราร่วมลงทุนด้วย ซึ่งหากต้องร่วมลงทุนด้วย เรามองว่าน่าจะประมาณ 10-15% จากมูลค่าการลงทุนทั้งหมดราว 1,500 ล้านบาท โดยทุกแบบเราจะเป็นเจ้าของโครงการ” นายธรรศพลฐ์กล่าว

และว่า หัวใจสำคัญของการลงทุน คือ จะทำข้อตกลงว่า แอร์เอเชียจะเป็นผู้ใช้บริการหลัก เพราะมีฝูงบินในเครือข่ายราว 200 ลำ สิ่งที่แอร์เอเชียจะได้รับประโยชน์อย่างชัดเจน คือ ต้นทุนการซ่อมบำรุงเครื่องบินที่จะลดลงจำนวนมาก เนื่องจากปัจจุบันบริษัทสูญเสียค่าใช้จ่ายด้านซ่อมบำรุง ค่าน้ำมัน และค่าตัวนักบินที่ต้องนำเครื่องบินไปซ่อมบำรุงที่อื่น ซึ่งจะทำให้บริษัทบริหารจัดการต้นทุนได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

เร่ง “ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์” โต

นายธรรศพลฐ์กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับ “ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์” ซึ่งเป็นสายการบินในเครือข่าย (ถือหุ้น 49%) มีเส้นทางบินเพิ่มมากขึ้น เพื่อทำให้สามารถนำเส้นทางบินของไทยแอร์เอเชียและไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ มาเชื่อมต่อ (connecting flight) และใช้บริการ Fly Thru ในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น จากปีที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 4% หรือประมาณ 800,000 คน

“ในส่วนไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์นั้น ปีนี้เรามีเครื่องใหม่เข้ามาเสริม 2 ลำ รวมเป็น 6 ลำ เราจึงมีแผนว่าใน 5 ปีข้างหน้านี้ จะเพิ่มเครื่องบินใหม่ปีละ 5 ลำ พร้อมทั้งเพิ่มความถี่การบินในเส้นทางที่ได้รับการตอบรับดี และเพิ่มเส้นทางใหม่ ๆ จากนั้นจะดูสลอตเวลาการบินให้เส้นทางบินของไทยแอร์เอเชียและไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ เชื่อมต่อกันได้ดียิ่งขึ้น และอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารที่นิยมเดินทางไปกับโลว์คอสต์แอร์ไลน์”

โดยตั้งเป้าว่าภายในปี 5 ปีข้างหน้านี้ เส้นทางบินของไทยแอร์เอเชียและไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ จะมีเที่ยวบิน connecting flight ใช้บริการ Fly Thru ประมาณ 15% หรือราว 2 ล้านคน ซึ่งค่าบริการ Fly Thru ปัจจุบันอยู่ที่คนละ 600 บาท นั่นหมายความว่าหากสามารถเชื่อมต่อเที่ยวบินได้มีประสิทธิภาพขึ้น และมีคนใช้บริการ Fly Thru 2 ล้านคนต่อปี บริษัทจะมีรายได้จากส่วนนี้เพิ่มมากอีกราว 1,200 ล้านบาท

ดัน “สันติสุข” ขึ้นแท่น CEO

นายธรรศพลฐ์กล่าวต่อไปอีกว่า และเพื่อการบริหารงานมีประสิทธิภาพและเดินไปตามแผนดังกล่าว บริษัทจึงได้แต่งตั้ง นายสันติสุข คล่องใช้ยา ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ สายการบินไทยแอร์เอเชีย ขึ้นเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) มีผลตั้งแต่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยที่ตนยังบริหารอยู่ในฐานะประธานกรรมการบริหาร กำกับดูแลนโยบายภาพรวม พร้อมมองหาโอกาสใหม่ ๆ ในการขยายธุรกิจ พร้อมทั้งขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐและร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมการบินต่อไป

ส่วนนโยบายและยุทธศาสตร์หลักของบริษัทจะยังคงมุ่งสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน และเป็นผู้นำในธุรกิจสายการบินภายในประเทศต่อไป จากปัจจุบันที่มีส่วนแบ่งการตลาดเส้นทางภายในประเทศอยู่ที่ 30% ซึ่งเป้าหมายระยะยาวคือ มีส่วนแบ่งการตลาดเส้นทางบินในประเทศให้ได้มากกว่า 50%

Q1 กวาดกำไรกว่า 1 พันล้าน

นายธรรศพลฐ์ยังกล่าวถึงผลประกอบการในไตรมาส 1/2561 ด้วยว่า AAV มีรายได้รวมที่ 11,642.8 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 1,004.1 ล้านบาท ในขณะที่ TAA มีรายได้รวม 11,642.8 ล้านบาท ทำสถิติกำไรสุทธิที่ 1,834.6 ล้านบาท มีอัตราส่วนการขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ร้อยละ 91 เพิ่มขึ้น 2 จุด มีจำนวนขนส่งผู้โดยสารที่ 5.64 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

“ไตรมาส 1 ที่ผ่านมาเป็นช่วงที่เราเดินหน้าตามแผน ตอกย้ำการเป็นผู้นำและสร้างความแข็งแกร่งของตลาดภายในประเทศอย่างเต็มที่ ให้สอดคล้องกับทิศทางและนโยบายรัฐและการท่องเที่ยว

แห่งประเทศไทย และเชื่อว่าจะยังดีต่อเนื่องในไตรมาส 2 โดยปี 2561 นี้ ไทยแอร์เอเชียยังตั้งเป้ายอดผู้โดยสารสูงที่ 23.2 ล้านคน อัตราการขนส่งผู้โดยสารที่ร้อยละ 87 และรับเครื่องบินตลอดปี 7 ลำ จบสิ้นปีด้วยฝูงบินรวม 63 ลำ” นายธรรศพลฐ์กล่าว