สัมปทาน “คิง เพาเวอร์” ดันกำไร ทอท.ปี’64 ทะลุ 5 หมื่นล้าน

เซอร์ไพรส์วงการธุรกิจดิวตี้ฟรีและค้าปลีกหนักมาก สำหรับการประกาศตัวเลขผลตอบแทนขั้นต่ำของสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรีและพื้นที่ค้าปลีกสนามบินสุวรรณภูมิ และดิวตี้ฟรีสนามบินเชียงใหม่, ภูเก็ต และหาดใหญ่ (สงขลา) ที่กลุ่มบริษัท “คิง เพาเวอร์” จ่ายให้กับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. รวม 3 สัญญาถึง 2.35 หมื่นล้านบาทต่อปี

หนุนกำไรปี’64 พุ่ง 5 หมื่นล้าน

แหล่งขาวในวงการดิวตี้ฟรีรายหนึ่งวิเคราะห์ว่า จากตัวเลขสัมปทานทั้ง 3 สัญญาฉบับใหม่ ที่กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ เสนอเป็นค่าตอบแทนให้กับบริษัท ท่าอากาศยานไทย หรือ ทอท. ที่จะมีผลตั้งแต่ 28 กันยายน 2563-31 มีนาคม 2574 ในอัตราขั้นต่ำ (minimum guarantee) ปีแรกที่ 15,419 ล้านบาท (ปรับเพิ่มขึ้นทุกปีตามอัตราการเติบโตของผู้โดยสารและอัตราเงินเฟ้อ)หรือรายเดือนในอัตราร้อยละ 20% ของยอดรายได้จากการประกอบกิจการก่อนหักค่าใช้จ่ายถือเป็นรายได้ที่มีผลโดยตรงต่อการเติบโตของ “กำไร” อย่างชัดเจนของ ทอท. นับตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป

จากงบการเงินปี 2561 ที่ผ่านมา พบว่า ทอท.มีรายได้รวม 62,135 ล้านบาท คิดเป็นกำไร 25,170 ล้านบาท โดยในส่วนของรายได้รวมนั้นแบ่งเป็น รายได้ที่เกี่ยวกับกิจการการบิน (aeronautical revenue) 33,986 ล้านบาท หรือคิดเป็น 56% ของรายได้รวม และรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน (nonaeronautical revenue) 26,551 ล้านบาท หรือคิดเป็น44% ของรายได้รวม

หากประเมินจากการดำเนินงานปกติคาดว่าในปีนี้ ทอท.มีศักยภาพในการทำกำไรได้มากกว่า 25,000 ล้านบาทแน่นอน เพราะจากตัวเลขผลการดำเนินงานในช่วง 6 เดือนแรกที่ผ่านมา (1 ตุลาคม 2561-31 มีนาคม 2562) พบว่า ทอท.มีตัวเลขรายได้สะสมอยู่แล้ว 33,344 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 14,052 ล้านบาท นั่นหมายความว่า ตัวเลขกำไรทั้งปีสำหรับปี 2562 นี้ น่าขยับได้ถึงเกือบ 30,000 ล้านบาท และคาดว่า ในปี 2563 ทอท.น่าจะมีศักยภาพในการทำกำไรได้เกิน 30,000 ล้านบาทได้ไม่ยาก

จากนั้นในปี 2564 ซึ่งเป็นปีแรกที่ ทอท.มีรายได้จากค่าสัมปทานดิวตี้ฟรี 2 สัญญา และพื้นที่เชิงพาณิชย์ 1 สัญญา เข้ามาอีก 23,548 ล้านบาท บวกกับกำไรจากการดำเนินงานปกติ และจากการเปิดให้บริการอาคารแซตเทลไลต์หลังใหม่ จึงคาดว่าจะทำให้ตัวเลข “กำไร” ของ ทอท. เพิ่มเป็นไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นได้อีกเท่าตัวจากปี 2561

ผลตอบแทนเกินคาดหมาย

ขณะที่ “นิตินัย ศิริสมรรถการ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) หรือ AOT กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลตอบแทนจากค่าสัมปทานรวมทั้ง 3 สัญญาในรอบนี้ ถือว่า ทอท.ได้รับผลตอบแทนสูงเกินที่คาดการณ์ไว้ค่อนข้างมาก อีกทั้งยังมีนัยสำคัญต่อผลประกอบการของบริษัทอย่างมาก จากเดิมทีเดียว ทอท.คาดว่าในปี 2562นี้ จะมีรายได้จากค่าสัมปทานทั้ง 3 ส่วนดังกล่าวนี้ ประมาณ 8,400 ล้านบาท และประมาณ 9,000 ล้านบาท หรือเต็มที่คือประมาณ 10,000 ล้านบาท ในปี 2563 แต่สำหรับปี 2564 หลังจากเริ่มสัญญาใหม่รายได้จากค่าสัมปทานทั้ง 3 สัญญา จะปรับขึ้นเป็น 23,548 ล้านบาททันทีซึ่งตามตรรกะแล้วน่าจะส่งผลต่อตัวเลข “รายได้” และ “กำไร” สำหรับปี 2564 อย่างมีนัยสำคัญพอสมควร

รายได้ Aero/Non aero 50:50

และไม่เพียงแต่รายได้จากค่าสัมปทานใหม่ที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีโครงการใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นอีกจำนวนหนึ่ง ทั้งที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจการบินและกิจการที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับกิจการการบิน โดยโครงการใหญ่ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจการบิน คือ การเปิดใช้อาคารแซตเทลไลต์ (เฟส 2 สุวรรณภูมิ) ซึ่งเป็นทรานซิสเทอร์มินอล พื้นที่รวมประมาณ 250,000 ตารางเมตร (ครึ่งหนึ่งของอาคารผู้โดยสารหลังเดิม) ซึ่งก็จะมีส่วนทำให้รายได้ในส่วนของกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับการบินเพิ่มสูงขึ้นอีกราว 20-30% หรือหากสามารถบริหารดีมานด์ได้ดี อาจมีส่วนเพิ่มรายได้ถึงราว 40-50%

ขณะที่กิจการที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับการบินนั้น นอกจากสัมปทานใหม่ดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์แล้ว ยังมีในส่วนของโครงการแอร์พอร์ตซิตี้ หรือแผนจะพัฒนาที่ดินบริเวณโดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิเป็นเชิงพาณิชย์ ซึ่งบางกิจการจะเริ่มสร้างรายได้ตั้งแต่ปี 2564, โครงการตรวจสอบคุณภาพสินค้าเน่าเสียง่ายก่อนส่งออก หรือ Certify Hub, โครงการนวัตกรรมของท่าอากาศยาน หรือ Airport Innovation ในด้านมาตรฐานการบริการของท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง, โครงการดิจิทัลแพลตฟอร์ม ฯลฯ

“นิตินัย” บอกด้วยว่า จากแผนงานดังกล่าวนี้คาดว่าจะทำให้สัดส่วนรายได้ระหว่างกิจการการบิน (aero) และกิจการที่ไม่เกี่ยวกับการบิน (non aero) ในปี 2564 เปลี่ยนเป็น 50:50 จากปัจจุบันที่อยู่ในสัดส่วน 56:44 อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ารายได้จากค่าสัมปทานทั้ง 3 สัญญาใหม่จากกลุ่มคิง เพาเวอร์ จะเป็นตัวขับเคลื่อนตัวเลข “กำไร” ในสัดส่วนที่มากที่สุด เนื่องจากเป็นรายได้ที่ส่งตรงถึงกำไรแบบแทบจะไม่มีค่าใช้จ่าย จะมีบ้างก็เพียงแค่เรื่องภาษีเท่านั้น

ปิดจ็อบสวยงาม-ไร้ข้อกังขา

สำหรับในฟากของกลุ่มบริษัท “คิง เพาเวอร์” นั้น แหล่งข่าวในธุรกิจการเงินรายหนึ่งกล่าวว่า การประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์ในรอบนี้เทกันแบบหมดหน้าตักเพื่อรักษาพื้นที่ธุรกิจเดิมของตัวเองไว้อย่างแท้จริงเพราะจากการเสนอผลตอบแทนขั้นต่ำ (minimum guarantee) รวม 3 สัญญาปีแรกที่ 23,548 ล้านบาทนั้นถือว่าสูงมาก และสูงกว่าอัตราเดิมที่เคยจ่ายมากกว่า 1 เท่าตัวทีเดียว ที่สำคัญ เป็นการเสนอผลตอบแทนที่สูงกว่าคู่แข่งถึงเท่าตัวในทุกสัญญา

กล่าวคือ สัญญาดิวตี้ฟรี สุวรรณภูมิ “คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี” เสนอผลตอบแทนขึ้นต่ำปีแรก 15,419 ล้านบาท ขณะที่รายที่ได้อันดับ 2 คือ กิจการร่วมค้าการบินกรุงเทพ ล็อตเต้ ดิวตี้ฟรี (สุวรรณภูมิ) เสนอผลตอบแทนขั้นต่ำที่ 8,516 ล้านบาท ส่วนสัญญาดิวตี้ฟรี 3 สนามบินภูมิภาคเสนอผลตอบแทนขั้นต่ำที่ 2,331 ล้านบาท ขณะที่รายที่เสนอผลตอบแทนขั้นต่ำเป็นอันดับ 2 คือ กิจการร่วมค้าการบินกรุงเทพ ล็อตเต้ ดิวตี้ฟรี (ท่าอากาศยานภูมิภาค) เสนอผลตอบแทนขั้นต่ำ 2,108 ล้านบาท และสัญญาบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ สุวรรณภูมิ “คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ” เสนอผลตอบแทนขั้นต่ำ 5,798 ล้านบาท

ขณะที่รายที่ได้อันดับ 2 คือ กลุ่มเซ็นทรัลเสนอผลตอบแทนขั้นต่ำที่ 3,003 ล้านบาทเรียกว่าทั้ง 3 สัญญา “คิง เพาเวอร์”ชนะขาดทิ้งคู่แข่งชนิดไม่เห็นฝุ่นในทุกด้าน ทั้งคะแนนด้านเทคนิคและคะแนนด้านผลตอบแทนที่สำคัญยังทำให้ ทอท.เองในฐานะเจ้าของสัมปทานสามารถปิดโปรเจ็กต์ได้แบบสวยงาม ไร้ข้อกังขาในทุก ๆ ประเด็นอีกด้วย…

 

“คิง เพาเวอร์” เทหมดหน้าตัก

กล่าวสำหรับกลุ่ม “คิง เพาเวอร์” นั้น เข้าประมูลสัมปทานครั้งนี้ในนาม 2 บริษัท คือ 1.คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ซึ่งได้รับสัมปทานบริหารพื้นที่ดิวตี้ฟรีสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินในภูมิภาค 3 แห่ง และ 2.คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ ซึ่งรับสัมปทานบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินสุวรรณภูมิ

โดย “คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี” จ่ายค่าสัมปทานขั้นต่ำในปี 2564 รวม 2 สัญญา ที่มูลค่า 17,750 ล้านบาท ขณะที่ “คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ” จ่ายค่าสัมปทานขั้นต่ำในปี 2564 จำนวน 5,798 ล้านบาท

ทั้งนี้ จากรายงานของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด มีรายได้รวมปี 2559 ที่ 32,680.15 ล้านบาทมีกำไรสุทธิ 1,636.93 ล้านบาท ปี 2560 มีรายได้รวม 35,633.72 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,838.12 ล้านบาท

ขณะที่บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด มีรายได้รวมในปี 2559 จำนวน 3,547.75 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,515.63 ล้านบาท ปี 2560 มีรายได้รวม 4,200.27 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 1,764.80 ล้านบาท

แหล่งข่าวในธุรกิจการเงินรายหนึ่งวิเคราะห์ว่า ที่ผ่านมาหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า ตัวเลขผลตอบแทนที่ทาง”คิง เพาเวอร์” จ่ายให้กับ ทอท. จำนวน8,400 ล้านบาท สำหรับปี 2562 และ 9,000 ล้านบาท สำหรับปี 2563 รวมถึงในทุก ๆ ปีที่ผ่านมานั้นถือว่าต่ำมาก

ขณะที่สัญญาใหม่ที่เปิดให้มีการเปิดประมูลและมีการแข่งขัน ทำให้ตัวเลขการจ่ายผลตอบแทนในปี 2564 กระโดดขึ้นมาอยู่ที่ 2.35 หมื่นล้าน

แหล่งข่าวรายเดิมยังให้ข้อมูลอีกว่า สำหรับสัญญาใหม่นี้อาจดูว่าสูงมาก สูงแบบไม่น่าเชื่อว่าจะ “บ้าระห่ำ” ทุ่มกันขนาดนี้ แต่หากประเมินแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงกลุ่มคนไทยที่เดินทางผ่านเข้า-ออกสนามบินสุวรรณภูมิกว่า 50 ล้านคนต่อปี (สถิติปี 2561) ก็ถือว่าไม่ได้สูงเกินจริงมากนัก

และหากสุวรรณภูมิเปิดให้บริการเฟส 2 (อาคารแซตเทลไลต์) ในปี 2564 ซึ่งมีพื้นที่รองรับผู้โดยสาร รวมทั้งพื้นที่ดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นอีก 50% (ด้านซัพพลาย) ก็จะเป็นตัวสำคัญที่ทำให้สนามบินสุวรรณภูมิมีศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวด้วย

ขณะที่ “นิตินัย ศิริสมรรถการ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า เอกสารที่ทางกลุ่มคิง เพาเวอร์ นำเสนอเข้ามาแข่งขันนั้น มีแผนการตลาดและเป้าหมายที่ชัดเจน และเชื่อว่าสามารถทำธุรกิจได้จริง

ที่สำคัญ ทั้งหลายทั้งปวงสำหรับการประมูลรอบนี้เป็นการตอบโจทย์แล้วว่า การประมูลรูปแบบนี้ให้ผลประโยชน์สูงสุดกับทั้งกับองค์กรและประเทศด้วย…