เที่ยวไทยติดหล่ม ‘ค้าเสรี’ ภาครัฐตามไม่ทัน ‘ทุนไทย’ อยู่ยาก

ในปี 2561 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามา 35.28 ล้านคน สร้างรายได้คิดเป็นมูลค่า 2 ล้านล้านบาท และหากย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ในปี 2552 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 14.15 ล้านคน สร้างรายได้คิดเป็นมูลค่า 5.10 แสนล้านบาท

และหากมองในเชิงปริมาณพบว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น 250% และถ้าดูในเชิงมูลค่าพบว่ารายได้จากภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยมีอัตราการเติบโตสูงถึง 400% แต่ก็เป็นการเติบโตท่ามกลางปัญหาและอุปสรรคมากมายของกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทย

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์พิเศษ “สุรวัช อัครวรมาศ” ในฐานะอุปนายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA), เลขาฯสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และหนึ่งในคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ในประเด็นมุมมอง ปัญหา และแนวทางในการบริหารธุรกิจท่องเที่ยวของไทยขณะนี้ไว้ดังนี้

“สุรวัช” บอกว่า ท่ามกลางการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยในช่วงที่ผ่านมา เอกชนท่องเที่ยวโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการที่เป็นคนไทยเสียเปรียบกลุ่มทุนจากต่างชาติมาโดยตลอด ยิ่งมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามา ยิ่งทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่มีเครื่องมือทางการตลาดได้หลากหลายขึ้น สามารถเปลี่ยนแปลง (disruption) ตลาด มีแต้มต่อในการแข่งขัน และยึดครองตลาดแบบเบ็ดเสร็จได้ง่ายขึ้น

ปัญหาใหญ่ของธุรกิจท่องเที่ยวไทยในวันนี้จึงเป็นเรื่องของคนที่ทำธุรกิจแบบถูกต้องอยู่ยาก และที่น่าห่วงคือ บริษัทที่อยู่รอดและโตได้ในเวลานี้ล้วนมีความสัมพันธ์กับบริษัทต่างชาติทั้งสิ้น

ดิจิทัลเทคโนโลยี “ดาบสองคม”

“สุรวัช” ได้ย้อนความถึงพัฒนาการของเทคโนโลยีดิจิทัลที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นด้วยว่ายิ่งทำให้เกิดปัญหาใหม่ ๆ ตามมา เนื่องจากทำให้เมสเซสต่าง ๆ สื่อสารถึงกลุ่มเป้าหมายง่ายและกว้างได้ในเวลาอันรวดเร็ว

อีกทั้งยังทำให้คนหลงเชื่อได้ง่ายขึ้นด้วย ยกตัวอย่างกรณีการทำการตลาดในรูปแบบ “โปรฯไฟไหม้” หรือกรณีของกระบวนการขาย “ทัวร์แช่แข็ง” ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของวงการท่องเที่ยวอยู่ในขณะนี้

ทุกประเด็นที่เกิดขึ้นนี้ล้วนใช้ดิจิทัลออนไลน์มาเป็นเครื่องมือในการสร้างความ “ได้เปรียบ” ทางการตลาดทั้งสิ้น โดยเฉพาะด้านราคา ซึ่งเป็นประเด็นที่สร้างปัญหาของระบบท่องเที่ยวในปัจจุบัน

ติดบ่วงความคิด “การค้าเสรี”

หรือในกรณีของแพลตฟอร์มออนไลน์ท่องเที่ยวข้ามชาติ ไม่ว่าจะเป็นอโกด้า, บุ๊คกิ้งดอทคอม, เอ็กซ์พีเดีย, ทราเวลโลก้า ฯลฯ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการจองโรงแรม ที่พัก ตั๋วเครื่องบิน รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่ล้วนเข้ามาสร้างปัญหาให้กับธุรกิจท่องเที่ยวไทยอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และที่น่าตกใจ คือ ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยตกเป็น “ทาส” ของแพลตฟอร์มเหล่านี้ไปเรียบร้อยแล้ว

จึงมองว่าประเด็นนี้ภาครัฐควรช่วยดูแลปกป้องให้ธุรกิจคนไทยอยู่รอดด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อเป็นแพลตฟอร์มกลางสำหรับเป็นช่องทางขายสินค้าและบริการของไทย พร้อมทั้งให้เสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการไทยที่เข้าร่วม และรัฐเป็นผู้สนับสนุนอยู่ข้างหลัง ที่สำคัญต้องดูแลให้ดาต้าเบสทั้งหมดอยู่ในประเทศ ไม่หลุดไปอยู่ในมือของต่างชาติด้วย

“ผมเน้นว่าเรื่องนี้รัฐควรเข้ามาช่วยผู้ประกอบการโดยเร็ว ไม่เช่นนั้นธุรกิจไทยจะอยู่ไม่ได้ ตายหมด และเลิกมองว่าเป็นเรื่องของระบบการค้าเสรีได้แล้ว”

ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าระบบ “การค้าเสรี” ก็ควรมีกรอบ กติกา ที่ทำให้ธุรกิจสามารถเดินไปได้ทั้งระบบ และ
ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้งด้วย ไม่ใช่เสรีแบบไทย ๆ ที่เอื้อให้ทุนใหญ่หรือทุนต่างชาติมองหาโอกาสและฉวยประโยชน์โดยอ้างระบบการค้าเสรีของเมืองไทย

ยกตัวอย่างสิงคโปร์ที่มีระบบการค้าแบบเสรีเหมือนกัน แต่เขาควบคุมได้ทั้งเรื่องการก่อสร้าง ปริมาณห้องพัก ฯลฯ หรือแม้แต่สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นต้นแบบของระบบการค้าเสรี วันนี้ต้องถามว่าเรายังมองว่าอเมริกายังเสรีอยู่หรือไม่ ?

“ตอนนี้มีคนใช้ความได้เปรียบในความเป็นทุนขนาดใหญ่กินรวบตลาด ทำทุกอย่างครบวงจร ตั้งแต่บริษัทขายทัวร์ รถเช่า ร้านจิวเวลรี่ ฯลฯ แบบนี้ผมว่าไม่ใช่การค้าเสรี เพราะปรัชญาที่ดีของธุรกิจท่องเที่ยว คือ รายได้ต้องกระจาย ไม่กระจุก”

ธุรกิจโต-ระเบียบรัฐตามไม่ทัน

“สุรวัช” ยังบอกอีกว่า ประเด็นสำคัญที่สร้างปัญหาให้กับธุรกิจท่องเที่ยวของไทยอีกเรื่องหนึ่ง คือ กฎ ระเบียบของภาครัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแลเดินตามไม่ทัน ยกตัวอย่างชัด ๆ คือ หลักการเข้าสู่ธุรกิจท่องเที่ยวของไทยนั้นง่ายเกินไป ใคร ๆ ก็ทำธุรกิจท่องเที่ยวได้ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล สามารถไปขอไลเซนส์กับกรมการท่องเที่ยวโดยมีค่าใช้จ่ายแค่ 1 หมื่นบาท สำหรับวางเป็นหลักประกันก็ทำทัวร์ในระดับท้องถิ่นได้แล้ว

หรือวางเงินประกัน 5 หมื่นสำหรับทำทัวร์ภายในประเทศ วางเงิน 1 แสนบาทสำหรับตลาดอินบาวนด์ และ 2 แสนบาทสำหรับตลาดเอาต์บาวนด์ เกณฑ์วางเงินหลักประกันดังกล่าวนี้ “สุรวัช” บอกว่า เป็นอัตราที่กำหนดโดย พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2535 กระทั่งปัจจุบันก็ยังคงใช้อยู่

“ส่วนตัวผมมองว่าเราควรปรับจำนวนเงินวางหลักประกันให้สูงขึ้นกว่านี้ และอยากให้เพิ่มประเภทของผู้ประกอบการให้มีกลุ่มธุรกิจโฮลเซลด้วย โดยกำหนดให้โฮลเซลวางหลักประกันในอัตราที่สูง และต้องมีส่วนรับผิดชอบนักท่องเที่ยวด้วย”

ในบางประเทศให้คืนเงินหลักประกันบางส่วนหลังประกอบกิจการไประยะหนึ่ง เช่น ไต้หวัน เขามีเกณฑ์คืนเงินวางหลักประกันถึงร้อยละ 90 หลังประกอบกิจการไป 2 ปี โดยตั้งสมาคม The Travel Quality Assurance
Association หรือ TQAA มารองรับ

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของมาตรฐานด้วย เนื่องจากกฎหมายได้ระบุว่า ถ้าคนที่มายื่นขอจดทะเบียนมีเอกสารครบ ก็จดทะเบียนได้ ไม่มีระบบการคัดกรองหรือตรวจสอบที่ดี ซึ่งเอื้อให้วงจรธุรกิจท่องเที่ยวของไทยในปัจจุบันมี “นอมินี” เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก

แนะปลดล็อก “ภาษี” ซ้ำซ้อน

“สุรวัช” ยังเสริมอีกว่า อีกปัญหาหนึ่งที่พูดคุยกันมานานและอยากให้รัฐพิจารณาโดยเร็วคือ เรื่องภาษีส่งออก
บริการ เพราะท่องเที่ยวเป็นธุรกิจส่งออกบริการและดึงเงินเข้าประเทศ ซึ่งในกฎหมายของสรรพากรก็มีคำว่า “ส่งออกบริการ” ด้วย

ดังนั้น รัฐควรต้องดูแลเอกชนด้วยการช่วยลดต้นทุนด้านภาษีแวต คือสามารถเคลมคืนได้เช่นเดียวกับธุรกิจส่งออกอื่น ๆ เพราะวงจรธุรกิจท่องเที่ยวเรามีภาษีแต่ไม่สามารถเอาใบเสร็จมาเคลมคืนภาษีได้ เพราะโรงแรมของไทยกว่า 70% เป็นโรงแรมผิดกฎหมาย

“บริษัททัวร์เป็นเหมือนตัวกลางประสานงาน รายได้ที่เข้ามาถูกกระจายไปยังธุรกิจอื่น ๆ หมด ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม, ร้านอาหาร, รถนำเที่ยว ฯลฯ เหลือเป็นรายได้จริงไม่เกิน 10% เท่านั้น การช่วยลดต้นทุนด้านภาษีจะทำให้ผู้ประกอบการที่ทำธูรกิจถูกต้องอยู่รอดได้มากขึ้น”

ที่สำคัญ นอกจากจะช่วยลดต้นทุนให้เอกชนแล้ว ยังเป็นมาตรการที่จูงใจให้ผู้ประกอบการไปขึ้นทะเบียนกับรัฐเองโดยที่รัฐไม่ต้องไปไล่ตรวจจับบริษัทที่ทำธุรกิจไม่ถูกต้องให้เสียภาพลักษณ์ของประเทศด้วย

หวั่นทุนต่างชาติยึดทั้งวงจร

ต่อคำถามที่ว่า สิ่งที่ท้ายที่สุดในการบริหารจัดการธุรกิจท่องเที่ยวในยุคนี้คืออะไร “สุรวัช” บอกว่า มี 2 เรื่องใหญ่ ๆ คือ การมาของทุนต่างชาติและแรงงานต่างชาติ ประเด็นนี้อยากให้ภาครัฐกำหนดกรอบให้ทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนนั้นต้องร่วมทุนกับกลุ่มคนไทย ไม่ใช่ปล่อยให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนและบริหารจัดการเองทั้งหมด เพราะส่วนใหญ่ต่างชาติจะมองเรื่องผลตอบแทนจากการลงทุน ไม่มองเรื่องสังคม สภาพแวดล้อม

พร้อมย้ำว่า ประเด็นปัญหาทั้งหมดที่พูดถึงนี้ล้วนเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงทั้งสิ้น เพราะท้ายที่สุดล้วนทำให้ธุรกิจคนไทยเสียเปรียบและไม่สามารถแข่งขันได้ เพราะต้นทุนการแข่งขันไม่ได้อยู่บนพื้นฐานเดียวกันนั่นเอง…