ท่องเที่ยวทรุดทั้งระบบ จี้รัฐอัดยาแรงปลุกไฮซีซั่น

สงครามการค้า-เงินบาท พ่นพิษ ธุรกิจท่องเที่ยวทรุดทั้งระบบ “ธรรศพลฐ์” บิ๊กไทยแอร์เอเชีย ยอมรับหนักสุด ๆ ไร้ปัจจัยบวก ชี้ “สายการบิน-โรงแรม-บริษัททัวร์” แห่เล่นสงครามราคาเจ็บตัวระนาว กระตุ้นรัฐอัดยาแรงชุดใหญ่ไฮซีซั่นปลายปี รถทัวร์นำเที่ยวสาหัสสุดใน 10 ปี คาดรถบัสหมื่นคันจอดนิ่ง กลุ่มอิตัลไทยชี้ ศก.ชะลอ ตลาดลักเซอรี่ “แมนดาริน โอเรียนเต็ล” โดนหนัก ผลประกอบการ Q 2/62 สายการบิน-โรงแรมขาดทุนยับ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากปัญหาสงครามการค้าของสหรัฐและจีนที่ลากยาว รวมถึงปัญหาเงินบาทแข็งค่าขึ้นในปีนี้ กำลังเป็นปัจจัยลบที่เขย่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยอย่างหนัก

ท่องเที่ยวทรุดทั้งระบบ

นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย เปิดเผยว่า ขณะนี้ทุกภาคส่วนในธุรกิจท่องเที่ยวของไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักในทุก ๆ เซ็กเตอร์ ทั้งสายการบิน โรงแรม บริษัททัวร์ ร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึก รวมถึงธุรกิจรีเทล ขณะที่ยังมองไม่เห็นปัจจัยบวกที่จะเข้ามาช่วยกระตุ้นให้ภาคตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยเดินหน้าต่อไปได้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ทุกฝ่ายประเมินว่า ปี 2562 จะเป็นปีที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยทรุดทั้งระบบ และที่น่าเป็นห่วงคือทุกเซ็กเตอร์หันมาเล่นสงครามราคากันอย่างหนัก โดยในส่วนไทยแอร์เอเชีย จากนี้ก็มีนโยบายทำแคมเปญโปรโมชั่นอย่างหนักเช่นกัน และคาดว่าจะลากยาวไปจนถึงช่วงไฮซีซั่นปลายปีด้วย

ไทยแอร์เอเชียอยากเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกระตุ้นการเดินทางของทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ อาทิ ซื้อ 2-3 เส้นทางจะได้ราคาที่ดีขึ้น หรือจองเที่ยวบินมาไทยต่อไปประเทศอื่นก็จะได้ราคาที่ดี โดยเฉพาะเส้นทางในอาเซียน

“ทุกคนหันมาเล่นเรื่องราคา สุดท้ายเจ็บตัวกันหมด ส่วนตัวผมว่าภาครัฐต้องมากำกับดูแลในหลาย ๆ ประเด็น โดยเฉพาะรายที่ขายตั๋วโดยสารต่ำกว่าราคาทุน ควรไปดูว่าผู้ประกอบการที่เล่นราคาขายต่ำกว่าทุนตลอดนั้นเอาเงินมาจากไหน หรือสายการบินไหนที่ทำการค้าแบบมีนัยอย่างอื่นก็ไม่ควรให้อยู่ป่วนตลาดต่อไป” นายธรรศพลฐ์กล่าว

แอร์เอเชียหนุนอัดยาแรง

นายธรรศพลฐ์กล่าวว่าขณะนี้ทั้งสายการบิน และโรงแรมอัดโปรโมชั่นกันหนักต่อเนื่องอยู่แล้ว แต่ก็ยังไม่มีพลังมากพอที่จะกระตุ้นตลาดและความเชื่อมั่นได้ ในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ ทั้งกระทรวงการท่องเที่ยวฯ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ต้องออกแรงช่วยกันกระตุ้นอย่างหนัก เพื่อให้เกิดอิมแพ็กต์ทั้งระบบ อาทิ ประกาศนโยบายฟรีวีซ่า (สำหรับประเทศที่ยังต้องขอวีซ่า) จากเดิมที่ให้ฟรีค่าธรรมเนียมวีซ่า ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง, เพิ่มอัตราการคืนแวตรีฟันด์ให้นักท่องเที่ยวที่มีการจับจ่าย2-3 หมื่นบาทขึ้นไป เช่นเพิ่มเป็น 10% จากปกติ 7% ได้หรือไม่ หรือเจรจากับบริษัทท่าอากาศยานไทย ให้ปรับลดค่าภาษีสนามบิน เป็นต้น เพื่อให้นักท่องเที่ยวมีค่าใช้จ่ายที่ลดลง และรู้สึกว่ามาเที่ยวไทยแล้วคุ้มค่า ท่ามกลางกระแสเงินบาทที่ยังแข็งค่าต่อเนื่อง

“เรื่องนี้ต้องมีคนนั่งหัวโต๊ะเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ออกเป็นนโยบายกระตุ้นเร่งด่วน ระยะสั้น 3 เดือน หรือ 6 เดือน เพื่อทดลองดูผลตอบรับก่อนก็ได้ ผมว่าต้องทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติรู้สึกว่าประเทศไทยตั้งใจทำให้เขาจริง ๆ ไม่ใช่ออกมาตรการมา 2-3 ข้อ ต้องจัดชุดใหญ่ ใช้ยาแรง ที่สำคัญ ต้องกระตุ้นให้ทันช่วงไฮซีซั่นนี้ด้วย” นายธรรศพลฐ์กล่าว

วอนทุกส่วนผนึกพลังแก้ปัญหา

นายธรรศพลฐ์กล่าวต่อไปอีกว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ธุรกิจหยุดชะงักในหลายส่วน สำหรับไทยแอร์เอเชียเองก็อยู่ระหว่างการทบทวนแผนบางส่วนเช่นกัน คาดว่าจะสรุปได้เร็ว ๆ นี้

ส่วนภาพรวมทั้งปีจะยังสามารถรักษารายได้เท่าปีที่ผ่านมาหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการประกาศนโยบายกระตุ้นของภาครัฐในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ด้วย

“อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยประสบปัญหามาเป็นระยะ ไม่ว่าจะเป็นจากเหตุการณ์สึนามิ, การชุมนุมของเสื้อเหลือง-เสื้อแดง, น้ำท่วมใหญ่, การปฏิวัติ ฯลฯ แต่ก็พิสูจน์แล้วว่าทุกครั้งเมื่อเกิดเหตุ หากทุกภาคส่วนช่วยกันสุดท้ายจะทำให้ก้าวข้ามไปได้ เช่น ตอนเกิดสึนามึ โรงแรมที่ภูเก็ตทำแคมเปญโรงแรมราคาเดียวทั้งเกาะก็ได้รับการตอบรับที่ดี ดังนั้น ครั้งนี้ทุกสมาคมไม่ว่าจะเป็นสมาคมท่องเที่ยว, สมาคมโรงแรม ฯลฯ ควรจับมือและช่วยกันกระตุ้น หากใครทำอะไรและอยากให้กลุ่มแอร์เอเชียสนับสนุน ผมพร้อมตลอดเวลา”

ใช้รถทัวร์ลดลงกว่า 50%

ดร.วสุเชษฐ์ โสภณเสถียร นายกสมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไป (สปข.) รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยรวมขณะนี้อยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วงมาก จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2561 ขณะที่การเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวภายในประเทศก็ปรับตัวลดลง บวกกับการชะลอการเดินทางขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ภาพรวมการใช้บริการรถทัวร์โดยสารสาธารณะหายไปไม่น้อยกว่า 50% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

โดยในส่วนของตลาดอินบาวนด์ (ต่างชาติเที่ยวไทย) พบว่า การใช้รถทัวร์ลดลงประมาณ 30% ขณะที่ตลาดทัวร์ไทยเที่ยวไทยลดลง 50-60% และตลาดเดินทางดูงานของภาครัฐและองค์กรส่วนท้องถิ่นหายไปราว 70-80% รวมถึงรถที่ใช้ภาคอุตสาหกรรมลดลงกว่า 30%

“ความต้องการใช้รถทัวร์สาธารณะลดลง ส่วนหนึ่งมาจากรูปแบบของการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป นักท่องเที่ยวเปลี่ยนจากเดินทางเป็นกรุ๊ปทัวร์มาเป็นเดินทางด้วยตัวเอง หรือเอฟไอทีรวมทั้งมีรถป้ายดำ รถส่วนตัวเข้ามาสู่ระบบของธุรกิจท่องเที่ยว เพื่อรองรับกลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง” ดร.วสุเชษฐ์กล่าว

รถทัวร์จอดนิ่ง ๆ หมื่นคัน

ดร.วสุเชษฐ์กล่าวต่อว่า ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต่างประเมินว่า ปีนี้เป็นปีที่หนักสุดในรอบ 10 ปี ขณะที่ซัพพลายในทุก ๆ เซ็กเตอร์เกิดภาวะล้นตลาด ทำให้การเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยรวมเกิดภาวะชะลอตัว

“ไม่เพียงแค่ธุรกิจสายการบิน บริษัทนำเที่ยว โรงแรมเท่านั้น ที่แห่เล่นกลยุทธ์ราคากันหนัก ในสาขาบริการรถนำเที่ยวก็แข่งราคากันหนักเช่นกัน ทุกคนต้องการเงินมาหมุน ดังนั้น หากสถานการณ์เป็นแบบนี้ ภาครัฐยังไม่อัดยาแรงช่วย คาดว่าภายในสิ้นปีนี้น่าจะมีรถโดยสารสาธารณะไม่มีงาน และจอดนิ่ง ๆ ไม่ต่ำกว่า 20-30% หรือประมาณ 1 หมื่นคัน และคาดว่าจะเป็นเอ็นพีแอลอีกไม่ต่ำกว่า 5,000-6,000 คัน จากจำนวนรถที่มีอยู่ในตลาดทั้งหมดราว 4 หมื่นคันทั่วประเทศ”

กระทบโรงแรมทุกเซ็กเมนต์

ขณะที่แหล่งข่าวในธุรกิจโรงแรมรายหนึ่งกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คนในธุรกิจท่องเที่ยวคาดการณ์กันว่า ภาพรวมเศรษฐกิจของไทยในช่วงครึ่งปีหลังนี้จะยิ่งแย่กว่าครึ่งปีแรกที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจัยลบเรื่องค่าเงินบาท และประเด็นสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐที่ทวีความรุนแรง และยังลามไปยังประเทศอื่น ๆ มากขึ้น

“ตอนนี้ทุกคนควรเลิกหลอกตัวเองได้แล้วว่ายังมีผลประกอบการที่ดี เพราะทุกธุรกิจเกี่ยวเนื่องของวงจรธุรกิจท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นบริษัทนำเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร ร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึก ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น ในส่วนของธุรกิจโรงแรมก็ได้รับผลกระทบในทุกเซ็กเมนต์ ที่สำคัญ ยังคงเล่นสงครามราคากันอย่างหนัก เช่นเดียวกับเซ็กเตอร์อื่น ๆ”

อิตัลไทยตั้งรับปัญหาลากยาว

นายยุทธชัย จรณะจิตต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท อิตัลไทย จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้เศรษฐกิจอยู่ในทิศทางขาลงมาก ๆ และจะต่อเนื่องถึงปีหน้า ซึ่งเป็นผลกระทบไปทั้งโลกจากปัญหาเทรดวอร์ แม้ว่าที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดดอกเบี้ยลงไป 0.25% ก็ไม่ทำให้เกิดความตื่นเต้น หรือจะอยากจะกู้เงินลงทุนเพิ่ม อย่างไรก็ตาม ในส่วนของอิตัลไทย แผนลงทุนที่วางไว้ก็ยังเดินต่อ ไม่ได้ชะงัก เพราะมองว่าในภาวะที่ตลาดชะลอตัวก็เป็นจังหวะที่ดีในการลงทุน แต่ก็ไม่ทำมากกว่าที่วางแผนไว้

“ผมมองว่าประเทศไทยโดนผลกระทบจริง ๆ จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และที่กระทบ hospitality ชัดเจนคือเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง ทำให้การค้าขายของกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวแย่ลง เพราะต่างชาติต้องจ่ายมากขึ้น การจะไปดึงลูกค้าฝั่งยุโรป อเมริกามาก็ยากขึ้น ตอนนี้ผมก็ประชุมกลุ่มธุรกิจโรงแรมว่า ต้องหันไปจับตลาดอินเดีย ต้องไปจับตลาดภูมิภาคที่พอมีกำลังซื้อ เพราะตอนนี้ตลาดใหญ่ที่สุด คือ จีน มีปัญหา เราก็ต้องไปหาตลาดอื่น”

“โอเรียนเต็ล” โดนหนัก

นายยุทธชัยกล่าวว่าในส่วนของบริษัทที่มีโรงแรมในหลายระดับทั้ง อมารี, Ozo แต่ที่ถือว่าโดนผลกระทบหนักสุดก็คือ โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล เพราะเวลาเศรษฐกิจชะลอตัว กลุ่มสินค้าบริการ luxury sector จะได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มแรก ๆ เพราะคนที่มีเงินก็ไม่อยากใช้เงิน แบบเลื่อนไปก่อน หรือใช้ของถูกหน่อย แต่ในโชคร้ายก็ยังเป็นความโชคดี ที่ตอนนี้ทางโอเรียนเต็ลอยู่ในช่วงที่ปรับปรุงพอดี

นายยุทธชัยย้ำว่า อิตัลไทยยังลงทุนต่อเนื่อง แม้สภาพแวดล้อมเรื่องของการค้าขายอาจไม่เอื้ออำนวย และสภาวะที่เกิดขึ้นก็บังคับให้ต้องมองทุกอย่างให้ละเอียดขึ้น การทำงานต่อไปก็ไม่ง่ายเหมือนที่เคยเป็น ต้องละเอียดรอบคอบ ระมัดระวัง หาวิธีใหม่ในการลดต้นทุน ลดคน เพื่อให้รอดในช่วงเศรษฐกิจขาลงที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า

รร.-แอร์ไลน์ขาดทุนถ้วนหน้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่ผลประกอบการไตรมาส 2/2562 ของกลุ่มหุ้นธุรกิจโรงแรมและสายการบินที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่าส่วนใหญ่มีผลประกอบการขาดทุนมากขึ้น หรือมีกำไรลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อาทิ การบินไทย ขาดทุนสุทธิ 6,754.19 ล้านบาท ไทยแอร์เอเชีย ขาดทุนสุทธิ 482.47 ล้านบาท นกแอร์ ขาดทุนสุทธิ 674.12 ล้านบาท เป็นต้น

“บินไทย” บาดเจ็บหนัก

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย เปิดเผยว่า ปัจจัยค่าเงินบาทแข็งค่าส่งผลอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมการบิน ทำให้หลายสายการบินมีรายได้ลดลง ขณะที่รายจ่ายคงเดิม โดยเฉพาะการบินไทยที่มีเส้นทางระหว่างประเทศมากถึง 95% แหล่งรายได้จึงต้องผันมาจากเงินตราต่างประเทศเกือบทั้งหมด

“สถานการณ์ที่ยากลำบากในปีนี้เกิดจากปัจจัยที่ไม่มีใครคาดการณ์ได้ เราก็ไม่คิดว่าจะต้องขาดทุนมากขนาดนี้ ถือเป็นคลื่นลมที่หนักหน่วง สำหรับเพื่อน ๆ ที่ยืนขาแข็งแรงแล้วก็อาจบาดเจ็บน้อยหน่อย แต่การบินไทยที่เหมือนกับจมอยู่ในโคลนตมแล้วครึ่งตัวจึงได้รับบาดเจ็บมากกว่าคนอื่น”

อุตสาหกรรมการบินในช่วงปลายปีนี้ก็คาดว่าคงไม่ต่างกับช่วงที่ผ่านมามากนัก แต่น่าจะมีสัญญาณที่ดีขึ้นจากการเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวและการส่งสัญญาณบางอย่างของรัฐบาลเกี่ยวกับการลดอัตราดอกเบี้ยที่น่าจะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้ในอนาคต เพราะตราบใดที่รัฐบาลยังไม่ขยับกลไกการเงิน ผู้ประกอบการสายการบินและผู้ประกอบการส่งออกทั้งหมดก็จะได้รับผลกระทบต่อไป

ส่วนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวนั้น แม้ตัวเลขจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) แสดงว่า จำนวนนักท่องเที่ยวยังคงเพิ่มขึ้น แต่หากนำมาพิจารณารายหมวดจะเห็นว่า นักท่องเที่ยวทางอากาศบางเดือนลดลงจากปีก่อนจนเห็นได้ชัด ทำให้ภาพรวมของการท่องเที่ยวก็อาจจะไม่ดีนัก โดยเฉพาะประเทศจีนที่ลดลงแน่นอนจากค่าเงินหยวนที่อ่อนเสริมกำลังกับค่าเงินบาทที่แข็ง

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!