“บริษัททัวร์” เร่งรัฐบาลประกาศปิดธุรกิจเกี่ยวเนื่องท่องเที่ยวทั้งระบบ

นางมิ่งขวัญ เมธเมาลี ประธานสมาคมท่องเที่ยวอาเซียน (ASEANTA : ASEAN Tourism Association)

บริษัททัวร์เร่งภาครัฐเยียวยาหลังร่อนจดหมายให้ผู้ประกอบการนำเที่ยวงดจัดรายการนำเที่ยวทั้งในประเทศ-ต่างประเทศระหว่างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ส่งผลธุรกิจปิดตัวชั่วคราวกันระนาว แต่รัฐไม่มีมาตรการเยียวยาว พร้อมเสนอรัฐประกาศสั่งปิดธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวทั้งระบบเช่นเดียวกับกลุ่มธุรกิจโรงแรม สปา หรือออกมาตรการช่วยเหลือจ่ายเงินเดือน-ค่าจ้างพนักงานลูกจ้าง 62% ของเงินเดือนระยะเวลา 3 เดือน

นางสาวมิ่งขวัญ เมธเมาลี กรรมการผู้จัดการ IMAGE D’ASIE ผู้นำทัวร์อินบาวนด์ในตลาดยุโรปมากกว่า 20 ปี และในฐานะตัวแทนของกลุ่มผู้ประกอบการนำเที่ยวอินบาวนด์ (ขาเข้า) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามที่สำนักงานทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ กรมการท่องเที่ยว กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ได้มีหนังสือลงวันที่ 27 มีนาคม 2563 ถึงนายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยวขอความร่วมมืองดจัดรายการนำเที่ยวใน ระหว่างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ทำให้บริษัทนำเที่ยวจำเป็นต้องปิดกิจการชั่วคราวโดยปริยาย แต่บริษัทนำเที่ยวกลับไม่ได้รับการดูแลเยียวยา

ที่สำคัญพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากประกาศดังกล่าวก็ไม่สามารถเข้าเกณฑ์ขอรับเงินชดเชยจากสำนักประกันสังคมได้ ขณะที่ผู้ประกอบการทั้งหมดต้องแบกรับภาระต้นทุนค่าจ้างพนักงานไว้ตามนโยบายของรัฐบาลที่ไม่ต้องการให้พนักงานถูกเลิกจ้างงาน

นางสาวมิ่งขวัญกล่าวว่า บริษัทนำเที่ยวเป็นหนึ่งในห่วงโซ่ธุรกิจของการท่องเที่ยวที่สำคัญ ที่เชื่อมโยงไปยังผู้ประกอบการรายย่อยอีกจานวนมากที่นอกเหนือจากธุรกิจโรงแรม, มัคคุเทศก์ หรือ สปา เท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงไปยังธุรกิจรายย่อยอีกจำนวนมากนับหมื่นๆรายทั่วประเทศ อาทิเช่น ผู้ประกอบการทัวร์ในพื้นที่ในจังหวัดต่างๆ, ธุรกิจรถเช่า, ธุรกิจเรือเช่า, ร้านจำหน่ายของที่ระลึก , สถานนันทนาการ และผู้รับจ้างรายย่อยๆ อีกมาก เช่น คนถ่ายรูป, คนให้เช่าชุดแต่งกาย, คนขายเสื้อยืด เป็นต้น ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวโดยตรง และยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือกับธุรกิจเหล่านี้ การที่ผู้ประกอบการยังคงจัดรายการนำเที่ยวนั้นเป็นความพยายามเพื่อ การอยู่รอดของตนเอง เพราะยังมีพนักงานลูกจ้างที่อยู่ในความรับผิดชอบ หากจะปิดกิจการชั่วคราวก็จะต้องรับผิดชอบจ่ายเงินเดือน 75% ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งไม่สามารถดำเนินการได้เพราะไม่มีรายได้เพียงพอเนื่องจากขาดรายได้จากสถานการณ์

ดังนั้น เพื่อความอยู่รอดบริษัทนำเที่ยวจึงได้จัดรายการนำเที่ยว แต่ทางราชการขอความร่วมมืองดจัดรายการนำเที่ยว โดยไม่ช่วยเหลือรับผิดชอบภาระค่าใช้จ่ายแต่อย่างใดให้กับธุรกิจเหล่านี้ นับว่าไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง ด้วยปัจจุบันบริษัทนำเที่ยวและกลุ่มธุรกิจห่วงโซ่ทางการท่องเที่ยวยังไม่ได้รับมาตรการช่วยเหลือแต่อย่างใด ซึ่งเป็นธุรกิจรายย่อยมากๆ จึงอาจทำให้รัฐบาลมองข้ามไป

อย่างไรก็ตาม เป็นที่เข้าใจเป็นอย่างดีว่าในสถานะการณ์โรคระบาดของไวรัส Covid-19 การจัดรายการนำเที่ยวจะทำให้เกิดการรวมตัวของคน และมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอาจจะเป็นอุปสรรคในการป้องกันการแพร่เชื้อ Covid-19 ได้ ดังนั้นจากปัญหาของบริษัทนำเที่ยวและผู้ประกอบรายย่อยที่เป็นหว่งโซ่ของธุรกิจท่องเที่ยวทั้งหมดที่นอกเหนือจากธุรกิจโรงแรมและสปาได้รับความเดือดร้อนกับมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อ Covid-19

ดังนั้น จึงใคร่ขอเสนอให้รัฐบาลพิจารณาช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจที่เป็นห่วงโซ่ของการท่องเที่ยวทั้งหมดที่ยังไม่ได้รับการพิจารณาช่วยเหลือ ดังนี้ 1. ขอให้รัฐบาลสั่งปิดธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวทั้งหมด นอกเหนือจากที่ได้ดำเนินไปแล้วกับกลุ่มธุรกิจโรงแรม, กลุ่มธุรกิจสปา เนื่องจากเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยวซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยง และเป็นธุรกิจรวมคนทำให้เกิดการเคลื่อนไหว ทำให้เกิดภาวะเสี่ยงในการแพร่เชื้อไวรัส Covid-19 ได้

แฟ้มภาพ : MLADEN ANTONOV/AFP via Getty Images

และเมื่อรัฐบาลสั่งปิดพนักงานลูกจ้างของกลุ่มธุรกิจเหล่านี้จะสามารถได้รับเงินชดเชย 62% ของอัตราเงินเดือนที่ได้รับเป็นเวลา 3 เดือน หรือ 2. กรณีไม่สั่งปิดกิจการชั่วคราว ขอให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือจ่ายเงินเดือน และค่าจ้างของพนักงานลูกจ้าง 62% ของเงินเดือนระยะเวลา 3 เดือน หรือผู้รับจ้าง (ในกรณีที่บางรายเป็นผู้รับจ้างโดยตรงไม่มีพนักงานลูกจ้าง) ช่วยเหลือเดือนละ 9,000 บาทเป็นระยะเวลา 3 เดือน 3. ให้รัฐบาลสั่งให้บริษัทนำเที่ยว หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่ต้องจ่ายภาษี และประกันสังคมเป็นเวลา 6 เดือน

และ 4. สำหรับตัวผู้ประกอบการเองในระหว่างที่ไม่มีรายได้ ให้ได้รับมาตรการช่วยเหลือ เงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ ตามมาตรการช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ของธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ เพื่อให้ภาครัฐพิจารณามาตรการช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยวรายย่อยทั้งหมดโดยเร่งด่วน

“เรารับรู้มาตลอดว่าทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท., กระทรวงการท่องเที่ยวฯ รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมีความพยายามในการพิจารณาช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวอยู่ แต่ที่ระยะเวลาที่ผ่านมามันนานเหลือไปแล้ว ผู้ประกอบการได้ผลกระทบกันมาหลายเดือนแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ยังขาดความหวัง ในฐานะที่เป็นตัวแทนของกลุ่มผู้ประกอบการบริษัททัวร์จึงอยากทราบว่าภาครัฐจะดำเนินการพิจารณาในประเด็นดังกล่าวนี้เมื่อไหร่” นางสาวมิ่งขวัญกล่าวปิดท้าย