ศุภฤกษ์ ศูรางกูร ชี้ “กำลังซื้อ” สึนามิลูกใหม่เที่ยวไทย

นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่รัฐบาลประกาศเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องการเข้ามาพำนักในประเทศไทยระยะยาว (longstay) ด้วยวีซ่ารูปแบบที่เรียกว่าspecial tourist visa หรือ STVภายใต้เงื่อนไขการกักตัวในห้องพัก14 วัน ตามมาตรฐานของ ศบค. และกระทรวงสาธารณสุข เช่นเดียวกับกรณีของคนไทยที่เดินทางกลับเข้าประเทศ

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์พิเศษ “ศุภฤกษ์ ศูรางกูร” ประธานบริษัท หนุ่มสาวทัวร์ จำกัด และเจ้าของ “เซเรนนาต้า โฮเทลส์ แอนด์ รีสอร์ท กรุ๊ป” นายกสมาคมการค้าธุรกิจที่พักบูติคไทย, อดีตนายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA), อดีตนายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) ถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดจากไวรัสโควิด-19 และทิศทางการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย รวมถึงข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ไว้ดังนี้

“ไทยเที่ยวไทย” ทดแทนไม่ได้

“ศุภฤกษ์” บอกว่า วิกฤตครั้งนี้หนักหนาสาหัสมาก นักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งเป็นตลาดหลักของภาคการท่องเที่ยวของไทยมีจำนวนเป็นศูนย์ต่อเนื่องมา 6-7 เดือน ขณะที่ตลาดคนไทย หรือคนไทยเที่ยวในประเทศนั้นกระตุ้นอย่างไรก็ไม่สามารถทดแทนได้ แต่ก็ช่วยให้ทุกคนที่กลับมาเปิดให้บริการพอมีรายได้เข้ามาเลี้ยงพนักงานบางส่วนได้และทำให้ตัวเลข “ขาดทุน” ลดลงไปบ้างเท่านั้น

ทั้งนี้ เนื่องจากซัพพลายกว่า70-80% ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับตลาดต่างชาติเป็นหลัก ยกตัวอย่างโรงแรม 20 แห่งในเครือของ”เซเรนนาต้า” นั้นกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ ทั้งในกรุงเทพฯ กาญจนบุรี เกาะช้าง หัวหิน ภูเก็ต เกาะสมุย เกาะยาว สุโขทัย ลำปาง เชียงใหม่ เชียงราย โดยบางแห่งลงทุนเพื่อรองรับตลาดต่างประเทศถึง 95% บางแห่งก็ประมาณ 70% บางแห่ง50 : 50 แต่โดยเฉลี่ยแล้วในกลุ่มของเรานั้นคิดเป็นสัดส่วนลูกค้าต่างประเทศถึงราว 70% มีคนไทยเพียงแค่ประมาณ 30% เท่านั้น ที่สำคัญ การทำตลาดคนไทยนั้นไม่สามารถตั้งราคาที่สูงได้ ในช่วงนี้จึงเป็นช่วงการประคับประคองให้ธุรกิจขาดทุนน้อยที่สุด และเดินต่อไปรอวันนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาอีกครั้งได้

หวั่นปัญหา “กำลังซื้อ” ซ้ำเติม

“ศุภฤกษ์” บอกว่า ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวชาวไทยนิยมออกเดินทางท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาว หรือ long weeked โดยจะพบว่าอัตราการเข้าพักของโรงแรม ที่พัก ในเมืองท่องเที่ยวระยะใกล้ รัศมีขับรถ 2-3 ชั่วโมงค่อนข้างดี แต่ประเด็นที่น่าจับตาคือ สถานการณ์แบบนี้จะระยะยาวหรือไม่ ซึ่งตนเองก็ยังไม่ค่อยมั่นใจนักเพราะว่าสึนามิลูกใหม่ที่กำลังตามโควิดมาคือปัญหาเศรษฐกิจ ถ้าคนตกงาน หรือยังทำงานอยู่แต่มีรายได้ลดน้อยลง บางส่วนถูกบังคับให้หยุดโดยไม่รับเงิน หรือบางส่วนก็ถูกเลิกจ้างซึ่งปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อ “กำลังซื้อ” โดยตรง

“อย่าลืมว่าในช่วงก่อนที่โควิด-19 จะแพร่ระบาด กำลังซื้อของคนก็ลดลงแล้วเพราะเศรษฐกิจไม่ดี รัฐบาลต้องออกมาตรการกระตุ้นผ่านแคมเปญ “ชิม ช้อป ใช้” มาแล้ว แต่ปีนี้กว่าโควิดจะยุติอาจใช้เวลาเป็นปี ไม่ใช่แค่ 2-3 เดือน ประเด็นนี้จึงเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการยังกังวลอยู่ ซึ่งคงต้องอยู่ที่ฝีมือการแก้ปัญหาของทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลว่าจะสามารถสร้างความเชื่อมั่น และทำให้เศรษฐกิจเดินไปข้างหน้าได้เหมือนเดิมหรือไม่”

สร้างสมดุล “ศก.-สาธารณสุข”

“ศุภฤกษ์” ยังย้ำด้วยว่า วิกฤตโควิดรอบนี้เป็นปัญหาในด้านสาธารณสุขที่ทำให้เกิดวิกฤตด้านเศรษฐกิจ และวิกฤตทางสังคม นั่นหมายความว่าถ้ารัฐบาลจัดการโควิดไม่ดีก็จะมีผลกระทบต่อ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม หรือหากเราจัดการกับโควิดดีเกินไปรับมือโควิดได้แต่ล็อกดาวน์ประเทศ หยุดกิจกรรมด้านเศรษฐกิจและสังคม ทุกอย่างก็จะเดินหน้าไม่ได้ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุด คือ รัฐบาลควรสร้างสมดุลระหว่างงานด้านสาธารณสุขเศรษฐกิจ และสังคมให้ดี วันนี้ประเทศไทยมีการจัดการด้านสาธารณสุขได้ดีมากปลอดเชื้อโควิดในประเทศมากว่า3 เดือนแล้ว จึงควรเร่งฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจได้แล้ว เพราะยิ่งช้าเศรษฐกิจจะยิ่งพังไปมากกว่านี้

“รัฐบาลต้องจริงจังกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจควบคู่กับมาตรการด้านสาธารณสุข แน่นอนว่าด้านหนึ่งเราต้องควบคุมไม่ให้โควิดระบาดซ้ำ อีกด้านหนึ่งถ้าเราปิดประเทศ เข้มมากเกินไปก็จะทำให้เราไม่สามารถฟื้นเศรษฐกิจได้ และหากเศรษฐกิจตกต่ำเกินเยียวยาคนก็จะตกงานมหาศาล สร้างปัญหาสังคม ดังนั้น รัฐต้องสร้างสมดุลให้ดีอย่าสุดโต่งด้านใดด้านหนึ่งจนเกินไป”

คาดท่องเที่ยวพลิกฟื้นปี”65-66

กูรูด้านการท่องเที่ยวแถวหน้าของเมืองไทยรายนี้ยังคาดการณ์ด้วยว่าส่วนตัวเชื่อว่าภาคธุรกิจการท่องเที่ยวของไทยน่าจะกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้งราวปี 2565-2566 ตามคาดการณ์ของไออาต้า (สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ) ที่ได้ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ โดยมองว่าปัจจัยลบที่มีผลโดยตรงคือ

1.การควบคุมโรคระบาดซึ่งไม่ใช่แค่ในประเทศแต่รวมถึงประเทศต้นทางที่จะส่งออกนักท่องเที่ยวมาประเทศไทยด้วย กล่าวคือการแพร่ระบาดของโควิดทั่วโลกต้องอยู่ในภาวะที่ควบคุมได้ ซึ่งเท่าที่ติดตามข่าววัคซีนน่าจะมาในปี 2564 กว่าจะครอบคลุมทั่วโลกก็ปี 2565

2.การเปิดสนามบิน หรือการอนุญาตให้สายการบินต่างประเทศทำการบินเข้าประเทศไทยได้ช้า-เร็วแค่ไหน

3.เศรษฐกิจได้รับผลกระทบและถดถอยทั่วโลก ซึ่งจะมีผลต่อประเทศต้นทางที่จะส่งออกนักท่องเที่ยวคงมีปริมาณลดลง ที่สำคัญ ทุกประเทศก็ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ

และ 4.ประเทศไทยสามารถสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องการให้บริการที่ได้มาตรฐานตามหลักของกระทรวงสาธารณสุขที่สามารถป้องกันโควิดได้ด้วย

หวั่นวงจรธุรกิจถูกทำลาย

นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่กังวลสำคัญอีกเรื่องคือปัจจุบันโครงสร้างด้านการท่องเที่ยวของไทยได้รับผลกระทบก็จริง แต่ส่วนใหญ่ยังพอฟื้นตัวได้ แต่ถ้าหากได้รับผลกระทบที่ลากยาวกว่านี้จะทำให้วงจรของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศถูกทำลายไป อาทิ สายการบินปิดตัว โรงแรมปิดให้บริการ บุคลากรด้านการท่องเที่ยวเปลี่ยนอาชีพ ฯลฯ หากเกิดปรากฏการณ์เช่นนี้เชื่อว่าจะยิ่งทำให้การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยล่าช้าออกไปอีก หรือฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ ความพร้อมในการกลับมารองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกครั้งก็จะใช้เวลาที่นานขึ้น

“ศุภฤกษ์” ทิ้งท้ายด้วยว่า เข้าใจว่ารัฐบาลเองก็มองเห็นความเดือดร้อนของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวว่าเป็นภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบก่อนธุรกิจอื่น ๆ และก็น่าจะฟื้นตัวได้หลังสุด แต่ภาคเอกชนท่องเที่ยวเราอยากเห็นการแก้ปัญหาที่เร็วและตรงเป้าหมายมากกว่านี้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลน มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวที่ออกมาในรูปแบบต่าง ๆ ที่ต้องเข้าถึงง่าย รวมถึงมาตการช่วยเหลือเยียวยาที่สมเหตุสมผล ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถประคองตัวเดินต่อไปได้ เพราะสถานการณ์ของธุรกิจท่องเที่ยวทั้งขาเข้า-ขาออก (อินบาวนด์,เอาต์บาวนด์) นั้น 80-90% ได้ปิดตัวชั่วคราวไปนานแล้ว ที่ต้องจับตามอง

ต่อไปคือส่วนที่ “ปิดชั่วคราว” นี้จะกลายเป็น “ปิดถาวร” หรือไม่และวงจรอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยจะถูกทำลายไปมากน้อยแค่ไหน