ฮอสพิเทล 1.5 หมื่นเตียงไม่พอ รพ.จับมือโรงแรมแห่เปิดเพิ่ม

รพ.เอกชนผนึกโรงแรม เร่งเปิดฮอสพิเทล หลังผู้ป่วยโควิดรายใหม่ยอดพุ่งเฉียด 1.8-2 หมื่นคน/วัน เครือธนบุรี-ปรินซ์ฯ-เอกชัย ทาบโรงแรมดังทยอยเพิ่มเตียง เปิดยอดล่าสุด เฉียด ๆ 1.5 หมื่นเตียงไม่พอรองรับคนไข้ ขณะที่บริษัทประกันยอมรับหาเตียงยาก-ไม่การันตีติดโควิดได้เตียงทันที

จากยอดผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ล่าสุดมีตัวเลขสูงถึงกว่าวันละ 18,000 ราย ส่งผลให้จำนวนเตียงในโรงพยาบาลไม่สามารถรองรับได้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ต้องเร่งเปิดโรงพยาบาลสนามทั้งในกรุงเทพฯและหัวมืองในต่างจังหวัด รวมทั้งการขอความร่วมมือจากโรงพยาบาลเอกชนและผู้ประกอบการโรงแรมในการเปิดหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ หรือ hospitel เพื่อรองรับกลุ่มผู้ป่วยสีเขียวไม่มีอาการ

เร่งเปิดฮอสพิเทลแก้เตียงขาด

แหล่งข่าวระดับสูงจากโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากสถานการณ์เตียงสำหรับรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ที่เริ่มตึงตัวจากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขได้พยายามจะเพิ่มเตียง ด้วยการสร้างโรงพยาบาลสนาม รวมทั้งขอความร่วมมือโรงพยาบาลเอกชนและกลุ่มผู้ประกอบการโรงแรมได้ร่วมกันเปิดฮอสพิเทล (hospitel) หรือหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ เพิ่มเป็นระยะ ๆ จนถึงตอนนี้ก็ยังทยอยเพิ่มจำนวนเตียงในส่วนนี้เป็นระยะ ๆ

ล่าสุด เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จากตัวเลขผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ศบค.ได้ขอความร่วมมือมายังโรงพยาบาลเอกชนและโรงแรมในการเพิ่มจำนวนฮอสพิเทลอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งจากการพูดคุยพบว่ามีโรงแรมหลาย ๆ ทั้งในกรุงเทพฯปริมณฑล รวมถึงต่างจังหวัด ที่สนใจและอยู่ระหว่างทยอยดำเนินการ

“นอกจากนี้ ศบค.ยังมีขอให้ฮอสพิเทลที่เปิดให้บริการอยู่แล้ว และรายที่จะเปิดใหม่ ปรับสัดส่วนด้วยการเพิ่มจำนวนเตียง เพื่อรองรับกลุ่มผู้ป่วยสีเหลืองให้มีสัดส่วนประมาณ 20% จากเดิมที่ฮอสพิเทลจะเน้นการดูแลกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว ซึ่งขณะนี้ฮอสพิเทลหลาย ๆ แห่งได้เริ่มทยอยปรับเปลี่ยนตามแนวทางของ สธ. เช่น การเพิ่มถังออกซิเจนเข้าไปตามห้อง”

รพ.เอกชนแห่เปิดเพิ่ม

นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรีเฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารโรงพยาบาลในเครือธนบุรี เปิดเผยว่า ขณะนี้เครือโรงพยาบาลธนบุรีได้เร่งจับมือกับโรงแรมหลายแห่งทั่วกรุงเทพฯ เพื่อขยายเตียงผ่านหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (hospitel) รองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวไม่มีอาการ และผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองอ่อน มีอาการเล็กน้อย ช่วยลดความแออัดภายในโรงพยาบาลและช่วยให้มีเตียงสำรองสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและลดโอกาสที่อัตราผู้เสียชีวิต

โดยมีแผนจับมือกับโรงแรม เปิดฮอสพิเทลอีกประมาณ 3 แห่ง อาทิ โรงแรมปรินซ์พาเลซ และโรงแรม 5 ดาว ย่านสะพานหัวช้าง (ราชเทวี) เป็นต้น จากปัจจุบันเครือธนบุรีมีฮอสพิเทลรวม 2,000 ห้อง อาทิ โรงแรมพลูแมน กรุงเทพฯ แกรนด์ สุขุมวิท (อโศก) โรงแรมไอบิส กรุงเทพฯ อิมแพ็ค โรงแรมแกรนด์ ฮาวเวิร์ด กรุงเทพฯ โรงแรมสยาม แอท สยาม โรงแรมเดอะ ทวิน ทาวเวอร์ เป็นต้น

ทั้งนี้ ไม่นับรวมการเปิดโรงพยาบาลเฉพาะกิจรับผู้ป่วยสีเหลือง-แดง เช่น โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ 190 เตียง และโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน 117 เตียง ผ่านความร่วมมือกับ กทม. หรือโรงพยาบาลสนามที่ได้ทำร่วมกับกองทัพ ภายใต้ชื่อโรงพยาบาลสนามกองทัพบก ในมลฑลทหารบกที่ 11 เป็นต้น

ขณะที่นายธานี มณีนุตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการด้านพัฒนาธุรกิจ บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ PRINC ผู้บริหารโรงพยาบาลในเครือพริ้นซ์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ร่วมกับโรงแรมจัดตั้งฮอสพิเทลเพิ่มขึ้นอีก 2 แห่ง คือ โรงแรมเธียรี่ โฮเทล สุขุมวิท 107 จำนวน 160 เตียง และโรงแรมเคล็ฟ กรุงเทพฯ 170 เตียง จากเดิมที่เปิดเพียงโรงแรมเกต 43 แอร์พอร์ต 70 เตียง

เช่นเดียวกับนายแพทย์อำนาจ เอื้ออารีมิตร กรรมการ บริษัท เอกชัยการแพทย์ จำกัด (มหาชน) และผู้อำนวยการโรงพยาบาลเอกชัย จังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า พื้นที่จังหวัดสมุทรสาครเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีการติดเชื้อสูง มีการเกิดคลัสเตอร์ใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องอีกครั้ง ทำให้เตียงรองรับผู้ป่วยมีไม่เพียงพอ ที่ผ่านมาได้ร่วมกับโรงแรมเซ็นทรัล เพลส เปิดฮอสพิเทล จำนวนรวม 84 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวใน จ.สมุทรสาคร นอกจากนี้ยังได้การขยายศักยภาพของโรงพยาบาลในการรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยการเพิ่มเตียงและขยายห้องเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อจากเดิม 142 เตียง เป็น 300 เตียง รวมถึงการสนับสนุนการเปิดโรงพยาบาลสนาม ที่วัดโกรกกราก ขนาด 240 เตียง เพื่อให้บริการผู้ป่วยโควิด-19 อาการปานกลาง

ยอดฮอสพิเทลเฉียด 2 หมื่นห้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นตั้งช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทำให้สถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนต้องเร่งสำรองเตียงผู้ป่วยจำนวนมาก เพื่อรองรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหาความแออัด การขาดแคลนเตียงในอนาคต ภาครัฐจึงร่วมมือกับภาคเอกชนนำโรงแรม 65 แห่งในเขตกรุงเทพฯมาปรับเป็นสถานพยาบาลชั่วคราว หรือฮอสพิเทล ซึ่งสามารถรองรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีอาการไม่มาก หรือไม่แสดงอาการ ได้ถึง 14,121 เตียง (ข้อมูล ณ วันที่ 29 มิถุนายน 2564)

เช่นเดียวกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้ร่วมมือกับผู้ประกอบการโรงแรม 10 แห่ง และโรงพยาบาลเอกชน เพิ่มเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการหรือแสดงอาการเล็กน้อยในกลุ่มสีเขียว จัดตั้งฮอสพิเทลเพิ่ม รวม 4,424 เตียง

ประกันไม่การันตีติดโควิดได้เตียง

นางฐวิกาญจน์ เตชทวีทรัพย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย 
จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในแง่ของการช่วยเหลือในการหาเตียงรองรับผู้เอา
ประกันที่ป่วยโควิด ตอนนี้หายากมาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสำหรับลูกค้าที่เป็นโปรดักต์เอ็กซ์คลูซีฟก็จะได้รับสิทธิก่อน (priority) อาทิ โปรดักต์ประกันสุขภาพเอ็กซ์คลูซีฟกับบีดีเอ็มเอสและเกษมราษฎร์ ก็จะให้ช่วยหาเตียง และถ้าได้รับการยืนยันจากโรงพยาบาลว่าเตียงเต็มจริง ๆ วิริยะฯก็จะประสานกับที่อื่นให้ แต่ก็จะไม่ได้การันตี สำหรับค่าใช้จ่ายฮอลพิเทลส่วนมากจะคิดเป็นแพ็กเกจ 14 วัน สำหรับผู้เอาประกันสุขภาพของบริษัท เมื่อตรวจพบติดเชื้อโควิดและต้องเข้ารับการรักษาตัวในฮอสพิเทล

กรณีคู่ค้าพันธมิตรอย่างโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ถ้าตรวจที่โรงพยาบาลและนอนโรงพยาบาลในเครือ จะคิดค่าใช้จ่ายรวมประมาณ 40,000 บาท (พัก 14 วัน) และถ้าไม่ได้ตรวจที่โรงพยาบาลแต่นอนโรงพยาบาลของครือ จะคิดค่าใช้จ่ายรวมประมาณ 100,000 บาท ทั้งนี้ วิริยะฯจะพิจารณาความคุ้มครองในกรมธรรม์ของลูกค้าแต่ละราย และจ่ายตามจริงที่จ่ายได้ เช่น ค่าใช้จ่ายรวมประมาณ 100,000 บาท แต่มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเวชภัณฑ์ 2 (พวกอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้ภายนอกตัวผู้ป่วย อาทิ เฝือกพยุงคอ, ไม้เท้า, ไม้ค้ำยัน, รถเข็นผู้ป่วย, ฟันปลอมรองเท้าคนพิการ) ถ้ามีทางบริษัทจะดึงออกโดยไม่จ่าย ซึ่งเป็นปกติที่บริษัทประกันไม่คุ้มครอง นั่นหมายถึงว่าส่วนต่างจากที่บริษัทประกันจ่ายทางลูกค้าต้องจ่ายเพิ่มเอง

ขณะที่นางสาวพัชรา ทวีชัยวัฒนะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารงานลูกค้า บริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันข้อมูลของผู้ป่วยโควิดที่อลิอันซ์ อยุธยาฯจ่ายเคลมไปแล้ว ณ สิ้นเดือน ก.ค. 2564 มีจำนวน 2,296 ราย มูลค่าสินไหม 144.6 ล้านบาท เป็นการทำงานร่วมกับโรงพยาบาลคู่สัญญาอยู่กว่า 400-500 แห่งทั่วประเทศ โดยพื้นฐานเมื่อผู้เอาประกันสุขภาพติดเชื้อโควิดต้องเข้ารับการรักษาตัวในฮอสพิเทล เมื่อถึงเวลาที่โรงพยาบาลเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่าย บริษัทจะจ่ายค่าใช้จ่ายตามลิสต์ที่โรงพยาบาลคู่สัญญาแจ้งมา ซึ่งจะจ่ายตามจริงและจำกัดตามวงเงินที่ลูกค้ามีตามสัญญากรมธรรม์