หมดยุคขายตั๋วบินราคาถูก แอร์ไลน์อ่วมไร้สภาพคล่อง

สนามบิน

หมดยุคตั๋วบินราคาถูก ! ทอท. ฟันธงธุรกิจสายการบินปี’65 หมดแรงเล่นสงครามราคา ชี้ผู้ประกอบการขาดสภาพคล่อง ขอลดค่าบริการทั้ง “ปาร์กกิ้ง-แลนดิ้ง” ต้นทุนโลว์คอสต์ในประเทศเฉลี่ย 1,300 บาท/เที่ยว “ไทยแอร์เอเชีย-ไทยไลอ้อนแอร์” ผ่อนเกมราคา ชู “คุ้มค่า” เพิ่มกิมมิกการตลาด

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) หรือผู้บริหารท่าอากาศยานหลักของประเทศ 6 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, ดอนเมือง, เชียงใหม่, แม่ฟ้าหลวง (เชียงราย), ภูเก็ต และหาดใหญ่ (สงขลา) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทอท.ประเมินว่าภาพรวมของราคาค่าโดยสารของสายการบินภายในประเทศในปี 2565 นี้ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นแน่นอน

ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ประกอบการสายการบินทั้งหมดอยู่ในสถานะขาดสภาพคล่องทางการเงินหนัก ซึ่งต่อเนื่องมาจากปี 2563 โดยเฉพาะในปี 2564 ที่รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์และห้ามการเดินทางในจังหวัดพื้นที่สีแดงไป 1 เดือนเศษ ทุกสายการบินร้องขอให้หน่วยงานรัฐบาลรวมถึงบริษัทท่าอากาศยานไทยให้ความช่วยเหลือเยียวยา ทั้งลดค่าหลุมจอดเครื่อง และค่าขึ้น-ลงเครื่องบิน รวมถึงบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง

นายนิตินัยกล่าวว่า แม้ว่าปัจจุบันสายการบินต่าง ๆ จะกลับมาทำการบินกันอีกครั้ง แต่ทุกสายการบินก็ยังทำการบินได้เพียง 20-30% ของศักยภาพที่มีอยู่เท่านั้น ยังต้องแบกรับต้นทุนมหาศาล ขณะที่ต้นทุนการให้บริการเส้นทางบินภายในประเทศเฉลี่ยเที่ยวละ 1,300 บาท (ต่อการบิน 1 ชั่วโมง) ทำให้คาดว่าผู้ประกอบการสายการบินไม่มีเงินสำหรับเล่นสงครามแน่นอน

“ที่ผ่านมาถ้าเราเห็นสายการบินทำโปรโมชั่นราคาตั๋วโดยสาร 700-900 บาท หมายความว่าผู้ประกอบการยอมเฉือนเนื้อตัวเอง ซึ่งในสถานการณ์ดี ๆ การเล่นสงครามเป็นเรื่องปกติ เช่น ปี 2558-2559 เป็นปีที่โลว์คอสต์แข่งขันสูง รายใหญ่เล่นสงครามราคาเพื่อสร้างฐานตลาดใหม่และไล่กวาดมาร์เก็ตแชร์ แต่ปีหน้านี้สถานการณ์โดยรวมไม่เอื้อ เชื่อว่าทุกสายการบินจะเน้นเก็บกระแสเงินสดเพื่อนำมาหมุนเวียนในธุรกิจมากกว่า” นายนิตินัยกล่าว

สอดรับกับแหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ที่กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นับตั้งแต่รัฐบาลกำหนดมาตรการสำหรับควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ทั้งมาตรการด้านสาธารณสุข การเว้นระยะห่าง จำนวนผู้เดินทางที่ยังมีปริมาณน้อย ฯลฯ ทำให้ต้นทุนการบริหารจัดการของสายการบินต่าง ๆ ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้สายการบินจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาตั๋วให้สอดรับกับต้นทุนการบริหาร

โดยพบว่านับตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 ที่ผ่านมา ราคาตั๋วโดยสารเฉลี่ยสำหรับเส้นทางภายในประเทศของทุกสายการบินได้ปรับขึ้นแล้ว หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 1,800-2,500 บาทต่อเที่ยว และเชื่อว่าจะอยู่ในระดับนี้ต่อไปในปี 2565

“สายการบินเป็นธุรกิจที่มีต้นทุนสูงมาก โดยเฉพาะภาะด้านค่าเช่า ค่าซ่อมบำรุง รวมถึงค่าน้ำมัน ขนาดเที่ยวบินที่ให้บริการมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสูงถึง 90-100% ในภาพรวมก็ยังขาดทุน เพราะทุกค่ายยังมีเครื่องบินที่จอดอยู่มากกว่าเครื่องที่นำมาใช้งาน ทุกสายการบินยังพยายามเจรจากับซัพพลายเออร์ขอยืดหนี้ ผ่อนชำระหนี้ ฯลฯ ทำให้เชื่อว่าตั๋วบินราคาถูกจะไม่มีแล้ว แต่ละสายคงนำกลยุทธ์ตั๋วถูกมาเล่นกิมมิกทางการตลาด แต่จำนวนในแต่ละเที่ยวบินคงจับต้องได้ยาก” แหล่งข่าวกล่าว

ด้านนายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2565 จะเป็นปีแห่งการฟื้นฟูของทุกสายการบิน หลังจากที่บาดเจ็บหนักกันมา 2 ปีเต็ม ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าราคาเเละความคุ้มค่ายังเป็นปัจจัยอันดับเเรก ๆ ที่ลูกค้าเลือกใช้

อย่างไรก็ตาม มองว่าในส่วนของสงครามราคานั้นจะไม่รุนเเรงนักเมื่อเทียบกับก่อนสถานการณ์โควิด เพราะปัจจุบันลูกค้ามีเหตุผลในการเลือกใช้บริการที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะความมั่นใจในมาตรฐานสุขอนามัยและความปลอดภัย รวมไปถึงความตรงต่อเวลา ความสะดวกสบายและความยืดหยุ่นในการใช้บริการ ซึ่งก็สอดคล้องเเนวทางการพัฒนาคุณภาพบริการของแอร์เอเชีย

“ปีหน้าเรายังคงเดินหน้าเส้นทางบินภายในประเทศ เพิ่มความถี่เที่ยวบิน และเส้นทางบินข้ามภาค ให้สอดคล้องกับความต้องการเดินทางภายในประเทศ โดยคาดว่าในไตรมาสที่ 1 จะกลับมาใกล้เคียงกับก่อนการเเพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่เส้นทางบินระหว่างประเทศยังขึ้นอยู่กับสถานการณ์ หากเดินทางได้ ทั้ง 2 ประเทศและปลายทางมีนโยบายที่สอดคล้องกัน เราก็พร้อมที่จะกลับมาเปิดเส้นทางบินได้ทันที” นายสันติสุขกล่าว

นางนันทพร โกมลสิทธิ์เวช ผู้อำนวยการฝ่ายการบินพาณิชย์ สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2565 ไทยไลอ้อนแอร์จะยังคงออกแคมเปญทางการตลาดต่อเนื่อง แต่จะเน้นทำราคาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม พร้อมชูจุดเด่นการให้บริการเหนือกว่าสายการบินโลว์คอสต์รายอื่น ๆ อาทิ การให้บริการโหลดสัมภาระฟรี 10 กิโลกรัม การตรงต่อเวลา รวมถึงเรื่องความสะอาด ความปลอดภัย ซึ่งสายการบินมีมาตรการเข้มข้นทั้งในส่วนของลูกเรือและเจ้าหน้าที่ภาคพื้น

“ไทยไลอ้อนจะไม่ได้เป็นผู้สร้างสงครามราคา จะไม่บินในเที่ยวบินที่มีผู้โดยสารเต็มลำแต่ยังขาดทุน แต่เลือกนำเสนอราคาที่เหมาะสมไม่โดดจากคู่แข่งรายอื่น ๆ มากเกินไป”

สำหรับในปี 2565 นี้ นางนันทพรกล่าวว่า ธุรกิจสายการบินในไทยจะยังคงเจอกับความยากลำบาก จากการที่ทั่วโลกยังคงมีความกังวลกับการระบาดของเชื้อโควิด-19 การเปิดประเทศที่ยังไม่เต็มที่ ส่งผลให้สายการบินไม่สามารถกำหนดรายละเอียดชัดเจนได้ โดยสายการบินในประเทศไทยจะยังโฟกัสตลาดการบินในประเทศเป็นหลัก และอาจเห็นการเปิดเส้นทางบินต่างประเทศบางเส้นทาง ซึ่งอาจเป็นเส้นทางในประเทศใกล้เคียง