ยกเลิก Test &Go ดึงนักท่องเที่ยว ไม่ปัง เอกชนจี้ทำแคมเปญ “ฮาร์ดเซล”

Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP

เอกชนท่องเที่ยวโอด แผนเปิดประเทศไม่เข้าเป้า ยกเลิก Test & Go ตัวเลขนักท่องเที่ยวไม่ปัง เดือน พ.ค.เข้าประเทศเพียง 1.4-1.5 หมื่นคนต่อวัน ชาวอังกฤษเดินทางเข้าสูงสุดอันดับ 1 “อินเดีย” มาแรงแซง “เยอรมัน-รัสเซีย-สหรัฐ” ททท.ยังมั่นใจทั้งปีดึงต่างชาติ 7-10 ล้านคน ตามเป้าหมาย สร้างรายได้ 1.3-1.5 ล้านล้านบาท สทท.แนะเร่งฟื้นฟู-อัดแคมเปญแบบฮาร์ดเซลหนุน

แหล่งข่าวจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากรายงานของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พบว่า หลังจากรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศด้วยการยกเลิก Test & Go (ไม่ตรวจ RT-PCR ทั้งก่อนเดินทางและเมื่อเดินทางมาถึง) เมื่อ 1 พฤษภาคม 2565 ตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศไทยเฉลี่ยประมาณ 15,000 คนต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2565 ที่มีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 10,000 คน

พ.ค.ตัวเลขขยับแค่เล็กน้อย

จากสถิติ 13 วันแรก (1-13 พฤษภาคม 2565) มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าจำนวนรวม 189,911 คน มีจำนวนนักท่องเที่ยวสะสมตั้งแต่ 1 มกราคม 2565-13 พฤษภาคม 2565 มีจำนวนรวม 1,002,882 คน โดยจำนวนนักท่องเที่ยวรายด่าน 5 อันดับแรก ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 616,025 คน ท่าอากาศยานภูเก็ต 329,526 คน ท่าอากาศยานดอนเมือง 21,303 คน ด่านสะเดา (สงขลา) 8,108 คน และด่านหนองคาย 8,946 คน

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง Thailand Pass ระบุว่า นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามา 5 อันดับแรก ประกอบด้วย สหราชอาณาจักร (UK) 81,960 คน ตามด้วย อินเดีย 71,336 คน, เยอรมัน 68,214 คน, รัสเซีย 58,401 คน และสหรัฐอเมริกา 56,946 คน

โดยนักท่องเที่ยวจากสหราชอาณาจักรเป็นตลาดที่ครองส่วนแบ่งนักท่องเที่ยวสูงสุดอันดับ 1 อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดอินเดียเป็นตลาดที่มาแรงมาก จากไม่ติดอันดับท็อป 5 พุ่งขึ้นมาอยู่อันดับ 2 ในเดือนพฤษภาคม แซงเยอรมัน รัสเซีย ที่ครองอันดับ 2, 3 มาตลอด

“เดือนเมษายนที่ประเทศไทยผ่อนคลายมาตรการแค่ยกเลิกการตรวจ RT-PCR ต้นทาง มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเฉลี่ยวันละประมาณ 1 หมื่นคน เดือนพฤษภาคมเราปลดล็อกไม่มีตรวจ RT-PCR เมื่อเดินทางมาถึง ไม่บังคับตรวจ ATK เรียกว่าแทบจะกลับมาสู่ภาวะปกติแล้ว เหลือไว้เพียงแค่ลงทะเบียนใน Thailand Pass เท่านั้น แต่จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามายังต่ำกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ค่อนข้างมาก” แหล่งข่าวกล่าวและว่า

ขณะนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่า การผ่อนคลายมาตรการดังกล่าวนั้นได้ผลคุ้มกับที่ประชาชนคนไทยต้องรับความเสี่ยงด้านสาธารณสุขที่อาจเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อีกครั้ง หลังรัฐบาลเปิดประเทศเต็มรูปแบบหรือไม่

มั่นใจเข้าเป้า 7-10 ล้านคน

นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเพิ่มขึ้นตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดือนมีนาคม และเมษายน 2565

ดังนั้น หากรัฐบาลยกเลิก Thailand Pass ในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 จะทำให้การเดินทางเข้าประเทศกลับสู่ภาวะปกติ มั่นใจจะทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน และมีจำนวนรวมที่ประมาณ 7-10 ล้านคน ตามเป้าหมายได้

ขณะที่ นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า ททท.ประเมินภาพรวมของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสำหรับปีนี้ไว้ 3 ซีนาริโอ ประกอบด้วย 1) หากไม่สามารถเปิดด่านชายแดนได้ และจีนยังไม่มีนโยบายเปิดประเทศ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 5 ล้านคน

2) หากจีนมีนโยบายเปิดประเทศและส่งออกนักท่องเที่ยวได้ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ หรือช่วงวันหยุดชาติจีน (ตุลาคม 2565) คาดว่าจะมีชาวจีนเข้ามาเที่ยวในประเทศประมาณ 2-3 ล้านคน และประเมินว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 7-8 ล้านคน

และ 3) หากสามารถเปิดการท่องเที่ยวทางบกเชื่อมต่อพรมแดนประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ลาว มาเลเซีย เมียนมา กัมพูชา ประมาณการว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเฉพาะ 4 ประเทศนี้ถึงประมาณ 7-8 ล้านคน และทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมประมาณ 15 ล้านคน และมีรายได้รวมจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยปีนี้มูลค่าราว 1.3-1.8 ล้านล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นนี้ ททท.ตั้งเป้าว่า ในช่วงเดือนพฤษภาคม-กันยายน 2565 จะมีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินทางเข้าประเทศไทยไม่น้อยกว่า 300,000 คนต่อเดือน และเพิ่มเป็นเดือนละไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 เป็นต้นไป

กระตุ้นตลาดเชิงรุกทุกรูปแบบ

นายยุทธศักดิ์กล่าวว่า ขณะนี้ ททท.ได้เร่งทำการตลาดอย่างหนัก ทั้งตลาดระยะใกล้และตลาดระยะไกล โดยในตลาดระยะใกล้นั้นจะโฟกัส 5 ประเทศหลักที่สามารถทำการตลาดได้ทันที เนื่องจากเป็นตลาดที่ผ่อนคลายมาตรการ การเดินทางกลับสู่ภาวะปกติแล้ว คือ อินเดีย, ออสเตรเลีย, สิงคโปร์, มาเลเซีย และเกาหลีใต้

ส่วนตลาดระยะไกลจะโฟกัสกลุ่มมิดเดิลอีสต์, ซาอุดีอาระเบีย, อิสราเอล, คาซัคสถาน, สหรัฐอเมริกา, แคนาดา และละตินอเมริกา โดยเฉพาะประเทศในแถบตะวันออกกลางที่อาจเดินทางเข้ามาประเทศไทยในช่วงกรีนซีซั่นที่กำลังจะถึงนี้ได้เลยทันที

“เราจะมุ่งเน้นการตลาดเชิงรุก สร้างความเชื่อมั่น และกระตุ้นการขาย ด้วยการเข้าร่วมงานอินเตอร์เนชั่นแนลเทรดโชว์ต่าง ๆ ทั่วโลก เช่น SATTE วันที่ 18-20 พฤษภาคม ณ ประเทศอินเดีย, Thai Travel Mart Plus 2022 วันที่ 8-10 มิถุนายน ณ จังหวัดภูเก็ต งาน WTM London 2022 ที่ลอนดอน ในช่วงปลายปี ฯลฯ” นายยุทธศักดิ์กล่าว

และว่า รวมถึงกิจกรรมส่งเสริมการขายในรูปแบบ B2C โดยทำโปรโมชั่นร่วมกับสายการบิน, Tour Agents, Tour Operators และกลุ่ม Online Tourism Agents (OTAs) เช่นเดียวกับ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่กล่าวว่า

กระทรวงตั้งเป้าปีนี้มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในปี 2565 นี้ ที่ประมาณ 7-13 ล้านคน สร้างรายได้ราว 7 แสนล้านบาท และการท่องเที่ยวภายในประเทศจำนวน 160 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ราว 6.5 แสนล้านบาท จะทำให้ในปี 2565 นี้ การท่องเที่ยวไทยจะมีรายได้รวม 1.3-1.5 ล้านล้านบาท

แนะผ่าตัดใหญ่-อัดฮาร์ดเซล

ด้าน นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ส่วนตัวมองว่า ประเทศไทยต้องเร่งกระตุ้นให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 16 ล้านคน หรือประมาณ 40% ของปี 2562 เพื่อให้ผู้ประกอบการทั้งอุตสาหกรรมอยู่รอดได้ เพราะที่ผ่านมาซัพพลายไซด์ในภาคธุรกิจท่องเที่ยวของไทยลงทุนเพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 40 ล้านคน

โดยเสนอให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1) Redesign การท่องเที่ยวไทยให้มีความยั่งยืน โดยสร้างสมดุลใน 3 มิติ คือ สมดุลด้านการตลาดสมดุลด้านสินค้า และสมดุลเชิงพื้นที่ โดยในส่วนของสมดุลด้านการตลาด คือ การสร้างโอกาสทางการตลาดให้เพียงพอที่จะรักษาซัพพลายเชนทั้งหมดให้อยู่รอด

ส่วนสมดุลด้านสินค้า คือ การเพิ่ม manmade ลดการพึ่งพาและทำลายทรัพยากรธรรมชาติ โฟกัสการท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม เช่น ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ, ท่องเที่ยวเชิงกีฬา, ท่องเที่ยวเชิงอาหาร, ท่องเที่ยวเพื่อธุรกิจและ MICE ฯลฯ ขณะที่สมดุลเชิงพื้นที่ คือ การแก้ปัญหา over-under tourism ในแหล่งท่องเที่ยว โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี

2) สร้าง Tourism Clinic สร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูฯ และพัฒนา supply-side บุคลากร เทคโนโลยีการตลาด สินค้าและบริการ ให้ตอบโจทย์การท่องเที่ยวในโลกวิถีใหม่ และ 3) สร้าง Tourism Platform ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายด้วยต้นทุนที่ต่ำลง

“ผมว่าวันนี้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยต้องผ่าตัดใหญ่ในหลาย ๆ ประเด็น โดยเฉพาะแนวทางการส่งเสริมและกระตุ้นตลาดในรูปแบบเดิมนั้นในภาวะเช่นนี้ไม่เพียงพอ จำเป็นต้องใช้กลยุทธ์แบบฮาร์ดเซลเข้ามาสนับสนุนด้วย เพื่อให้เกิดผลที่จับต้องได้ชัดเจนและทันที” นายชำนาญกล่าว

ดึงนักท่องเที่ยว 7 ล้านคน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ในไตรมาสแรกของปี 2565 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยประมาณ 500,000 คน โดยเป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการเดินทางออกนอกประเทศของหลายประเทศทั่วโลก และคาดว่าทั้งปี 2565 นี้ จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศกว่า 7 ล้านคน หลังจากรัฐบาลได้มีการปรับมาตรการการเดินทางเข้าประเทศ (Test & Go) ซึ่งจะเห็นการเดินทางเข้ามาเพิ่มมากขึ้นในไตรมาส 4 ของปีนี้

“จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาอาจจะยังไม่เท่ากับปี 2562 ก่อนเกิดโควิดที่มีจำนวน 40 ล้านคน แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการทำการตลาด เพื่อดึงนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูงให้เดินทางเข้ามาในประเทศ ซึ่งจะช่วยให้การใช้จ่ายสูง และมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่อคนเพิ่มมากขึ้น โดยปัจจุบันรายได้จากนักท่องเที่ยวปรับเพิ่มเป็น 70,000 บาทต่อคน หรือสูงขึ้นจากปี 2562 คาดว่าจะทดแทนจำนวนนักท่องเที่ยวได้ระดับหนึ่ง”