เนปาลชูจุดแข็งท่องเที่ยวหลากหลาย เปิดสนามบินนานาชาติแห่งใหม่

ชาวฮินดูประนมมือสักการะแด่องค์พระศิวะ
ชาวฮินดูอธิษฐานต่อพระศิวะศิวะในช่วงเดือนแห่งความศักดิ์สิทธิ์ (Shravan Somvar) Photo by Prakash MATHEMA / AFP

เนปาลชูจุดแข็งท่องเที่ยวหลากหลาย ทั้งสายแอดเวนเจอร์-ธรรมชาติ-วัฒนธรรม พร้อมต้อนรับชาวไทย โชว์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เปิดสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ ขยายถนนพร้อมรับนักท่องเที่ยว

วันที่ 4 สิงหาคม 2565 นายดีพัก ราช โจชิ ผู้อำนวยการสมาพันธ์อุตสาหกรรมเนปาล (Director General Confederation of Nepalese Industries) เปิดเผยว่า การท่องเที่ยวเนปาลมีจุดแข็ง คือ ประเทศมีประสบการณ์ในการต้อนรับนักท่องเที่ยวกว่า 6 ทศวรรษ และเป็นประเทศที่เหมาะสมกับการท่องเที่ยวแบบเทร็กกิ้ง (Trekking) และการปีนเขาอันดับต้น ๆ ของโลก

สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนั้น นายดีพักกล่าวว่า ทางการเนปาลได้พัฒนาทางหลวงหลายสาย เพื่อรองรับการคมนาคมและการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยว และกำลังมีการก่อสร้างทางรถไฟและทางหลวงข้ามระหว่างพรมแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้นักท่องเที่ยวไหลเข้าเนปาลมากยิ่งขึ้น

ส่วนการเดินทางทางอากาศนั้น เนปาลได้ทำการขยายและปรับปรุงท่าอากาศยานนานาชาติตริภูวัน กรุงกาฐมาณฑุ ซึ่งเป็นสนามบินที่สำคัญที่รองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศ

ล่าสุด ทางการเนปาลยังได้เปิดตัวท่าอากาศยานนานาชาติแห่งที่สอง คือ ท่าอากาศยานนานาชาติ Guatam Buddha (ICAO : VNBW) เกิดการยกระดับท่าอากาศยานที่มีอยู่เดิม เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมายังเมืองลุมพินี ซึ่งมีพุทธสังเวชนียสถานสำคัญทางศาสนา

นายดีพักกล่าวว่า การท่องเที่ยวของเนปาลมีจุดขายที่น่าสนใจจำนวนมาก ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากประเทศไทยได้ เช่น การท่องเที่ยวแบบแอดเวนเจอร์ แหล่งท่องเที่ยวที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก วิวที่สวยงามสุดลูกหูลูกตาของเทือกเขาหิมาลัย อาหารที่มีเอกลักษณ์ สดใหม่และหลากหลาย รวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางศาสนาอีก

ด้านนายโฮม ปราสาท ปาราจูลี ผู้จัดการประจำประเทศไทย สายการบินเนปาลแอร์ไลน์ส กล่าวว่า สายการบินมีจุดแข็งทั้งเส้นทางในประเทศที่ครอบคลุมหลายเมือง และสายการบินมีเส้นทางบินต่างประเทศทำการบินหลายจุดบินในภูมิภาค เช่น กรุงเทพฯ โตเกียว (นาริตะ) ฮ่องกง โดฮา ดูไบ

สำหรับอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (Load Factor) ของปีงบประมาณ 2564-2565 ของสายการบินเส้นทางกรุงเทพฯ-กาฐมาณฑุ อยู่ที่ 48% ขณะที่อัตราบรรทุกผู้โดยสารเส้นทางกาฐมาณฑุ-กรุงเทพฯ อยู่ที่ 88%