กทม. ยึดอำนาจ “บีทีเอส” อนุมัติสกายวอล์ก แก้กฎเรียกแป๊ะเจี๊ยะค่าพ่วง”ตึก-รถไฟฟ้า” เลิกเก็บปีละ 5 พัน

สกายวอล์กบูมจัด สถานีรถไฟฟ้าสายเก่า-ใหม่เอกชนรุมตอม “กทม.” เล็งปั๊มรายได้เพิ่ม ทบทวนระเบียบขอเชื่อมทางใหม่ ปลดล็อกจากเดิมจัดเก็บจิ๊บ ๆ แค่ปีละ 5 พันบาท ดึงอำนาจออกใบอนุญาตเชื่อมทางรถไฟฟ้าบีทีเอส-ส่วนต่อขยาย-สายใหม่ เผยเกณฑ์พิจารณามีค่าตอบแทนรายปี 4% คำนวณจากราคาประเมินที่ดินในทำเลก่อสร้างสกายวอล์ก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อานิสงส์จากรัฐบาลเร่งลงทุนรถไฟฟ้าทำให้ปัจจุบันมี 81 สถานี อนาคตปี 2572 มีถึง 266 สถานี ปัจจุบัน 81 สถานี มีภาคเอกชนขอเชื่อมทางเดินยกระดับหรือสกายวอล์ก (Sky Walk) 30-40 สถานี ประกอบกับรัฐบาล คสช.ประกาศผลักดันบังคับใช้กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในวันที่ 1 มกราคม 2561 ซึ่งราคาประเมินสูงขึ้น หน่วยงานรัฐจึงมองเห็นช่องทางขยายรายได้เพิ่มขึ้น โดยเริ่มมีการทบทวนปรับปรุงกฎระเบียบในการขอเชื่อมทาง

กทม.รื้อกฎขานรับภาษีที่ดิน

นายสุธน อาณานุกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ กทม.อยู่ระหว่างปรับปรุงระเบียบการคิดค่าตอบแทนจากการให้เอกชนสร้างสกายวอล์กเชื่อมรถไฟฟ้าบีทีเอสทั้งในส่วนสัมอฃปทาน บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ส่วนต่อขยายที่ กทม.ลงทุนสร้างเอง ได้แก่ ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง กับตากสิน-บางหว้า, สายสีเขียวต่อขยายหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต กับแบริ่ง-สมุทรปราการ และโครงการในอนาคต อาทิ สายสีทอง (กรุงธนบุรี-ประชาธิปก)

“ที่ผ่านมาเอกชนเชื่อมทางต้องไปขอกับบีทีเอส โดย กทม.เป็นเพียงผู้ออกใบอนุญาตเท่านั้น ต่อไปนี้แนวทางปฏิบัติให้มาขออนุญาตกับ กทม.ทั้งหมด ความคืบหน้าภายใน 1-2 เดือนนี้เตรียมเสนอร่างประกาศฉบับใหม่ให้ผู้ว่าราชการ กทม.พิจารณา คาดว่าน่าจะผลักดันออกมาบังคับใช้ได้ภายในปีนี้”

สถานีช่องนนทรีจ่าย 5 พัน/ปี

ทั้งนี้ เกณฑ์เดิม กทม.ออกประกาศ “การอนุญาตและค่าตอบแทนการสร้างทางเชื่อมระหว่างระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร” ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2555 มีสาระสำคัญ เช่น ความกว้าง ต้องเพียงพอต่อการสัญจรและเป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (2542) ภายใต้ พ.ร.บ.การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ 2524 ฯลฯ ความสูง รถดับเพลิงเข้า-ออกได้สะดวก ฯลฯ

และด้านค่าตอบแทน ผลตอบแทน 5-25% ของมูลค่างาน รวมทั้งมีค่าตอบแทนรายปีอีกปีละ 4% ของราคาประเมินที่ดินบริเวณทางเชื่อมที่ก่อสร้าง ปัจจุบัน กทม.มีรายได้จากสกายวอล์กเพียง 1 แห่ง ที่สถานีช่องนนทรี คิดเป็นรายได้รับปีละ 5,000 บาท

สำหรับอัตราผลตอบแทนใหม่ กทม.ใช้รูปแบบเดียวกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่เรียกเก็บเป็นก้อน และคิดค่าเช่ารายปี

“รายได้จากสกายวอล์ก ปีงบประมาณ 2559 อยู่ที่ 1,011 ล้านบาท ในปีหน้าเป็นต้นไปรัฐบาลจะบังคับใช้กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แนวโน้มทำให้ กทม.มีรายได้จัดเก็บเพิ่มขึ้น เพราะเราคิดรายได้โดยคำนวณจากฐานราคาประเมินที่ดินในทำเลที่สร้างสกายวอล์ก” นายสุธนกล่าว

รฟม.คิดเหมา 15 ปี 30 ล้าน

แหล่งข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีเอกชนขอสร้างทางเชื่อมสถานีรถไฟฟ้าหลายแห่ง มีทั้งสกายวอล์กและอุโมงค์ใต้ดิน รฟม.คิดค่าตอบแทนแห่งละ 30 ล้านบาท เวลา 15 ปี เงื่อนไขจ่ายเงินก้อนแรกวันเซ็นสัญญา 20% จากนั้นคิดผลตอบแทนรายปี ปรับเพิ่มปีละ 5-10% ต่อได้อีก 15 ปี แต่ต้องพิจารณาค่าตอบแทนใหม่ อาทิ สถานีสามย่านบริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทสร้างอุโมงค์เชื่อมสถานีลุมพินีทะลุเข้าโครงการวัน แบงค็อก, สถานีเพชรบุรี บมจ.สิงห์ เอสเตท สร้างอุโมงค์เชื่อมโครงการสิงห์คอมเพล็กซ์ ฯลฯ

BTS ปรับขึ้น 1.2 แสน/ตร.ม.

แหล่งข่าวจากบีทีเอสซีเปิดเผยว่า เงื่อนไขสร้างทางเชื่อมพิจารณารายสถานี มีค่าเชื่อมทางเฉลี่ย 100,000-120,000 บาท/ตร.ม. ปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมเฉลี่ย 40,000-60,000 บาท/ตร.ม.

ปัจจุบันขอเชื่อม อาทิ สถานีหมอชิต บีทีเอสลงทุน 200 ล้านบาท เชื่อมสถานีถึงซอยพหลโยธิน 18 และเดอะไลน์ หมอชิต-จตุจักร 480 เมตร แล้วเสร็จต้นปี 2561, สถานีปุณณวิถี MQDC ในเครือซีพีขอเชื่อมโครงการ Whizdom 101 จากสถานีถึงสะพานลอยซอยสุขุมวิท 101/1, ปลายปีนี้ กทม.เตรียมเปิดใช้สกายวอล์กบีทีเอส บางนา-อุดมสุข 1.7 กม. วงเงิน 450 ล้านบาท ฯลฯ