รัสเซียบุกยูเครน น่ากลัวแค่ไหน คนไทยในโอเดสซาสะท้อน

“โรส” ชาวไทยที่อาศัยในยูเครนกว่า 15 ปี มองสถานการณ์รัสเซียรุนแรงเป็นบางส่วน-ห่วงผลกระทบทางเศรษฐกิจกว่านองเลือดกลางเมือง

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 ภาพของจรวดมิสไซล์และเสียงระเบิดจากอาวุธที่มุ่งเป้าโจมระบบโครงสร้างพื้นฐานของกรุงเคียฟ และอีกหลายเมืองสำคัญของยูเครนซึ่งอยู่ใกล้ชายแดนรัสเซียและเบลารุส เป็นสิ่งบ่งชี้อย่างชัดเจนถึงสถานการณ์ระหว่าง “รัสเซีย-ยูเครน” ได้ทวีความรุนแรงจนกลายเป็นสงครามขนาดย่อม ๆ สู้รบระหว่างสองชาติที่แม้เคยมีประวัติศาสตร์และความผูกพันธ์ทางวัฒนธรรมร่วมกันก็ตาม

ที่กรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน ผู้คนจำนวนมากพากันอพยพออกจากเมืองไปยังพื้นที่ปลอดภัย ถนนสายหลักของเมืองเต็มไปด้วยรถยนต์แน่นขนัด ปั๊มน้ำมันเต็มไปด้วยรถยนต์ที่รอเติม สถานีรถไฟคราคร่ำไปด้วยผู้โดยสาร บางส่วนที่ไม่สามารถอพยพออกมาได้ เลือกที่จะเข้าอยู่ในสถานีรถไฟใต้ดินเพื่อความปลอดภัย ท่ามกลางรายงานข่าวจากสื่อต่างชาติหลายสำนักที่ระบุว่า

รัสเซียสามารถยึดพื้นที่บางเหมืองของยูเครนได้แล้ว ขณะที่มีปฏิบัติการโจมตีในบริเวณจุดยุทธศาสตร์อีกหลายเมืองในยูเครน ทั้งกรุงเคียฟ เมืองคาร์คีฟ ตลอดจนเมืองโอเดสซา เมื่องท่าเรือสำคัญทางใต้ของประเทศ ที่อยู่ติดทะเลดำก็มีรายงานจากสื่อตะวันตกว่าถูกรัสเซียโจมตีเช่นกัน

ประชาชาติธุรกิจ มีโอกาสพูดคุยกับ “โรส” สาวไทยผู้ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองโอเดสซาของยูเครนมากว่า 15 ปี สะท้อนถึงสถานการณ์ในเมืองที่เธอพำนักให้ฟังว่า “ที่โอเดสซา เงียบค่ะ เงียบมากผิดปกติ การคมนาคมปิดไม่มีเที่ยวบิน แต่ว่าความรุนแรงตลอดเมื่อคืนจนถึงวันนี้ (25 ก.พ.) ยังไม่มีอะไร”

เธอเล่าย้อนไปว่า ช่วงเช้าตรู่เวลา 04.00 น. ของวันที่ 24 ก.พ. เมืองโอเดสซา ซึ่งอยู่ติดทะเลดำ และถือเป็นเมืองยุทธศาสตร์ที่เสี่ยงต่อการถูกโจมตีทางทะเลจากกองทัพรัสเซียนั้น ได้มีเสียงเตือนภัยและระเบิดดังขึ้น 3 ครั้งในช่วงเช้าของเมื่อวานนี้ แต่ชาวยูเครนก็ยังออกไปใช้ชีวิตตามปกติ มีเพียงบรรยากาศตามร้านค้าซูเปอร์มาร์เก็ต ที่ประชาชนออกไปซื้อสิ่งของกักตุนสินค้า และต่อแถวยาวเพื่อรอกดเงินสดจากตู้เอทีเอ็ม ซึ่งเธอบอกว่า ภาพแบบนี้เป็นปกติของชาวยูเครนในโอเดสซา เมื่อประเทศเผชิญกับความไม่มั่นคงทางการเมือง

โรส ยูเครน
โรส คนไทยที่อยู่ในโอเดนซา เมืองท่องเที่ยวทางตอนใต้ของยูเครน

โรส เผยความรู้สึกต่อประชาชาติธุรกิจโดยส่วนตัวเธอเชื่อว่าเหตุการณ์จะไม่รุนแรงจนบานปลายเป็นสงครามนองเลือด “จริง ๆ ก็เตรียมตัวหนีไว้แล้ว แต่ความรู้สึกลึก ๆ เชื่อว่าเหตุการณ์จะไม่รุนแรงค่ะ” หญิงไทยวัย 42 ปีผู้พำนักในยูเครนตั้งแต่ปี 2007 ซึ่งผ่านสถานการณ์ความไม่มั่นคงในยูเครนมาหลายครั้งหลายครา ตั้งแต่เหตุปฏิวัติยูเครนปี 2014

จากความรุนแรงจตุรัสไมดานที่โค้นล้มรัฐบาลเอียงข้างรัสเซีย ตามมาเหตุการผนวกไครเมียกลับสู่ยูเครน จนถึงเหตุการณ์ความรุนแรงล่าสุด เธอมองว่า ความเหตุการณ์ในครั้งนี้แม้อาจดูรุนแรงจากภาพข่าวที่นำเสนอผ่านสื่อตะวันตก แต่ความรุนแรงเหล่านั้นจะเกิดขึ้นเป็นส่วน ๆ จุด ๆ ตามเมืองสำคัญอย่างกรุงเคียฟ และเมืองที่อยู่ตามตะเข็บชายแดนรัสเซีย

“คนยูเครน รักสงบไม่ต้องการสงคราม พอรัสเซียทำแบบนี้ คนยูเครนก็โกรธ แต่เป็นสวนน้อยนะที่แอนตี้รัสเซีย ไม่ได้ทั้งหมด” โรส เล่าสะท้อนถึงความรู้สึกของคนยูเครนในโอเดสซา ต่อสถานการณ์ความรุนแรงที่รัสเซียเปิดฉากโจมตี “ส่วนตัวพี่ก็ไม่กลัวนะ เพราะพี่เคยผ่านเหตุการณ์ยึดปี 2014 (ไครเมีย) อะไรแบบนี้มาแล้ว โอเคแม้เราจะอยู่กับคนละเมืองจากชายแดน แต่เราจะรู้ว่ารูปแบบของเขา (รัสเซีย) จะทำยังไง”

หวังพึ่งยุโรปจะดีขึ้น ?

โรส ซึ่งพำนักในยูเครนมานาน 15 ปี ผ่านเหตุการณ์ทั้งก่อนและหลังปฏิวัติยูเครนสัมผัสรัฐบาลเอียงรัสเซีย และรัฐบาลเอียงยุโรป เธอเปรียบเทียบว่า ช่วงที่ยูเครนมีรัฐบาลนิยมฝ่ายเครมลินนั้น หลายอย่างในยูเครนค่อนข้างแย่ ทั้งค่าเงิน คุณภาพชีวิต การพัฒนาช้า คอรัปชั่นต่าง ๆ จึงไม่แปลกที่ผู้คนมากมายโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่อยากได้รัฐบาลชุดใหม่ผู้นำคนใหม่ที่มีความเอนเอียงไปทางยุโรปตะวันตกมากขึ้น จากความหวังที่เชื่อว่า หากเข้าหา EU และพันธมิตรมากขึ้น จะทำให้คุณภาพชีวิตชาวยูเครนหลาย ๆ อย่างดีขึ้น

“ตอนนั้น (กรุงเคียฟ) เละทั้งเมือง มันเป็นความรุนแรงมาก ผู้คนก็หวังว่าพอเปลี่ยนผ่านรัฐบาลที่เอียงยุโรป จะนำพาไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น … แต่มันก็เหมือนเดิม คนอยู่เครนบอกว่าไม่อยากได้ละ (ผู้นำ) คนปัจจุบันเนี่ย … เค้าบอกว่าก็เหมือนเดิม ก็ไม่เห็นจะพาให้ประเทศดีขึ้น ไม่เห็นจะพายูเครนปลดหนี้ คนยูเครนที่รู้จักเค้าสะท้อนมาแบบเนี้ย แต่คนยูเครนเค้ามีความคาดหวังไปทางยุโรปมากกว่านะ แม้จะเบื่อตัวผู้นำคนปัจจุบัน แต่หลายคนก็หวังว่าการเข้าหายุโรป (อียู) มากขึ้น เป็นสิ่งที่ดีกว่า จะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น”

หวั่นใช้ชีวิตลำบาก

ตลอดการให้สัมภาษณ์ “โรส” แสดงความมั่นใจว่าเหตุการณ์จะไม่รุนแรงถึงขั้นรบกันกลางเมือง “คือมันอาจมีความรุนแรงเป็นจุด ๆ ตามตะเข็บชายแดน ไม่ครอบคลุมทั้งประเทศ แต่พี่มั่นใจว่าเหตุการณ์จะไม่รุนแรง รบกันเสียเลือดเนื้อใจกลางเมือง อันนี้ความคิดเห็นส่วนตัวนะ” จากประสบการณ์ที่พำนักในยูเครนนานหลายปีว่า เหตุการณ์ในเมืองโอเดสซาที่เธออาศัยในขณะนี้ จะไม่รุนแรงถึงขั้นนองเลือดกลางเมือง

เธอเล่าว่า ย้อนกลับไปช่วงที่รัสเซียนยึดคาบสมุทรไครเมียในปี 2014 บรรดารถถัง ยานเกราะอาวุธยุทโธปกรณ์กองทัพยูเครน จอดระดมกำลังกันเต็มตามสวนสาธารณะใจกลางเมืองโอเดสซา เช่นเดียวกับบรรดาเรือรบหลายลำที่เข้าประจำการยังท่าเรือของเมือง ทว่าหากเทียบกับเหตุการณ์ครั้งนี้ ทุกอย่างกลับเงียบสงบ ตามท้องถนนหนทางต่าง ๆ ของเมืองท่องเที่ยวริมชายทะเลซึ่งเคยคราคร่ำไปด้วยผู้คนกลับเงียบสงัด ไร้แม้กระทั่งรถถังหรือยุทโธปกรณ์ทางทหารหากเทียบกับเมื่อปี 2014

แม้จะเหตุการณ์ในโอเดสซาจะไม่รุนแรงเหมือนเมืองใกล้ชายแดน แต่โรสเชื่อว่าที่ได้รับผลกระทบอย่างแน่นอนคือ ‘การอยู่การกิน สภาพเศรษฐกิจ ข้าวยากหมากแพง’ นี่จะเป็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกระทบทั้งประเทศ “ยูเครนไม่ใช้ประเทศรวย คนรวยก็มีแต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะอยู่ได้ มีคนแก่ ๆ ที่เค้าต้องมีชีวิตด้วยเงินไม่กี่ฮริฟเนีย ค่าแรงก็ต่ำ มันน้อยมาก สินค้าหลายอยากก็ขึ้นราคา สินค้าบางอย่างเช่นสินค้านำเข้าเริ่มขาดแคลน ถึงหาได้ราคาก็แพงมาก”

ห่วงเพื่อนคนไทย

หลังจาก 24 ก.พ. ที่รัสเซียเปิดฉากโจมตีทั่วยูเครน “โรส” ได้เผยความคืบหน้าถึงสถานการณในเมืองโอเดสซาในวันนี้ว่า ทั่วทั้งเมืองเงียบ แทบจะไร้ผู้คนออกมาใช้ชีวิตภายนอก ผู้คนออกมากักตุนสินค้าตั้งแต่วันแรกที่รัสเซียโจมตี เพื่ออยู่ภายในบ้านพักของตน ชาวยูเครนบางคนเลือกที่จะเดินทางออกนอกเมืองไปยังพื้นที่ปลอดภัย โดยตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ 24 ต่อเนื่องถึงเช้าที่ 25 ก.พ. บรรยากาศในโอเดสซายังคงเงียบ ไร้ซึ่งผู้คนและเสียงระเบิดหรือเสียงโจมตีปะทะกันทางทหาร

ตามข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศระบุว่า มีชาวไทยพำนักอาศัยในยูเครนราว 250 คน จำนวนนี้ส่วนมาก ประกอบอาชีพ นวดสปา ร้านอาหาร บางส่วนแต่งงานกับชาวยูเครน

“คนยูเครนบางคนเค้ากังวลว่า เดี๋ยวมันก็จบ เท่าที่คุยกับคนยูเครนหลาย ๆ คน เค้าก็เชื่อว่าเดี๋ยวมันก็จบ แต่ก็ไม่มีน้อยที่เริ่มเปลี่ยนความคิด เริ่มกลัวผลกระทบจากความรุนแรง แต่เค้าไม่ได้กลัวนองเลือดกลางเมือง แต่เค้ากลัวเรื่องการกินการอยู่ ความลำบากในการใช้ชีวิตหากสถานการณ์ทวีความรุนแรงขึ้น สถานการณ์ที่เกิดขึ้น คนยูเครนเค้าตั้งรับเป็น เพราะเค้าเจอมาหลายรอบแล้ว แต่ตอนนี้หลายคนก็เริ่มสะท้อนว่าทิศทางอาจไม่เหมือนเดิม มันยากจะประเมิน แต่ก็มีไม่น้อยที่พร้อมอยู่ในที่มั่นของตัวเอง แล้วก็รอให้เรื่องมันจบ”

เมื่อถามว่า หากสถานการณ์พลิกผันไม่เป็นไปตามที่เธอเชื่อ หรือชาวยูเครนบางส่วนเชื่อว่า “เดี๋ยวมันก็จบ” แต่ถ้าหากไม่จบตามที่เธอเชื่อ จะทำอย่างไรต่อไป ? โรสอธิบายว่า ส่วนตัวเธอเตรียมแผนรับมือไว้แล้วสำหรับการอพยพไปยังประเทศมอลโดวาทางใต้ ซึ่งจะใกล้กว่าการอพยพไปทางตอนเหนือที่ของพรมแดนโปแลนด์

อย่างไรก็ตาม คุณโรสเผยว่า อดห่วงสถานการณ์ในกรุงเคียฟไม่ได้ เนื่องจากมีเพื่อนชาวไทยที่พำนักอยู่ในเมืองหลวงยูเครน และยังคงได้ข่าวเสียงระเบิดและเตือนภัยอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ เพื่อนคนไทยหลายคนก็ตื่นตระหนกตกใจกัน เกือบทั้งหมดต่างพยายามหาลู่ทางอพยพหลบหนี

“ส่วนตัวกำลังใจยังดีอยู่ค่ะ ความรู้สึกส่วนตัวยังดีอยู่ ยังไม่อยากอพยพ แต่ห่วงคนที่อยู่เคียฟ เพราะเค้าอยู่ในสถานการณ์ที่คาดเดายาก มันมีเสียงระเบิด เสียงปืนตลอดเวลา แล้วเราจะออกไปจุดนัดพบที่อพยพได้ยังไง ก็ห่วงตรงนี้อ่ะค่ะ ภาพข่าวที่ปรากฎในทีวีมันน่าห่วงมาก อยากให้ทุกคนปลอดภัยค่ะ อยากให้คนไทยดูแลตัวเองดี ๆ แล้วก็อพยพไปถึงจุดอพยพอยู่รอดปลอดภัยกันทุกคน”