ธนบัตร เหรียญ แสตมป์ ธง และอื่น ๆ ที่ต้องเปลี่ยน เมื่ออังกฤษผลัดแผ่นดิน

Buckingham Palace, London, Thursday June 2, 2022 (Alastair Grant/Pool Photo via AP)

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของอังกฤษในช่วงผลัดแผ่นดินจากควีนเอลิซาเบธสู่คิงชาร์ลส์ จะมีผลต่อสัญลักษณ์ต่าง ๆ ของราชวงศ์ที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน

วันที่ 9 กันยายน 2565 เดอะการ์เดียน รายงานว่า ช่วงเวลาที่สหราชอาณาจักรผลัดเปลี่ยนประมุขของแผ่นดิน จากสมเด็จพระนางเจ้าเอลิซาเบธที่ 2 เป็นพระเจ้าชาร์ลส์ ที่ 3 สิ่งที่จะต้องเปลี่ยนแปลงไป จะเหมือนกับเมื่อครั้งที่พระเจ้าจอร์จที่ 6 เสด็จสวรรคตระหว่างทรงบรรทม ที่พระตำหนักซานดริงแฮม เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1952

ช่วงเวลานั้น เจ้าหญิงเอลิซาเบธที่ 2 พร้อมด้วยเจ้าชายฟิลิป พระสวามี อยู่ระหว่างเสด็จเยือนประเทศเคนยา พระองค์ทรงขึ้นเป็น ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ในทันที

gettyimages

“ขั้นตอนเดียวกันนั้นจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ควีนเสด็จสวรรคต และคิงชาร์ลส์ที่ 3 ขึ้นครองราชย์” โรเบิร์ต แบล็กเบิร์น นักวิชาการด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่คิงส์ คอลเลจ แจ้งต่อรัฐสภา

อย่างไรก็ตาม การครองราชย์ที่ยาวนานจนเป็นสถิติของควีน ทำให้พระนาม พระบรมฉายาลักษณ์ และตราสัญลักษณ์ต่าง ๆ ปรากฏแพร่หลายไปทั่วสหราชอาณาจักร และเครือจักรภพ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ย่อมต้องใช้เวลานานขึ้น

ธนบัตรและเหรียญ

ธนบัตรปอนด์สเตอร์ลิงที่มีพระบรมฉายาลักษณ์ควีน หมุนเวียนอยู่ในตลาดราว 4,500 ล้านใบ มูลค่ารวมกว่า 80,000 ล้านปอนด์ (ราว 3.3 ล้านล้านบาท) การเปลี่ยนธนบัตรใหม่เข้าไปแทนน่าจะใช้เวลาถึง 2 ปี

ธนบัตรชุดล่าสุดราคา 50 ปอนด์ จะเข้าสู่กระบวนการเรียกคืนและทดแทนธนบัตรใหม่ โดยธนาคารแห่งชาติอังกฤษ ภายในเวลา 16 เดือน

A woman holds British Pound banknotes in this illustration taken May 30, 2022. REUTERS/Dado Ruvic/Illustration

นอกจากนี้ พระบรมฉายาลักษณ์ที่เป็นพระพักตร์ควีนยังปรากฏบนธนบัตร ราคา 20 ดอลลาร์ในแคนาดา และมีเหรียญพระพักตร์ควีน ที่นิวซีแลนด์ ชาติแคริบเบียนตะวันออก และชาติอื่น ๆ ในเครือจักรภพ

ส่วนการเปลี่ยนเหรียญอาจใช้เวลานานกว่าธนบัตร เพราะโดยทั่วไปแล้ว เหรียญจะทำออกมาเป็นพระพักตร์ของสมาชิกพระราชวงศ์หลายพระองค์ได้ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงน่าจะเป็นไปโดยปกติ มากกว่าจะเรียกคืนเหรียญเก่า

FILE –  a commemorative coin depicting Britain’s Queen Elizabeth II i(AP Photo/Ashley Chan, File)

ตู้ไปรษณีย์และแสตมป์

สัญลักษณ์โดดเด่นหนึ่งของอังกฤษ คือตู้ไปรษณีย์สีแดง ที่มีตัวอักษรย่อ ER ตามพระนามของควีน น่าจะไม่ถูกถอดออก เพราะบางตู้ยังคงให้มีอักษร GR ตามพระนามพระเจ้าจอร์จเหลืออยู่

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของแสตมป์ที่ใช้พระพักตร์ควีนมาตลอด 70 ปีของการครองราชย์ จะเปลี่ยนเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของกษัตริย์ชาร์ลส์

REUTERS

เพลงชาติ

เนื้อเพลงจะเปลี่ยนเนื้อร้องจาก “God save our gracious Queen” เป็น “God save our gracious King” แม้ว่าคงต้องใช้เวลาอีกพักหนึ่งที่มวลชนจะร้องเพลงเวอร์ชั่นใหม่ด้วยความมั่นใจ สำหรับเพลงชาติที่อังกฤษใช้อยู่นี้ เป็นเวอร์ชั่นปี 1745 มีเนื้อร้องในตอนนั้นว่า “God save great George our king, Long live our noble king, God save the king”

นักฟุตบอลทีมชาติอังกฤษร้องเพลงชาติ

ธง

ธงที่ติดอยู่หน้าสถานีตำรวจ หน่วยงานกองทัพ ไปจนถึงสถานีดับเพลิง ทั่วเกาะอังกฤษและสหราชอาณาจักร ของเดิมมีรูปเรือกองทัพ ประดับด้วยตัวอักษรสีทอง EIIR ที่มาจากพระนาม Elizabeth-เอลิซาเบธ จะเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับธงที่ใช้รับเสด็จในออสเตรเลีย แคนาดา และนิวซีแลนด์ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเรียกว่า “E flags” ใช้เป็นธงประจำพระองค์ของควีน

ธงมหาราช

ธง The royal standard หรือธงมหาราช ซึ่งเป็นธงประจำพระองค์ มีสัญลักษณ์รวมจากธงสกอตแลนด์ ธงไอร์แลนด์ และธงอังกฤษ (ไม่มีธงเวลส์ เนื่องจากเวลส์มามีธงชาติตัวเองเมื่อปี 1959) จะขึ้นเหนือยอดเสาอาคารที่ควีนประทับอยู่ คาดว่าจะเปลี่ยนเช่นกัน และคาดว่าธงใหม่จะมีสัญลักษณ์ของธงเวลส์รวมเข้าไปด้วย

บทสวด

ควีนทรงเป็นประมุขสูงสุดแห่งคริสตจักรแห่งอังกฤษ (Church of England) ทรงมีพระนามในบทสวด ท่อนที่ให้คำมั่นรับใช้พระผู้เป็นเจ้า ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลง

ตราแผ่นดิน

Royal arms หรือตราแผ่นดินที่ผู้คนชินตา เป็นรูปสัญลักษณ์สิงโต กับยูนิคอร์น ยืนสองขาคนละฝั่ง ชนโล่ที่คั่นอยู่ตรงกลาง อาจไม่ต้องเปลี่ยนแปลง ยกเว้นกษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงต้องการให้เพิ่มสัญลักษณ์ธงเวลส์เข้าไปที่โล่ ให้เหมือนกับธงมหาราช

คำสาบานจงรักภักดี

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษ จะร่วมอภิปราย ลงมติ หรือรับเงินเดือนไม่ได้ หากไม่กล่าวคำสาบานที่จะจงรักภักดีต่อองค์พระประมุข ถ้อยคำประกาศที่เคยใช้มาตั้งแต่ปี 1952 นับจากที่ควีนขึ้นครองราชย์ จะเปลี่ยนตรงท่อนท้าย ที่เอ่ยว่า “ข้าพเจ้าจะจงรักภักดีต่อ ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ผู้สืบราชบัลลังก์ และองค์รัชทายาทของพระองค์” เป็นคิงชาร์ลส์ที่ 3 ผู้สืบราชบัลลังก์ และองค์รัชทายาทของพระองค์

ประมุขแห่งเครือจักรภพ

การเสด็จสวรรคตของควีนเอลิซาเบธที่ 2 อยู่ในช่วงที่มีกระแสเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญของชาติสมาชิกเครือจักรภพหลายประเทศจาก 14 ประเทศ

จังหวะที่ผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน ชาติสมาชิกเหล่านี้ต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขถ้อยคำในรัฐธรรมนูญ จากควีนเอลิซาเบธที่ 2 เป็น คิง ชาร์ลส์ที่ 3 แต่อาจมีหลายประเทศต้องการยกเลิกการมีประมุขของราชวงศ์อังกฤษเป็นประมุขของประเทศไปเลย

FILE – พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินี คามิลลา (Chris Jackson/Pool Photo via AP, File)

เช่น จาเมกา มีขบวนการเรียกร้องการเปลี่ยนเป็นระบอบสาธารณรัฐ และเบลิซ ต้องการจัดทำประชามติ ว่าจะเปลี่ยนประมุขหรือไม่ หลังจาก บาร์เบโดสเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐไปแล้ว เมื่อปี 2021 (พ.ศ. 2564)

อังกฤษจึงอาจเสียการปกครองให้ดินแดนในแถบแคริบเบียนเพิ่มขึ้น ไม่ว่า ปาปัวนิวกินี หมู่เกาะโซโลมอน ตูวาโล แอนติกัว และบาร์บูดา หมู่เกาะบาฮามาส เกรนาดา เซนต์คิตส์ และเนวิส เซนต์ลูเซียและเซนต์วินเซนต์ หมู่เกาะเกรนาดีนส์ ยังไม่แน่ชัดว่าจากนี้ไปอังกฤษจะแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการมาประจำได้เหมือนเดิมหรือไม่