
นายกฯ หญิงอังกฤษ แถลงนำประชาชนไว้อาลัยควีน พร้อมถวายความจงรักภักดีต่อ พระเจ้าชาร์ลส์ ที่ 3
วันที่ 8 กันยายน 2565 บีบีซี รายงานว่า สหราชอาณาจักรเข้าสู่รัชสมัย พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 หลังสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จสวรรคต และมีผลให้คำถวายพระพรและเพลงชาติของอังกฤษ เปลี่ยนจาก God Save the Queen เป็น God Save the King
ลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรที่ได้รับแต่งตั้งจากควีนเป็นคนสุดท้าย และเพิ่งได้เข้าเฝ้าฯ เมื่อวันที่ 6 ก.ย. เปิดแถลงที่ทำเนียบเลขที่ 10 ถนนดาวนิง กล่าวไว้อาลัยและสดุดีว่า ควีนทรงปกครองสหราชอาณาจักรให้มีเสถียรภาพและแข็งแกร่ง ตลอดพระชนม์ชีพ พระองค์เสด็จฯเยือนดินแดนต่าง ๆ มากกว่า 100 ประเทศ ทรงเป็นที่เทิดทูนของผู้คนหลายล้านคนทั่วโลก

“ในช่วงเวลายากลำบากข้างหน้านี้ เราต้องสามัคคีกัน ร่วมกับเพื่อนของเราทั่วสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพ และกับโลก เพื่อเทิดพระเกียรติ พระราชกรณียกิจที่พิเศษสุดตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์
วันนี้เป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ แต่ควีนเอลิซาเบธที่ 2 จะคงเป็นตำนานที่ยิ่งใหญ่
วันนี้เป็นการผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน ดังที่เป็นมานานเกินกว่าหนึ่งพันปี ราชวงศ์ของเรามีองค์พระประมุขใหม่ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3

เราจะร่วมไว้อาลัยพระราชมารดาของพระองค์ เราจะร่วมกันในฐานะประชาชนที่สนับสนุนพระองค์ และช่วยพระองค์รับพระราชกรณียกิจที่พระองค์ขณะนี้ทำเพื่อเราทั้งหมด
เราจะถวายความจงรักภักดีดุจเดียวกับที่เราถวายให้พระราชมารดาของพระองค์อย่างมากมาย อย่างล้นเหลือ และอย่างยาวนาน เมื่อเราผ่านรัชสมัยขององค์เอลิซาเบธ เราได้เข้าสู่ยุคใหม่ในประวัติศาสตร์ที่มหัศจรรรย์ของประเทศที่ยิ่งใหญ่ดังที่ควีนทรงมีพระราชประสงค์ไว้ ด้วยการพูดคำว่า God save the King” นายกฯหญิงกล่าว
ก่อนหน้านี้ แถลงการณ์สำนักพระราชวัง แจ้งข่าวการสวรรคตของควีนว่า “ควีนสวรรคตอย่างสงบที่บัลมอรัลบ่ายนี้ กษัตริย์และสมเด็จพระราชินี จะประทับ ณ บัลมอรัลในเย็นวันนี้ และจะเสด็จกลับกรุงลอนดอนในวันพรุ่งนี้”

สำหรับพระราชประวัติ คิง ชาร์ลส์ ที่ 3 พระชนมพรรษา 73 พรรษา พระราชสมภพ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 1948 (พ.ศ. 2491) เป็นพระราชโอรสองค์โตของควีนเอลิซาเบธที่ 2 และเจ้าชายฟิลิป มีพระขนิษฐา 1 พระองค์คือ เจ้าหญิงแอนน์ และพระอนุชา 2 พระองค์ คือเจ้าชายแอนดรูว์ และเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด

ทรงได้รับการสถาปนาให้เป็นเจ้าชายแห่งเวลส์ เมื่อพระชันษา 10 ปี และขึ้นเป็นมกุฎราชกุมาร รัชทายาทลำดับที่ 1 เมื่อเจริญพระชันษา 21 ปี
ทรงเป็นพระราชวงศ์พระองค์แรกที่เข้าศึกษาที่โรงเรียน ณ โรงเรียนฮิลล์ เฮ้าส์ กรุงลอนดอน จากนั้นศึกษาต่อโรงเรียนเตรียมความพร้อมด้านวิชาเคมีในเมืองเบิร์กเชอร์ และทรงสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

เมื่อครั้งวัยหนุ่ม ทรงถูกจับตาเรื่องการเลือกคู่ครองและเป็นข่าวหลายครั้ง รวมถึงกับคามิลลา ปาร์กเกอร์ โบวลส์ ที่มีข่าวว่าสนิทสนมเป็นพิเศษ แต่ไม่อาจลงเอยได้ เพราะติดขัดที่กฎระเบียบราชสำนัก
ต่อมาทรงหมั้นกับ เลดี้ ไดอานา แห่งตระกูลสเปนเซอร์ วัย 19 ปี หญิงที่เจ้าชายฟิลิป พระบิดาสนับสนุน ขณะที่เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มีพระชนมพรรษา 30 พรรษา โดยมีพระราชพิธีอภิเษกสมรสวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2524 ที่มีการถ่ายทอดสดไปทั่วโลก

เจ้าหญิงไดอานาทรงมีพระโอรสกับเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ 2 พระองค์ คือเจ้าชายวิลเลียม และเจ้าชายแฮร์รี ท่ามกลางชีวิตสมรสที่มีปัญหาและเป็นข่าวอื้อฉาวอย่างต่อเนื่อง โดยมี คามิลลา ปาร์กเกอร์ โบวลส์ เข้ามาพัวพันด้วย
ปี 1996 (พ.ศ. 2539) ทั้งสองหย่าร้างกัน และหนึ่งปีต่อมา เจ้าหญิงไดอานาสิ้นพระชนม์ในอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส วันที่ 31 ส.ค. กลายเป็นเหตุการณ์ช็อกไปทั่วโลก และราชวงศ์อังกฤษต้องปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อขานรับความโศกเศร้าของประชาชนต่อการจากไปของเจ้าหญิงไดอานา

แปดปีจากนั้น หลังจากสังคมเปลี่ยนไปและมีกระแสต้านลดลง เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ทรงอภิเษกอีกครั้งกับ คามิลลา วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2005 (พ.ศ. 2548) โดยคามิลลาทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์
ในพระราชพิธีฉลองควีนครองราชย์ครบ 70 ปีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ควีนทรงมีพระราชกระแสรับสั่ง หวังให้คามิลลาขึ้นเป็นราชินี เคียงข้างเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เมื่อขึ้นครองราชย์
ทั้งนี้ หลังควีนเสด็จสวรรคตวันที่ 8 กันยายน คำที่ใช้เรียก คามิลลา ในนาทีที่เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ทรงขึ้นเป็นกษัตริย์ พระเจ้าชาร์ลส์ ที่ 3 จึงเป็นคำว่า queen consort หรือ สมเด็จพระราชินี ซึ่งหมายถึงราชินีคู่สมรส เป็นไปตามพระราชประสงค์ของควีน

….