“ยุโรป” จ่ายมากได้น้อย รัดเข็มขัด รับของแพง

ยุโรป ค่าครองชีพ

สถานการณ์ราคาพลังงานและอัตราดอกเบี้ยที่พุ่งสูงส่งผลกระทบ อย่างรุนแรงต่อผู้บริโภคในสหภาพ ยุโรป (อียู) และสหราชอาณาจักร (ยูเค) ที่ต้องเผชิญกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน กลายเป็น “วิกฤตค่าครองชีพ” ชาวยุโรปต้องปรับเปลี่ยนวิถีการบริโภค เพื่อรับมือกับภาวะเงินเฟ้อที่คาดว่าจะรุนแรงอย่างต่อเนื่อง

ไฟแนนเชียลไทมส์รายงานว่า วิกฤตค่าครองชีพในยุโรปส่งผลให้ผู้บริโภคต้องปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น แต่ราคาสินค้าที่พุ่งสูงขึ้นทำให้ผู้บริโภคก็ยังคงต้องใช้จ่ายเงินมากขึ้นเพื่อซื้อหาสินค้าที่ต้องการ

ข้อมูลใน ส.ค. ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคในอียูสูงกว่า ส.ค. 2021 ถึง 9% แต่ปริมาณสินค้าที่ได้รับกลับลดลงราว 1% เช่นเดียวกันกับข้อมูลในยูเคที่พบว่า ชาวอังกฤษใช้จ่ายใน ก.ย. 2022 มากกว่าเดือนเดียวกันของปี 2021 ราว 4% แต่ได้รับสินค้าในปริมาณที่น้อยลงถึง 7%

ขณะที่บลูมเบิร์กรายงานผลการสำรวจของบริษัทวิจัยการตลาด “ไออาร์ไอ” (IRI) พบว่า ชาวยุโรปถึง 71% ระบุว่าได้ปรับเปลี่ยนวิธีการใช้จ่ายเพื่อรับมือกับภาวะเงินเฟ้อ โดยมีผู้บริโภคถึง 58% ที่ระบุว่าได้ตัดลดค่าใช้จ่ายแม้กระทั่งในส่วนที่จำเป็น ขณะที่อีกราว 35% ยอมรับว่าได้นำเงินออมหรือเงินจากการกู้ยืมออกมาใช้จ่ายในช่วงเวลานี้

“อนันดา รอย” รองประธานอาวุโสของไออาร์ไอ ชี้ว่า ภาวะเงินเฟ้อรุนแรงที่ผู้บริโภคยุโรปกำลังเผชิญ บีบคั้นพฤติกรรมการบริโภคอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เห็นได้จากการซื้ออาหารที่ลดลง การซื้อสินค้าจากร้านที่มีส่วนลด สินค้าตราห้าง หรือกระทั่งสินค้าล้าสมัยที่มีราคาถูกกว่า

ขณะที่การใช้จ่ายเพื่อความบันเทิงก็ลดลงเช่นกัน อย่างการใช้จ่ายในโรงภาพยนตร์ของผู้บริโภคในเยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน และยูเค ช่วง ก.ย.-ต.ค.ที่ผ่านมา ลดลงถึง 59% จากช่วงเดียวกันของปี 2019 ตามข้อมูลของเว็บไซต์ข้อมูลอุตสาหกรรมภาพยนตร์ “บอกซ์ออฟฟิศโมโจ”

เช่นเดียวกันกับยอดขายรถยนต์ในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกช่วง ต.ค. 2021-ก.ย. 2022 ที่หดตัวลงเกือบหนึ่งในสาม เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2018-2019 ตามข้อมูลของบริษัทวิจัยตลาด “รีฟินิทีฟ” ขณะที่ยอดการจองโรงแรมที่พักก็มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน

ด้านผู้ประกอบการก็เปิดเผยถึงผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อในยุโรป อย่าง “ยูนิลีเวอร์” ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคยักษ์ใหญ่ระบุว่า บริษัทตัดสินใจขึ้นราคาสินค้าราว 12.5% ในไตรมาส 3/2022 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เพื่อรับมือกับต้นทุนที่สูงขึ้น แต่ก็ส่งผลให้ปริมาณการขายลดลง 1.6% ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะในยุโรปที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

ขณะที่บริษัทอีคอมเมิร์ซระดับโลกอย่าง “แอมะซอน” ระบุว่า สถานการณ์เงินเฟ้อส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการจัดส่งสินค้าข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะที่การใช้จ่ายของชาวยุโรปก็มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเยอรมนีและยูเคที่เป็นตลาดใหญ่สุดรองจากสหรัฐอเมริกา

“เมลานี เดอโบโน” นักเศรษฐศาสตร์ยุโรปจากบริษัทที่ปรึกษา “แพนธีออน แมคโครอิโคโนมิกส์” ชี้ว่า การบริโภคในกลุ่มประเทศยูโรโซนมีแนวโน้มจะลดลงอีกไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ซึ่งรายได้ที่ลดลงของภาคครัวเรือนส่งผลให้ผู้บริโภคต้องประหยัดและลดค่าใช้จ่ายบางส่วน เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีเงินเพียงพอสำหรับค่าพลังงานทำความร้อนในช่วงฤดูหนาวนี้