ทำไม 5 ยักษ์เทคโนโลยี พากันตกที่นั่งลำบาก ?

5 ยักษ์เทคโนโลยี
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ที่ถือกำเนิดจากซิลิคอนวัลเลย์อย่างอัลฟาเบต (เจ้าของกูเกิลและยูทูบ), อเมซอน, แอปเปิล, เมตา (เจ้าของเฟซบุ๊ก) และไมโครซอฟท์ ไม่เพียงเป็นกิจการที่เป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลก ยังเป็นฐานรากสำคัญให้กับตลาดหลักทรัพย์และเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐอเมริกามาเป็นเวลานานเต็มที

อัตราการเติบโตในแต่ละปีเชื่อถือได้ และมีศักยภาพในการสร้างผลกำไรจากการประกอบการได้อย่างน่าพึงพอใจมาตลอด จนกระทั่งถึงไตรมาส 3 ที่ผ่านมานี่เองที่บริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งห้าบริษัทออกอาการซวนเซให้เห็นอย่างน่าตกใจ

จนถึงขณะนี้ มาร์เก็ตแคป หรือมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดของทั้งห้าบริษัทรวมกันหดหายไปมากถึง 37 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นเม็ดเงินแล้วสูงถึง 3.7 ล้านล้านดอลลาร์ หายวับไปกับตา

คำถามก็คือเกิดอะไรขึ้นกับบริษัทเทคโนโลยีขนาดยักษ์เหล่านี้

แน่นอนว่า กฎที่ว่าด้วยการขยายตัวของกิจการเมื่อเติบโตมาถึงระดับหนึ่งย่อมประสบภาวะอิ่มตัวเป็นธรรมดา ถูกนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่นำมาใช้เป็นเหตุผลเพื่ออธิบายถึงปรากฏการณ์นี้เป็นลำดับแรก

อัตราการขยายตัวของยอดขายของบริษัทเหล่านี้ในไตรมาสล่าสุดอยู่เพียงแค่ 9 เปอร์เซ็นต์ แทบจะไม่โผล่พ้นอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกาเสียด้วยซ้ำไป

นักวิเคราะห์ชี้ว่า เมื่อกิจการของบริษัทใดบริษัทหนึ่งขยายตัวเติบใหญ่มากขึ้นเรื่อย ๆ บริษัทดังกล่าวก็จะถูกผูกโยงเข้ากับสภาวการณ์ทางด้านเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นเดียวกัน เมื่อเศรษฐกิจเป็นช่วงขาลง ก็ทำให้บริษัทเหล่านี้หนีขาลงไม่พ้นเช่นกัน

หลายสิ่งหลายอย่างเป็นที่มาของรายได้งดงามของบริษัทเหล่านี้ตกอยู่ในสภาพ “มีแต่ทรงกับทรุด” ตั้งแต่จำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนที่แทบจะเรียกได้ว่าแทบถึงจุดอิ่มตัวเต็มทีแล้ว การโฆษณาแบบดิจิทัลก็ดี หรือกระแสการสตรีมมิ่งก็ดี ล้วนแต่หาทางขยายตัวเพิ่มได้ลำบากทั้งสิ้น ผลจากการนี้ทำให้กิจการที่เป็นแกนหลักหรือ “คอร์บิสซิเนส” ของบริษัทชะลอตัวตามไปด้วย

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือเกิดความพยายามรุกคืบเข้าไปในขอบเขตธุรกิจของต่างบริษัทซึ่งกันและกัน ซึ่งกลายเป็นการเพิ่มการแข่งขันกันหารายได้และแสวงหากำไรมากยิ่งขึ้น

นักวิเคราะห์บางคนชี้ว่า เหตุผลแค่นั้นยังไม่เพียงพอและแสดงความเชื่อมั่นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับยักษ์เทคโนโลยีมะกันในเวลานี้เป็นอาการที่แสดงออกมาของสิ่งที่เรียกกันว่า “conglomeritis” หรือจะเรียกว่าโรคหลงตัวเอง ย่ามใจ หยิ่งทะนงของผู้มีอำนาจในบริษัทเหล่านี้ก็คงได้

โรคนี้สะท้อนออกมาให้เห็นในแง่ของการทุ่มงบประมาณเพื่อการว่าจ้างพนักงานแบบไม่ลืมหูลืมตา การ “ทดลอง” ลงทุนแบบสุ่มสี่สุ่มห้า การทุ่มเงินลงทุนไปในโครงการ “เพื่อความภาคภูมิใจ” ต่าง ๆ หรือแม้กระทั่ง การแห่กันลงทุนสร้างศูนย์ข้อมูลดิจิทัลขนาดมหึมา เป็นต้น

ดิ อีโคโนมิสต์ ที่ชี้ให้เห็นประเด็นนี้ระบุว่า เมื่อเดือนมีนาคม เป็นช่วงเวลาที่บริษัท ยักษ์ใหญ่ทั้งห้าพากันลงทุนรวมกันถึงหลัก 1 ล้านล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

ที่แย่หนักลงไปอีกก็คือ มีการลงทุนในทรัพย์สินทางกายภาพ เช่น ตึกรามอาคารเพิ่มมากขึ้น ทั้ง ๆ ที่บริษัทเหล่านี้ได้ชื่อว่าเป็นกิจการที่จำเป็นต้องมีทรัพย์สินเป็นรูปเป็นร่างน้อยมากด้วยกันทั้งสิ้น ในเดือนมีนาคมนี้เช่นเดียวกันยอดการลงทุนในทรัพย์สินเชิงกายภาพของทั้ง 5 บริษัทรวมกันพุ่งขึ้นไปถึง 600,000 ล้านดอลลาร์ สูงกว่าระดับเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมาถึง 3 เท่าตัว

ผลที่ได้ก็คือ ต้นทุนขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งทำให้ผลตอบแทนต่อหน่วยการลงทุนลดลงเป็นธรรมดา จากที่เคยเกิน 60 เปอร์เซ็นต์เมื่อ 5 ปีก่อนตอนนี้ลดลง มาเหลือเพียง 26 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง

3 ใน 5 บริษัทยักษ์นี้มีเหลือไม่เพียงพอสำหรับนำมาจ่ายเป็นเงินปันผลด้วยซ้ำไป

นักวิเคราะห์บางคนชี้ว่าพฤติกรรมหรือขอบเขตอำนาจของซีอีโอ/ผู้ก่อตั้งบริษัทก็มีส่วนก่อให้เกิดสถานการณ์เช่นนี้ขึ้น ซึ่งเห็นได้ชัดมากจากกรณีของ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง เมต้าหรือเฟซบุ๊กแต่เดิม ที่ออกอาการย่ำแย่ที่สุดในบรรดาบริษัททั้ง 5

ปีนี้ยังไปไม่ถึงสิ้นปี มูลค่าบริษัทหดหายไปแล้วถึง 74 เปอร์เซ็นต์ อันเนื่องมาจากความบกพร่อง ผิดพลาดในการตัดสินใจลงทุนเพื่อขยายกิจการให้หลากหลายออกไปจากกิจการหลักที่เป็นโซเชียลมีเดียแต่เดิม เทเดิมพันทั้งหมดไปที่เมตาเวิร์ส โดยไม่ไยดีกับเสียงทักท้วงของนักลงทุนภายนอก หรือแม้แต่คณะกรรมการบริหารบริษัท เพราะตนเองมีสิทธิออกเสียงอยู่ถึง 54 เปอร์เซ็นต์ของบอร์ดบริหารทั้งหมด ทำให้ตัดสินใจอะไรก็ได้ตามใจตัวเอง ผลจึงปรากฏอย่างที่เห็น

อัลฟาเบต เจ้าของกูเกิล ก็ไม่แตกต่างไปเท่าใดนัก ผู้ก่อตั้งบริษัทมีสิทธิออกเสียงถึง 51 เปอร์เซ็นต์ อาการแม้จะดีกว่าเมตาหน่อยแต่ก็ยังย่ำแย่

ที่แย่แต่อยู่ในระดับกลาง ๆ คือ อเมซอน ซึ่ง เจฟฟ์ เบซอส มีสิทธิโหวตในกรรมการบริหารเพียง 15 เปอร์เซ็นต์ จึงยังจำเป็นต้องรับฟังความคิดเห็นจากบอร์ดคนอื่น ๆ ด้วย

ส่วนแอปเปิลกับไมโครซอฟท์ หลุดพ้นจากปม “เจ้าของ/ผู้ก่อตั้ง” ไปแล้วก็เลยอยู่ในสภาพดีที่สุดในบรรดายักษ์ใหญ่ทั้งห้านั่นเอง