ฮังการีจ่อเผชิญวิกฤตเชื้อเพลิง อียูกำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซีย

ฮังการีจ่อเผชิญวิกฤตเชื้อเพลิง
REUTERS/Marton Monus/File Photo

ฮังการีอยู่ในสถานการณ์ใกล้วิกฤต หลังร่วมกับสหภาพยุโรป คว่ำบาตรรัสเซียด้วยการกำหนดเพดานราคาน้ำมันดิบ

วันที่ 7 ธันวาคม 2565 ฟรานซ์ทเวนตี้โฟร์ รายงานว่า สื่อฮังการีเผยแพร่ภาพประชาชนแห่ต่อคิวยาวนับร้อยเมตรตามปั๊มน้ำมันทั่วประเทศ เมื่อวันอังคารตามเวลาท้องถิ่น ขณะที่หลายปั๊มในกรุงบูดาเปสต์ไม่มีน้ำมันเติมให้ลูกค้า

“แกร์เกล กุลยาส” หัวหน้าสำนักนายกรัฐมนตรีฮังการี กล่าวโทษการคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซียของสหภาพยุโรป (อียู) ว่าเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาเชื้อเพลิง

กุลยาสประกาศว่า รัฐบาลฮัลการีจะยกเลิกการกำหนดเพดานราคาน้ำมันตามคำแนะนำของเอ็มโอแอล (บริษัทน้ำมันของฮังการี) ในทันที

“สิ่งที่เรากลัวได้กลายเป็นจริงแล้ว การคว่ำบาตรน้ำมันที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันจันทร์ เป็นเหตุให้เกิดปัญหาด้านปริมาณเชื้อเพลิงในฮังการีอย่างเห็นได้ชัด เอ็มโอแอลไม่สามารถทำต่อไปได้ หากไม่มีการนำเข้าน้ำมัน”

อียูเริ่มคว่ำบาตรการส่งมอบน้ำมันดิบทางทะเลของรัสเซีย ตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมา

“เกออร์กี บาคซา” ผู้อำนวยการบริหารเอ็มโอแอลให้สัมภาษณ์เอเอฟพีเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า “สถานการณ์ด้านอุปทานวิกฤตอย่างชัดเจน อุปสงค์ก็พุ่งสูงขึ้น ผู้บริโภคต่างพากันตุนน้ำมัน และเริ่มซื้อด้วยความตื่นตระหนก (panic buying)”

“การขาดแคลนน้ำมันบางส่วนเกิดขึ้นในเครือข่ายทั้งหมดของเรา และหนึ่งในสี่ของปั๊มน้ำมันของเราก็ไม่มีน้ำมัน”

การขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงมีสาเหตุมาจากการลดการนำเข้าลง 30% ประกอบกับโรงกลั่นน้ำมันแห่งหนึ่งของเอ็มโอแอลอยู่ระหว่างการซ่อมบำรุง ซึ่งต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์

การกำหนดเพดานราคาเชื้อเพลิงยานยนต์เป็นไปตามคำสั่งของรัฐบาล โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการขนส่งเชื้อเพลิงจากบริษัทต่างชาติมายังฮังการี ตามรายงานของสมาคมสถานบริการน้ำมันอิสระ

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ฮังการีตรึงราคาไว้ที่ประมาณ 1.17 ยูโรต่อลิตร สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเกรด 95

ฮังการีทบทวนเพดานราคาน้ำมันทุกสามเดือน ครั้งล่าสุดเป็นการขยายเวลาตรึงราคาน้ำมันเมื่อเดือนกันยายน ซึ่งจะมีผลไปถึงสิ้นปี

รัฐบาลฮังการีระบุว่า การจำกัดราคาอาหารและเชื้อเพลิง มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น

อัตราเงินเฟ้อในฮังการีทะยานไปถึง 21.6% ในเดือนตุลาคม ซึ่งนับเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่ปี 2539 และสูงเป็นอันดับสามในอียู ตามข้อมูลจากยูโรสแตต

แต่ธนาคารกลางฮังการีกล่าวโทษว่าการกำหนดเพดานราคาเชื้อเพลิงและอาหารมีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 3-4 จุด พร้อมเรียกร้องให้ยกเลิกเพดานดังกล่าว

นอกจากนี้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเริ่มก่อตัวขึ้นในฮังกาลี ซึ่งจีดีพีหดตัว 0.4% ในไตรมาส 3 ขณะที่ค่าเงินท้องถิ่น (โฟรินต์) ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เมื่อเทียบกับยูโรในปีนี้

ประธานธนาคารกลางฮังการีถึงกับออกปากว่า “ฮังการีอยู่ในสถานการณ์ใกล้วิกฤต”