สำรวจวิธีขับเคลื่อนศิลปะและวัฒนธรรม แบบฉบับทวีปยุโรป

Photo by ian dooley on Unsplash

สำรวจโลกทวีปยุโรป กับวิธีการส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรมให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่มากขึ้น

ศิลปะและวัฒนธรรม หนึ่งในสิ่งที่ช่วยจรรโลงจิดใจผู้คน ให้แรงบันดาลใจและช่วยเปิดมุมมองใหม่ ๆ ให้กับชีวิต และให้ความบันเทิงไปด้วยในเวลาเดียวกัน โดยมีหลากหลายรูปแบบที่สามารถเลือกเสพได้ ทั้งงานภาพวาด ภาพถ่าย การแสดงต่าง ๆ ไปจนถึงความบันเทิงแบบเสียงเพลง คอนเสิร์ต การแสดงดนตรี

ในโลกปัจจุบัน การเข้าถึงศิลปะและวัฒนธรรมต่าง ๆ สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ทั้งในรูปแบบออฟไลน์ งานแสดงที่จัดตามพื้นที่ต่าง ๆ และรูปแบบออนไลน์ ผ่านทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ยิ่งไปกว่านั้น คนรุ่นใหม่ทุกวันนี้ เลือกที่จะเสพความบันเทิงผ่านช่องทางเหล่านี้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นหนึ่งส่วนสำคัญที่สร้างผลกระทบต่อวงการศิลปะ และคนทำงานศิลปะจำนวนมาก ทำให้บางประเทศ โดยเฉพาะในทวีปยุโรป จัดมาตรการอัดฉีดเงินให้วัยรุ่นได้ใช้เพื่อออกไปเสพและเข้าถึงวัฒนธรรมต่าง ๆ อีกทั้งเพื่อช่วยเหลือและส่งเสริมให้วงการศิลปะและคนทำงานศิลปะยังเดินหน้าต่อได้

“ประชาชาติธุรกิจ” พาไปสำรวจโลกต่างประเทศ กับการส่งเสริมวัฒนธรรมให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น

อิตาลี ประเทศแรกที่เริ่มการส่งเสริมคนรุ่นใหม่เข้าถึงวัฒนธรรม

การส่งเสริมให้วัยรุ่น คนรุ่นใหม่ เข้าถึงวัฒนธรรม เริ่มต้นที่ประเทศอิตาลี ในชื่อ “Bonus Culture – 18App” ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2559 โดยทางการอิตาลี จะให้เงินแก่วัยรุ่นชาวอิตาลี อายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 500 ยูโร (ประมาณ 18,000 บาท) เพื่อให้พวกเขาได้ใช้เงินจำนวนนี้ไปกับการเข้าถึงวัฒนธรรมรูปแบบต่าง ๆ

ผู้ที่ได้รับสิทธิดังกล่าว จะได้รับบัตรพร้อมเงินจำนวนดังกล่าวเพื่อใช้สำหรับการใช้จ่ายในสถานที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ดูหนังที่โรงภาพยนตร์ เข้าชมพิพิธภัณฑ์ การชมคอนเสิร์ต การซื้อหนังสือ การเข้าร่วมกิจกรรมทางวัฒนธรรม เป็นต้น โดยสามารถใช้ได้ตามร้านค้าและพันธมิตรที่เข้าเงื่อนไขโครงการ

ภายหลัง เมื่อปี 2561 มีการขยายให้ครอบคลุมถึงการเข้าพื้นที่โบราณสถาน อุทยานธรรมชาติ และการเข้าคอร์สเรียนภาษาอีกด้วย

จากอิตาลี เริ่มขยายสู่ประเทศต่าง ๆ ในยุโรป

จากโครงการส่งเสริมวัฒนธรรมแบบรัฐบาลอิตาลี ซึ่งเริ่มต้นเมื่อปี 2559 ก็เริ่มมีประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรป นำโครงการดังกล่าวไปทำในประเทศของตัวเองอย่างต่อเนื่อง

ฝรั่งเศส

ประเทศแรก คือ ฝรั่งเศส ทำโครงการ “Culture Pass” มาตั้งแต่ปี 2564 โดยมอบเงินให้กับชาวฝรั่งเศสที่อายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 300 ยูโร (ประมาณ 11,000 บาท) เพื่อนำไปใช้จ่ายในลักษณะเดียวกัน โดยเงินดังกล่าวมีระยะเวลาการใช้งาน 2 ปี ใช้งานได้สูงสุด 100 ยูโร และต้องใช้งานกับร้านค้าหรือผู้ให้บริการที่เป็นชาวฝรั่งเศสเท่านั้น

สำนักข่าวยูโรนิวส์ เคยรายงานไว้เมื่อปีก่อนว่า งบประมาณจากโครงการนี้ถูกใช้กับการใช้จ่ายตามเงื่อนไขของโครงการ ราว 59 ล้านยูโร (ประมาณ 2,160 ล้านบาท) และโครงการดังกล่าวครอบคลุมถึงผู้ที่ไม่ได้ถือสัญชาติฝรั่งเศส แต่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปตามเงื่อนไข และพำนักอยู่ในฝรั่งเศสมากกว่า 1 ปีขึ้นไป จึงสามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้อีกด้วย

นอกจากนี้ ทางการฝรั่งเศสมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขโ8รงการใหม่ ให้ครอบคลุมกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-17 ปีขึ้นไป โดยจะได้รับเงินสนับสนุนในโครงการดังกล่าวตามลำดับอายุ ดังนี้

  • เมื่ออายุครบ 15 ปี ได้รับเงิน 20 ยูโร (ประมาณ 730 บาท)
  • เมื่ออายุครบ 16 ปี ได้รับเงิน 30 ยูโร (ประมาณ 1,100 บาท)
  • เมื่ออายุครบ 17 ปี ได้รับเงิน 30 ยูโร (ประมาณ 1,100 บาท)
  • เมื่ออายุครบ 18 ปีขึ้นไป ได้รับเงิน 300 ยูโร (ประมาณ 11,000 บาท)

รวมทั้งหมดจะได้รับ 380 ยูโร หรือราว 14,000 บาท

สเปน

ประเทศถัดมา คือ สเปน ในชื่อ “Bono Cultural Joven” หรือชื่อในภาษาอังกฤษ “Youth Cultural Bonus” โดยโครงการนี้ ทางการสเปนโดยกระทรวงวัฒนธรรมของสเปน จะให้เงินกับผู้ที่ก้าวสู่อายุ 18 ปี จำนวน 400 ยูโร (ประมาณ 14,600 บาท) เพื่อใช้จ่ายกับการเข้าชมงานศิลปะ พิพิธภัณฑ์ ความบันเทิงต่าง ๆ ตามที่โครงการกำหนด

ซึ่งโครงการนี้เกิดขึ้นเพื่อช่วยเหลือคนทำงานในแวดวงศิลปะและวัฒนธรรม หลังต้องชะงักจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กินเวลานานกว่า 2 ปี

สำหรับโครงการนี้ และเงินจำนวน 400 ยูโรที่ได้รับจากโครงการนี้ มีเงื่อนไขการใช้งานคือ

  • เงินจำนวน 400 ยูโร จะถูกแบ่งเพื่อใช้งานที่เกี่ยวข้องกับศิลปะและวัฒนธรรม 3 ประเภท คือ
  1. 200 ยูโร สำหรับการซื้อตั๋วเข้าชมการแสดงสด การชมภาพยนตร์ที่โรงภาพยนตร์ การเข้าชมพิพิธภัณฑ์ และการเข้าชมเทศกาลดนตรี
  2. 100 ยูโร สำหรับการซื้อผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อาทิ สื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ (หนังสือ นิตยสาร วารสาร) วิดีโอเกม แผ่นเพลงและภาพยนตร์ต่าง ๆ ทั้งในรูปแบบซีดี ดีวีดี และบลู-เรย์ (Blu-Ray)
  3. 100 ยูโร สำหรับการซื้อสื่อดิจิทัล อาทิ หนังสือ e-Book หนังสือเสียงดิจิทัล ไปจนถึงการสมัครสมาชิก Online Streaming ต่าง ๆ ทั้งแบบวิดีโอ เสียง (Podcast) การสมัครสมาชิกดิจิทัลสำหรับสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ

โดยเงินจำนวน 400 ยูโรที่ได้รับ จะมีระยะเวลาใช้งานเพียง 12 เดือนเท่านั้น และเงินจำนวน 100 ยูโร ที่ใช้สำหรับการสมัครสมาชิก Online Streaming จะสามารถใช้สำหรับการสมัครได้เพียง 4 เดือนแรกเท่านั้น

เยอรมนี

เยอรมนี ถือเป็นประเทศล่าสุดในทวีปยุโรป ที่จัดทำโครงการในลักษณะนี้ ในชื่อ “Kulturpass” โดยจะเริ่มต้นในวัยรุ่นที่จะเข้าสู่อายุ 18 ปี ในปี 2566 นี้ ซึ่งจะได้รับเงินจำนวน 200 ยูโร สำหรับการซื้อตั๋วเข้าชมคอนเสิร์ต พิพิธภัณฑ์ การแสดงต่าง ๆ ไปจนถึงสินค้าต่าง ๆ เช่นเดียวกับโครงการก่อน ๆ ในประเทศอื่นของทวีปยุโรป

สำหรับโครงการนี้ จะสามารถใช้งานได้เฉพาะการซื้อกับผู้ประกอบการรายเล็กในท้องถิ่นเท่านั้น ไม่สามารถใช้ได้กับการซื้อตั๋วคอนเสิร์ตราคาแพงและผู้ให้บริการที่เป็นเจ้าใหญ่ อย่าง Spotify หรือ Amazon

และหากโครงการนี้ประสบผลสำเร็จ ผลลัพธ์ออกมาเป็นที่น่าพึงพอใจ อาจมีการขยายโครงการให้ครอบคลุมวัยรุ่นที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป

การสนับสนุนวงการวัฒนธรรมในรูปแบบอื่น ๆ

นอกจากการสนับสนุนในลักษณะที่คล้ายกับประเทศที่กล่าวมาแล้ว ยังมีการสนับสนุนให้ผู้คนสามารถเข้าถึงวัฒนธรรมในรูปแบบอื่น อย่างการเปิดให้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ฟรี ซึ่งแต่ละพิพิธภัณฑ์ในยุโรป มีเงื่อนไขที่แตกต่างไป ตั้งแต่เปิดให้เข้าฟรีเฉพาะนักเรียน-นักศึกษา ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ไปจนถึงเปิดให้ทุกเพศ ทุกวัย สามารถเข้าชมได้ฟรี

นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (The European Commission) ยังได้เปิดตัวโครงการ Culture Moves Europe ซึ่งเป็นโครงการที่ร่วมมือกับสถาบันเกอเธ่ (Goethe-Institut) เพื่อสนับสนุนทุนการศึกษาต่อต่างประเทศด้านศิลปะและวัฒนธรรมแก่ผู้สร้างสรรค์งานศิลปะหน้าใหม่ เพื่อพัฒนาวิชาชีพของตนเอง และเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญ

โดยโครงการดังกล่าว มีการวางงบประมาณไว้มากถึง 21 ล้านยูโร หรือราว 770 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนทุนให้กับผู้คนกลุ่มดังกล่าวตลอด 3 ปีข้างหน้านับจากนี้

นับเป็นอีกหนึ่งวิธีที่น่าสนใจในการส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรมให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น เกิดแรงบันดาลใจและการเรียนรู้ใหม่ ๆ มากขึ้น ขณะเดียวกัน คนวงการศิลปะยังสามารถไปต่อได้ ซึ่งจะน่าสนใจไม่น้อย หากประเทศไทยนำแนวคิดโครงการเหล่านี้มาพัฒนา ควบคู่กับการส่งเสริมศิลปะไทยให้ก้าวหน้าสู่ระดับโลก