ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า หรือ “อีวี” ของจีนมีแนวโน้มจะเติบโตช้าลงในปี 2023 เนื่องจากการสิ้นสุดมาตรการอุดหนุนของทางการจีน ขณะที่ผู้บริโภคภายในประเทศยังได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้หลีกเลี่ยงการซื้อสินค้าชิ้นใหญ่ แต่ “จีน” ก็ยังคงเป็นผู้นำในตลาดอีวีระดับโลก
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์รายงานว่า การสิ้นสุดมาตรการอุดหนุนการซื้อรถอีวีของทางการจีนที่มีผลเมื่อ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้สร้างความกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดอีวีจีน ที่ได้รับการส่งเสริมกระตุ้นยอดขายมาโดยตลอดช่วง 12 ปีที่ผ่านมา
ข้อมูลของสมาคมรถยนต์นั่งส่วนบุคคลจีน (ซีพีซีเอ) คาดว่า ผู้ผลิตอีวีในจีนราว 200 ราย จะส่งมอบรถอีวีประมาณ 8.4 ล้านคันในปี 2023 เพิ่มขึ้นราว 30% จาก 6.4 ล้านคันในปี 2022 แต่อัตราการเพิ่มขึ้นดังกล่าวเทียบไม่ได้กับการเพิ่มขึ้นก้าวกระโดดในปี 2022 ถึง 114% จาก 2.99 ล้านคันในปี 2021
“ชุย ตงฉู่” เลขาธิการของซีพีซีเอระบุว่า ยอดขายรถอีวีจีนในปี 2023 ขึ้นอยู่กับความสามารถของธุรกิจต่าง ๆ ในการสร้างงานและเพิ่มรายได้ให้ผู้คนมีกำลังซื้อ ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมอีวีจีนยังต้องใช้ความพยายามในการล็อบบี้หน่วยงานต่าง ๆ ให้มีมาตรการจูงใจการซื้อรถอีวี
ด้าน “ติง ไห่เฟิง” จากบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน “อินทิกริตี้” ชี้ว่า “ตลาดอีวีจีนขึ้นอยู่กับแนวโน้มทางเศรษฐกิจ ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันทำให้ผู้บริโภคระดับกลางส่วนใหญ่ไม่มั่นใจว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นในปี 2023 จึงมีความระมัดระวังในการตัดสินใจซื้อรถอีวี”
การขยายตัวของตลาดอีวีที่ช้าลง ยังอาจส่งผลให้เกิดภาวะการผลิตล้นเกิน “เกา เซิน” นักวิจัยอิสระในเซี่ยงไฮ้ชี้ว่า การแข่งขันจะรุนแรงขึ้นในปี 2023 เนื่องจากมีรถอีวีรุ่นใหม่เตรียมออกสู่ตลาดมากมาย ทั้ง “ไป่ตู้” (Baidu) และผู้ผลิตอีวีอัจฉริยะอย่าง “เสี่ยวเผิง” (Xpeng) “ลีออโต้” (Li Auto) “นีโอ” (Nio) และผู้ผลิตอื่น ๆ ที่เตรียมส่งมอบรถรุ่นใหม่หลายสิบรุ่นในปีนี้
ขณะที่ “บีวายดี” (BYD) ได้ขึ้นแท่นเป็นผู้ผลิตอีวีรายใหญ่ที่สุดของโลก หลังจากยอดขายทั่วโลกในปี 2022 ที่ผ่านมาพุ่งสูงถึง 1.85 ล้านคัน ขึ้นแซงยักษ์ใหญ่สหรัฐ “เทสลา” ไปแล้ว โดยยอดขายของบีวายดีส่วนใหญ่เป็นตลาดในจีน ผลจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลงจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้รถอีวีของ “บีวายดี” ที่มีความคุ้มราคาได้รับการตอบรับจากผู้ซื้อระดับกลางมากขึ้น
สำหรับแบรนด์รถอีวีที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดในจีน (ม.ค.-พ.ย. 2022) “บีวายดี” ครองมาร์เก็ตแชร์อันดับหนึ่ง 30.6% ตามมาด้วย SAIC-GM-Wuling 8.3%, เทสลา 7.6%, GAC 4.6%, เฌอรี่ 4.1% และฉางอัน 3.8%
อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งของอีวีจีน อยู่ที่อุตสาหกรรมแบตเตอรี่ โดยมีบริษัทจีนถึง 6 แห่ง ติด Top 10 ของผู้ผลิตแบตเตอรี่อีวีโลก ได้แก่ ซีเอทีแอล (CATL) บีวายดี ซีเอแอลบี (CALB) โกชัน ไฮเทค (Gotion High-tech) ซันโวดะ (Sunwoda) และอีฟ เอนเนอร์จี (Eve Energy) ซึ่งแบตเตอรี่อีวีจีนคิดเป็นสัดส่วนถึง 60.5% ของตลาดโลก
การเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตฯแบตเตอรี่จีนได้รับแรงหนุนสำคัญจากยอดขายรถอีวี ซึ่งหากยอดขายอีวีจีนเติบโตช้าลงในปีนี้ก็อาจส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตแบตเตอรี่เช่นกัน
“ดาวิส จาง” ผู้บริหารของบริษัทซัพพลายเออร์แบตเตอรี่ “ซูโจว ฮาซาร์ดเทกซ์” ระบุว่า “ขณะนี้จีนเป็นผู้นำโลกในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่อีวีจีนทั้งด้านเทคโนโลยีและยอดขาย แต่บริษัทเหล่านี้ก็จำเป็นต้องเร่งหาตลาดต่างประเทศมากขึ้น เพื่อรองรับปัญหาการผลิตล้นเกินในจีน”