วางแผนรวยพร้อมเทรนด์ EV ชิลีตั้งบริษัทของรัฐผลิตลิเทียม เอกชนมีสิทธิแค่ร่วมทุน

ชิลี ลิเธียม
REUTERS/ Ivan Alvarado/ File Photo

เมื่อความนิยมยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นยิ่งเพิ่มความร่ำรวยให้ผู้ผลิตลิเทียม รัฐบาลประเทศชิลี ซึ่งเป็นประเทศที่ผลิตลิเทียมอันดับ 2 ของโลก จึงเตรียมตั้งบริษัทของรัฐผลิตลิเทียมเอง ไม่ให้สัมปทานเอกชน จะทำได้ต้องร่วมทุนกับรัฐเท่านั้น   

วันที่ 21 เมษายน 2566 สำนักข่าว Reuters รายงานว่า กาเบรียล โบริก ฟอนต์ (Gabriel Boric Font) ประธานาธิบดีประเทศชิลีประกาศยกระดับอุตสาหกรรมลิเทียมของประเทศชิลี ซึ่งเป็นประเทศที่ผลิตลิเทียมเป็นอันดับ 2 ของโลก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและปกป้องสิ่งแวดล้อม

เขาบอกว่า จะโอนการควบคุมการดำเนินการผลิตลิเทียมจำนวนมหาศาลจากบริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรม ไปอยู่ในการควบคุมดำเนินการของรัฐ ซึ่งจะมีการก่อตั้งบริษัทผลิตลิเทียมของรัฐขึ้นมาใหม่  

ในเบื้องต้นจะให้ Codelco ผู้ผลิตทองแดงรายใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งเป็นบริษัทของรัฐ รับหน้าที่ดูแลโปรเจ็กต์ ค้นหา-ออกแบบแนวทางที่ดีที่สุดสำหรับบริษัทลิเทียมของรัฐ รวมถึงจะให้ Codelco สกัดแร่ลิเทียมไปก่อนที่จะมีการตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาทำโดยตรง 

โบริกบอกว่าจะเสนอแผนนี้เพื่อขออนุมัติจากสภาในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ 

สิ่งที่จะเปลี่ยนไปคือ จะไม่มีการให้สัมปทานการทำเหมืองแก่เอกชน แต่จะเปิดโอกาสให้เอกชนมากที่สุดเพียงรูปแบบการร่วมทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชน โดยการควบคุมของรัฐเท่านั้น  

ประธานาธิบดีชิลีกล่าวโดยไม่ได้ระบุชื่อเอกชนที่รับสัมปทานทำเหมืองแร่ว่า รัฐบาลจะไม่ยุติสัญญาที่ยังไม่หมดอายุ แต่หวังว่าบริษัทต่าง ๆ จะเปิดให้รัฐเข้าร่วมทุนก่อนที่จะหมดสัญญา 

อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลเปิดเผยต่อสาธารณะว่า Albemarle ซึ่งเป็นผู้ผลิตลิเทียมอันดับ 1 มีสัญญาทำเหมืองแร่ลิเทียมที่จะหมดอายุในปี 2586 ส่วน SQM ผู้ผลิตอันดับ 2 ของโลก ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ของเทสลา (Tesla) มีสัญญาที่จะหมดอายุในปี 2573  

นอกจากในแง่ผลประโยชน์ที่จะเก็บเข้ารัฐมากขึ้นแล้ว เขาบอกว่า ชิลีจะปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ และแบ่งปันผลประโยชน์จากการทำเหมืองให้กับชนพื้นเมืองและชุมชนโดยรอบเหมือง บริษัทของรัฐจะมีฝ่ายที่ทุ่มเททำงานพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมโดยตรง 

ประธานาธิบดีชิลี ประกาศตั้งบริษัทผลิตลิเธียม
กาเบรียล โบริก ฟอนต์ ประธานาธิบดีประเทศชิลี/ REUTERS/ Henry Romero/File Photo

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ของรัฐบาลชิลี ถือเป็นความท้าทายครั้งใหม่สำหรับผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ต้องดิ้นรนหาวัสดุผลิตแบตเตอรี่เพื่อความมั่นคงในการผลิตแบตเตอรี่ เนื่องจากประเทศต่าง ๆ กำลังพยายามปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของตนเองมากขึ้น ก่อนหน้านี้เม็กซิโกก็ได้โอนแหล่งแร่ลิเธียมจากเอกชนไปเป็นของรัฐเมื่อปีที่แล้ว และอินโดนีเซียห้ามส่งออกแร่นิกเกิลที่เป็นวัสดุสำคัญของแบตเตอรี่ในปี 2563 

ด้าน Albemarle ที่จะได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้กล่าวว่า การประกาศดังกล่าวของรัฐบาลชิลีจะไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อธุรกิจ และจะยังคงหารือถึงเรื่องการลงทุนเพื่อการเติบโตยิ่งขึ้นไป และเรื่องการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการทำเหมืองในชิลี 

การประกาศของรัฐบาลชิลีไม่ได้กระตุ้นให้ราคาลิเทียมพลิกกลับแต่อย่างใด ณ ตอนนี้ราคา MB-LI-0036 (Lithium carbonate 99.5% Li2CO3) ลดลงมาจากจุดสูงสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 มากกว่า 70% เนื่องจากความต้องการ EV ที่ลดลงในจีน ซึ่งเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

SK On ผู้ผลิตแบตเตอรี่ของเกาหลีใต้ซึ่งเป็นลูกค้าของ SQM ที่มีสัญญาจัดหาลิเทียมระยะยาวกล่าวว่า จะติดตามความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ และจะตอบสนองต่อเรื่องนี้ด้วยมุมมองในระยะยาว 

โช ฮยุลรยอล (Cho Hyunryul) นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ Samsung Securities วิเคราะห์ว่า เมื่อผู้ผลิตแบตเตอรี่จะต่อสัญญากับบริษัทลิเทียมในชิลี เงื่อนไขของสัญญาน่าจะยากกว่าที่เคยทำมาในอดีต เมื่อมีรัฐบาลเข้ามาเกี่ยวข้อง 

และนักวิเคราะห์อีกคนมองว่า ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ของรัฐบาลชิลี มีแนวโน้มที่จะกระตุ้นให้ผู้ที่จะลงทุนในธุรกิจลิเทียมหลังจากนี้ย้ายไปลงทุนในประเทศอื่น ๆ แทน รวมถึงในออสเตรเลียซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลก 

ฮาราช บาร์เดีย (Harsh Bardia) นักวิเคราะห์จาก JBWere ซึ่งเป็นบริษัทบริหารความมั่งคั่งส่วนบุคคลในเครือธนาคาร National Australia Bank กล่าวว่า เสถียรภาพของนโยบายเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับโครงการทำเหมือง เขตอำนาจศาลที่เป็นมิตรต่อการทำเหมืองอย่างในออสเตรเลียจะเป็นที่ที่ได้รับเงินลงทุนเพิ่มเติม