เลือกตั้งตุรกี 14 พ.ค. พร้อมไทย สรุป 15 ข้อที่เราควรรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้งของพวกเขา

เลือกตั้งตุรกี 2023

ประเทศตุรกีจัดการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 นี้ ท่ามกลางการจับตามองของนานาชาติว่าตุรกีจะได้ผู้นำและรัฐบาลใหม่ หรือต้องอยู่กับผู้นำคนเดิมที่บริหารประเทศมาแล้ว 20 ปี มีอะไรที่เราควรรู้เกี่ยวกับการเมืองการปกครองของตุรกีและการเลือกตั้งครั้งนี้ของพวกเขาบ้าง “ประชาชาติธุรกิจ” ค้นข้อมูลและสรุปออกมาเป็น 15 ข้อ ให้เข้าใจง่าย ๆ

1.ตุรกีเป็นหนึ่งในประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด 20 อันดับแรก (อยู่ในกลุ่ม G20) ซึ่งปัจจุบันมีขนาดเศรษฐกิจอยู่ในอันดับที่ 19 ของโลก มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) 906,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 30.7 ล้านล้านบาท) และด้านการทหารก็เป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ส่วนในสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน รัฐบาลตุรกีก็เลือกเป็นกลาง ต้อนรับรัสเซีย แต่ก็ไม่เป็นศัตรูกับชาติตะวันตก ดังนั้น การที่ตุรกีจะเปลี่ยนขั้วรัฐบาลใหม่หรือจะมีรัฐบาลขั้วเดิม จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเวทีโลก 

2.การเมืองการปกครองของตุรกี เป็นระบบสาธารณรัฐ มีนโยบายที่แยกศาสนาออกจากการเมือง (secular state) มีการปกครองแบบรัฐสภา (republican parliamentary democracy) ทำให้เป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศมุสลิมในตะวันออกกลางด้วยกัน 

เลือกตั้งตุรกี 2023
ประชาชนฟังการปราศรัยของ เรเจป ไตยิป แอร์โดอาน/ AFP/ OZAN KOSE


3.ในอดีตระบอบการปกครองของตุรมีประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศ และมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล โดยประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งของสภาแห่งชาติ (Grand National Assembly) มีวาระ 7 ปี ส่วนนายกรัฐมนตรีมาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดี 

4.ต่อมา ในปี 2560 มีการทำประชามติอนุมัติแก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐบาลขณะนั้น (ซึ่งก็คือรัฐบาลของผู้นำคนปัจจุบัน) แก้ไขให้ยกเลิกตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เปลี่ยนให้ประธานาธิบดีเป็นหัวหน้ารัฐบาล หลังจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ระบบการเลือกตั้งของตุรกีเปลี่ยนเป็นเลือกตั้งทั้งประธานาธิบดีและสมาชิกรัฐสภาวาระละ 5 ปีเท่ากัน 

5.การเลือกตั้งจะจัดขึ้นก่อนที่รัฐบาลจะหมดวาระ การเลือกตั้งในปี 2561 เป็นการเลือกตั้งสำหรับวาระปี 2562-2567 ส่วนการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นการเลือกตั้งสำหรับวาระการดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2567-2572

6.ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นายเรเจป ไตยิป แอร์โดอาน (Recep Tayyip Erdogan) หัวหน้าพรรค Justice and Development Party (AKP) พรรคการเมืองฝั่งอนุรักษนิยม ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมาแล้ว 2 สมัย ตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งก่อนหน้าที่จะเป็นประธานาธิบดี เขาเป็นนายกรัฐมนตรีมา 3 สมัย ตั้งแต่ปี 2546 ถึง 2557 หมายความว่าเขาเป็นผู้บริหารประเทศตุรกีมายาวนานถึง 20 ปี 

เลือกตั้งตุรกี 2023
เรเจป ไตยิป แอร์โดอาน ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน หัวหน้าพรรค Justice and Development Party (AKP)/ AFP/ OZAN KOSE


7.รัฐสภาตุรกีมีสมาชิก 600 คน มาจากการเลือกตั้งผ่านระบบสัดส่วน โดยประชาชนเลือกพรรค แล้วนำคะแนนที่พรรคได้ไปเฉลี่ยให้ผู้สมัครสมาชิกรัฐสภาซึ่งเป็นตัวแทนจาก 87 เขตเลือกตั้งจาก 81 จังหวัดทั่วประเทศ โดยแต่ละเขตเลือกตั้งจะได้รับการจัดสรรจำนวนสมาชิกรัฐสภาตามสัดส่วนจำนวนประชากร เสียงข้างมากในสภาต้องได้ที่นั่งมากกว่าครึ่งหนึ่ง หรือ 301 ที่นั่งขึ้นไป 

8.ระบบการเลือกตั้งตุรกีกำหนดให้ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีต้องได้รับคะแนนเสียงมากกว่า 50% หรือเกินครึ่งของจำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง จึงจะถือว่าได้รับชัยชนะในทันที แต่หากไม่มีผู้สมัครคนใดได้รับคะแนนเสียงเกินครึ่ง ผู้ที่มีคะแนนอันดับ 1 และ 2 จะต้องชิงชัยกันอีกรอบ ในการลงคะแนนเลือกตั้งรอบสองที่กำหนดไว้ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2566 

9.ปัจจุบันตุรกีมีประชากร 85 ล้านคน ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 64 ล้านคน เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกกว่า 6 ล้านคน มีผู้ลงคะแนนเลือกตั้งนอกประเทศ 3.4 ล้านคน การเลือกตั้งครั้งนี้มีหน่วยเลือกตั้ง 190,736 แห่ง เวลาเปิด-ปิดหีบ 08.00-17.00 น. (เวลาตุรกี GMT+3 ช้ากว่าไทย 4 ชั่วโมง)  

10.ในการเลือกตั้งปี 2561 เริ่มมีการใช้ระบบพันธมิตร คือพรรคต่าง ๆ สามารถรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรเสนอชื่อแคนดิเดตประธานาธิบดีร่วมกัน ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2561 พรรคพันธมิตรฝ่ายรัฐบาลหลายพรรคร่วมกันเสนอชื่อแอร์โดอานเป็นผู้สมัครเพียงคนเดียว เป็นปัจจัยสำคัญที่มีส่วนช่วยให้เขาได้รับชัยชนะ และช่วยให้พรรคพรรคของเขาได้รับเสียงข้างมากในรัฐสภา

เลือกตั้งตุรกี 2023
เคมัล คิลิคดาโรกลู ผู้นำฝ่ายค้านปัจจุบัน จากพรรค Republican People’s Party (CHP)/ AFP/ Yasin AKGUL


11.การการเลือกตั้งครั้งนี้ มีผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี 4 คน แต่หลัก ๆ เป็นการแข่งขันระหว่าง “พันธมิตรประชาชน” (People Alliance) กลุ่มพันธมิตรของพรรคฝั่งรัฐบาลปัจจุบันที่เสนอชื่อ เรเจป ไตยิป แอร์โดอาน จากพรรค Justice and Development Party (AKP) เป็นผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกสมัย กับฝั่ง “พันธมิตรแห่งชาติ” (Nation Alliance) กลุ่มพันธมิตรของพรรคฝ่ายค้าน 6 พรรค ซึ่งเสนอชื่อ เคมัล คิลิคดาโรกลู (Kemal Kilicdaroglu) ผู้นำฝ่ายค้านปัจจุบัน จากพรรค Republican People’s Party (CHP) เป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี 

12.การเลือกตั้งครั้งนี้ เดิมทีตุรกีกำหนดวันเลือกตั้งไว้ในวันที่ 18 เดือนมิถุนายน 2566 แต่เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา รัฐบาลตุรกีเลื่อนวันเลือกตั้งเข้ามาให้เร็วขึ้น ซึ่งมีการวิเคราะห์กันว่า การเลือกตั้งเร็วขึ้นจะทำให้ฝ่ายรัฐบาลได้เปรียบ เพราะคู่แข่งจะมีเวลาเตรียมตัวน้อย อย่างไรก็ตาม การจัดการเหตุภัยพิบัติแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นทางตอนใต้ของประเทศเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ถูกมองว่าสั่นคลอนฝั่งรัฐบาลมาก ถึงขั้นอาจแพ้การเลือกตั้ง 

13.ตุรกีเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจรุนแรงมาหลายปี นี่เป็นปัจจัยที่นักวิเคราะห์มองกันว่า การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรง เป็นสิ่งที่กัดเซาะอำนาจของรัฐบาลปัจจุบัน เมื่อมาบวกกับการเกิดเหตุแผ่นดินไหว มีประชาชนเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งประชาชนเพ่งเล็งเหตุที่เกิดความเสียหายรุนแรงไปที่การก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้ประชาชนโกรธแค้นรัฐบาลที่หละหลวม ไม่ได้ตรวจสอบการก่อสร้างให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด 

เลือกตั้งตุรกี 2023
ประชาชนฟังการปราศรัยของ เคมัล คิลิคดาโรกลู/ AFP/ Yasin AKGUL


14.ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2561 แอร์โดอานชนะตั้งแต่รอบแรกด้วยเสียงสนับสนุน 52.6% สำหรับครั้งนี้ การทำโพลที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมาพบว่า เขาได้รับเสียงสนับสนุนอยู่ประมาณ 44-45% ส่วนฝั่งเคมัล คิลิคดาโรกลู จากพันธมิตรฝ่ายค้าน มีเสียงสนับสนุนอยู่ 50% 

15.ล่าสุด เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา มูฮาร์เรม อินซ์ (Muharrem Ince) ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรค Homeland ประกาศถอนตัว มูฮาร์เรม อินซ์ ถูกมองว่าเป็นตัวตัดคะแนนของ เคมัล คิลิคดาโรกลู เพราะเป็นตัวแทนพรรคการเมืองอุดมการณ์ซ้ายกลางด้วยกันทั้งคู่ ดังนั้น การถอนตัวของเขาน่าจะทำให้คะแนนเสียงของผู้ที่ไม่สนับสนุนแอร์โดอานกระจายน้อยลง ทำให้ เคมัล คิลิคดาโรกลู จากกลุ่มพันธมิตรของพรรคฝ่ายค้านมีโอกาสชนะแอร์โดอานมากขึ้น 

อ้างอิง : 

อ่านเนื้อหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง