วิจัยชี้น้ำดื่มยี่ห้อชั้นนำปนเปื้อนอนุภาคพลาสติก สุ่มเก็บตัวอย่างจากหลายปท. รวมถึงไทย

วันที่ 15 มีนาคม 2561 สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานอ้างผลการศึกษาน้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติกที่วางขายอยู่ใน 9 ประเทศ รวมถึงไทย พบว่าน้ำดื่มยี่ห้อดังชั้นนำหลายยี่ห้อมีการปนเปื้อนพลาสติกอนุภาคเล็กๆ ที่มีความเป็นไปได้ว่าการปนเปื้อนดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการบรรจุภัณฑ์ แต่ในรายงานการวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้ชี้ชัดถึงความเสี่ยงอันตรายที่อาจมีอยู่

รายงานการศึกษานี้ที่มีเชอร์รี่ เมสัน นักวิจัยด้านไมโครพลาสติกหรือเม็ดพลาสติกขนาดเล็ก จากมหาวิทยาลัยสเตตยูนิเวอร์ซิตี้ออฟนิวยอร์ก เขตเฟรโดเนีย สหรัฐอเมริกา เป็นผู้นำทีมทำการวิจัย โดยมีออร์บมีเดีย องค์กรด้านสื่อไม่แสวงหาผลกำไรนำผลการวิจัยออกเผยแพร่ เป็นการทดสอบกลุ่มตัวอย่างน้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติกจำนวน 250 ขวด ที่มาจากประเทศบราซิล จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เคนยา เลบานอน เม็กซิโก สหรัฐอเมริกา และไทย พบว่ากลุ่มตัวอย่างน้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติกที่นำมาสุ่มตรวจนี้ มากถึง 93 เปอร์เซ็นต์มีการปนเปื้อนอนุภาคพลาสติก ที่รวมถึงน้ำดื่มยี่ห้อดังอย่างอะควา (Aqua) อะควาฟีนา (Aquafina) ดาซานี (Dasani) เอเวียง (Evian) เนสท์เล่เพียวไลฟ์ (Nestle Pure Life) และซานเปลเลกรีโน (San Pellegrino) นอกจากนี้ยังมีน้ำดื่มยี่ห้ออื่นๆ เช่น บิสเลรี (Bisleri) เอปุระ (Epura) กีโรลสไตเนอร์ (Gerolsteiner) มินาลบา (Minalba) และวาฮาฮา (Wahaha)

หัวหน้าทีมวิจัยชุดนี้ระบุว่า ในการศึกษาพบว่าอนุภาคพลาสติกที่ปนเปื้อน 65 เปอร์เซ็นต์เป็นเศษพลาสติก ไม่ใช่เส้นใยพลาสติก ซึ่งเศษพลาสติกเหล่านี้ยังมีส่วนผสมของสารประกอบเคมีโพลีโพรไพลีน ไนลอน และโพลีเอทิลีนเทเรฟธาเลท ที่ใช้ในการทำฝาจุกขวดน้ำ ซึ่งทีมนักวิจัยเชื่อว่าการปนเปื้อนพลาสติกที่พบน่าจะเกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการบรรจุน้ำลงขวด จากตัวขวดพลาสติกและจากฝาจุกขวด

ทั้งนี้ ความเข้มข้นของอนุภาคพลาสติกที่อาจพบอยู่ในขวดน้ำพลาสติกหนึ่งขวด อยู่ที่ระหว่าง 0 ถึงมากกว่า 10,000 หน่วย ขณะที่โดยเฉลี่ยน้ำหนึ่งลิตร จะพบอนุภาคพลาสติกที่มีขนาดไม่เกิน 100 ไมครอน ที่จัดว่าเป็น “ไมโครพลาสติก” 10.4 หน่วย และยิ่งอนุภาคมีขนาดเล็กลง ก็ยิ่งพบในปริมาณเฉลี่ยมากขึ้น โดยเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 325 หน่วยต่อน้ำ 1 ลิตร

อย่างไรก็ดี ในรายงานการศึกษาระบุว่าคำเตือนของผู้เชี่ยวชาญที่ว่าการปนเปื้อนดังกล่าวอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์นั้น จากการศึกษายังไม่พบเป็นที่ชัดเจน

ด้านแจ๊คเกอลีน เซวิตซ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุทรศาสตร์ ซึ่งไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับงานวิจัยชิ้นนี้ให้ความเห็นว่า กรณีศึกษานี้ทำให้มีสิ่งสนับสนุนมากขึ้นที่ว่า สังคมเราควรต้องเลิกใช้ขวดพลาสติกบรรจุน้ำดื่ม เพราะอย่างที่รับรู้กันว่าสัตว์น้ำยังได้รับผลกระทบจากสารปนเปื้อนเหล่านี้ มนุษย์เราก็เช่นกัน

ที่มา มติชนออนไลน์