วงประชุม 4 ธนาคารกลางหลัก เผยทิศนโยบายการเงิน ชี้อนาคตเศรษฐกิจโลก

4 ธนาคารกลาง

ธนาคารกลางสำคัญของโลก 4 แห่ง ประกอบด้วยธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ร่วมประชุมในงานใหญ่ประจำปี “ECB Forum on Central Banking 2023” ที่เมืองซินตรา ประเทศโปรตุเกส ช่วงวันที่ 26-28 มิ.ย.ที่ผ่านมา

งานนี้เผยให้เห็นทิศทางนโยบายการเงินและแนวโน้มเศรษฐกิจของเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลกหลายแห่งในคราวเดียวกัน

ธนาคารกลางสำคัญเหล่านี้ (ยกเว้นญี่ปุ่น) บอกชัดว่าจะยังคงดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อไป และไม่มีทางจะเปลี่ยนเป้าหมายได้

ทั้ง “เจอโรม พาวเวลล์” ประธานธนาคารกลางสหรัฐ, “แอนดรูว์ เบลีย์” ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ, “คริสตีน ลาการ์ด” ประธานธนาคารกลางยุโรป ต่างชี้ให้เห็นถึงความดื้อรั้นของเงินเฟ้อ ซึ่งกดดันให้ธนาคารกลางจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสู้กับเงินเฟ้อต่อไป

ธนาคารกลางทั้งสามบอกอีกว่า จากนี้ไปจะตัดสินใจดำเนินนโยบายแบบครั้งต่อครั้ง โดยพิจารณาจากข้อมูลที่อัพเดตก่อนการประชุม

พาวเวลล์บอกว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ในเดือน ก.ค.นี้ เขามองว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของสหรัฐจะไม่กลับลงไปต่ำกว่า 2% ก่อนปี 2568 และบอกว่าเฟดยังอยู่ไกลจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย

“คริสตีน ลาการ์ด” เน้นย้ำว่า ECB มีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือน ก.ค.นี้ แต่ไม่ได้บอกถึงทิศทางการกำหนดนโยบายในเดือน ก.ย.

ส่วนผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ธนาคารกลางทั้ง 4 แห่งระบุว่า กำลังติดตามดูเศรษฐกิจในประเทศอย่างใกล้ชิด แต่ก็ไม่จำเป็นต้องมองว่า “ภาวะเศรษฐกิจถดถอย” คือผลลัพธ์ที่เป็นไปได้มากที่สุดจากการใช้นโยบายที่เข้มงวด

เศรษฐกิจอังกฤษได้ยินเสียงเตือนมากขึ้น หลังจากธนาคารกลางปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่เบลีย์บอกว่า BOE ไม่คาดว่าเศรษฐกิจอังกฤษจะเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่ก็จะต้องเฝ้าดูอย่างระมัดระวัง

สำหรับ ยูโรโซน ลาการ์ด บอกว่า ข้อมูลดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ไม่ได้ให้ความหวังนักว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ดี แต่ก็ไม่คาดว่าเศรษฐกิจจะถึงขั้นถดถอย เพียงแต่จะ “ชะงักงัน” เท่านั้น

แบงก์ชาติญี่ปุ่นเป็นธนาคารกลางหลักแห่งเดียวที่บอกว่าจะยังไม่ขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในญี่ปุ่นยังต่ำกว่า 2% ขณะที่เศรษฐกิจในญี่ปุ่นกำลังฟื้นตัวได้ดีจากอุปสงค์ภายในประเทศ แต่ “คาซูโอะ อูเอดะ” ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นก็บอกเผื่อไว้ว่า พร้อมจะปรับเปลี่ยนนโยบาย หากมีสัญญาณว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนั้น เหล่าผู้กำหนดนโยบายการเงินได้หารือกันอีกหลายประเด็น โดยที่น่าสนใจคือ “คริสตีน ลาการ์ด” จากธนาคารกลางยุโรปชี้ว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครคิดว่าภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจะส่งผลกระทบที่สำคัญต่อเศรษฐกิจในประเทศของตนเอง

พาวเวลล์บอกว่า เศรษฐกิจของจีนที่ชะลอตัวไม่ใช่ปัญหาหลักสำหรับสหรัฐ และไม่ใช่ปัจจัยพิจารณาลำดับแรกของเฟด เนื่องจากมีผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่ออุปสงค์ในภาคการส่งออกของสหรัฐ

ด้านอูเอดะกล่าวถึงการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานโลกโดยย้ายฐานการผลิตออกจากจีนว่า ไม่แน่ใจว่าสิ่งนี้จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นหรือไม่ในระยะยาว แต่ในระยะสั้น ญี่ปุ่นได้รับอานิสงส์จากเรื่องนี้ เนื่องจากบริษัทที่จะย้ายฐานการผลิตออกจากจีน บางส่วนกำลังเล็งที่จะย้ายไปญี่ปุ่น