รัฐมนตรีคลังสหรัฐ เรียกร้องจีนปฏิรูปตลาด ยืนยันไม่แบ่งขั้วเศรษฐกิจ

รัฐมนตรีคลังสหรัฐเยือนจีน
Photo by Mark Schiefelbein/ Pool via REUTERS

เจเน็ต เยลเลน (Janet Yellen) รัฐมนตรีคลังสหรัฐเยือนประเทศจีน เรียกร้องให้จีนปฏิรูปตลาด ซึ่งเคยเป็นแนวทางที่หนุนการเติบโตของเศรษฐกิจจีนอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พร้อมบอกว่าสหรัฐพยายามกระจายห่วงโซ่อุปทาน ไม่ใช่แบ่งขั้วเศรษฐกิจ แต่อาจมีมาตรการเฉพาะที่ใช้กับจีน ขึ้นอยู่กับความกังวลด้านความมั่นคงของชาติ 

สำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า เจเน็ต เยลเลน (Janet Yellen) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกาเดินทางเยือนประเทศจีนอย่างเป็นทางการ 4 วัน เยลเลนเดินทางถึงกรุงปักกิ่งเมื่อช่วงเย็นวันพฤหัสบดีที่ 6 กรกฎาคม 2566 แล้วเริ่มกำหนดการอย่างเป็นทางการในวันศุกร์ที่ 7 กรกฎาคม โดยพบกับหลิว เหอ (Liu He) อดีตผู้กุมบังเหียนเศรษฐกิจจีนในช่วงเช้า แล้วไปประชุมกับผู้บริหารบริษัทสหรัฐที่ทำธุรกิจในจีน และเธอมีกำหนดจะพบกับ หลี่ เฉียง (Li Qiang) นายกรัฐมนตรีของจีนในช่วงเย็น   

ในการกล่าวผ่านการเปิดการประชุมกับบริษัทสหรัฐ เยลเลนได้เรียกร้องให้มีการปฏิรูปตลาดในระบบเศรษฐกิจของจีน ซึ่งเคยเป็นแนวทางที่หนุนการเติบโตของเศรษฐกิจจีนอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และเตือนว่าสหรัฐและพันธมิตรจะต่อสู้กับสิ่งที่เธอเรียกว่า “การดำเนินการทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรมของจีน” 

“การเปลี่ยนไปสู่การปฏิรูปตลาดจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของจีน” เยลเลนกล่าวผ่านการประชุมกับผู้บริหารธุรกิจสหรัฐในจีน

“การอิงกับระบบตลาดช่วยกระตุ้นการเติบโตอย่างรวดเร็วในจีน และช่วยยกระดับผู้คนหลายร้อยล้านคนให้พ้นจากความยากจน นี่เป็นเรื่องราวความสำเร็จทางเศรษฐกิจอันน่าทึ่ง”

เยลเลนตั้งข้อสังเกตว่า ชนชั้นกลางจำนวนมหาศาลของจีนซึ่งกำลังขยายเพิ่มขึ้น เป็นตลาดใหญ่สำหรับสินค้าและบริการของอเมริกา เธอย้ำว่าการกระทำใด ๆ ของสหรัฐที่มุ่งเป้าต่อจีนนั้นขึ้นอยู่กับความกังวลด้านความมั่นคงของชาติ 

“เราพยายามกระจาย ไม่ใช่แบ่งแยก” เธอกล่าว “การแบ่งขั้วของสองประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกจะทำให้เศรษฐกิจโลกสั่นคลอน และแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำอย่างนั้น”

เยลเลนกล่าวว่า เธอมาที่ประเทศจีนเพื่อกระชับการสื่อสารระหว่างกันให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และทำงานเพื่อนำไปสู่ “ความสัมพันธ์ที่มั่นคงและสร้างสรรค์” ระหว่างทั้งสองประเทศ พร้อมระบุชัดเจนว่า รัฐบาลสหรัฐจะทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของชาติและสิทธิมนุษยชน  

“เราเชื่อว่ามันเป็นผลประโยชน์สูงสุดของทั้งสองประเทศ ที่จะทำให้แน่ใจว่าเรามีการติดต่อสื่อสารโดยตรงและชัดเจนในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส” เยลเลนกล่าว 

เธอกล่าวเสริมอีกว่า การแลกเปลี่ยนกันอย่างสม่ำเสมอสามารถช่วยทั้งสองประเทศในการตรวจสอบความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและการเงินในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับแรงลมต้าน อย่างเช่น สงครามอันไม่ชอบด้วยกฎหมายของรัสเซียในยูเครน และผลกระทบที่ยืดเยื้อจากโรคระบาด

เยลเลนกล่าวว่า เธอจะอธิบายกับทางการจีนอย่างชัดเจนว่า รัฐบาลสหรัฐไม่ได้ต้องการแบ่งแยกเศรษฐกิจของสองประเทศออกจากกันโดยสิ้นเชิง แต่จะยกประเด็นความกังวลที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาลสหรัฐเกี่ยวกับเรื่องที่รัฐบาลจีนให้เงินอุดหนุนรัฐวิสาหกิจและบริษัทในประเทศเพิ่มขึ้น, เรื่องอุปสรรคในการเข้าถึงตลาดจีนของบริษัทต่างชาติ และมาตรการลงโทษล่าสุดของจีนที่จงใจบังคับใช้กับบริษัทสหรัฐ ซึ่งคาดว่าหมายถึงกรณีการแบนไมครอน (Micron) 

เยลเลนแสดงความกังวลเกี่ยวกับประกาศใหม่ล่าสุดของจีนที่ควบคุมการส่งออกแกลเลียมและเจอร์เมเนียม ซึ่งเป็นแร่ธาตุสำคัญที่ใช้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) เธอกล่าวว่ารัฐบาลสหรัฐยังคงประเมินผลกระทบของการเคลื่อนไหวนี้ของจีน แต่เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ห่วงโซ่อุปทานจะต้องมีความยืดหยุ่นและหลากหลาย 

ส่วนในการเจอกันกับ หลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีของจีน เยลเลนกล่าวว่า สหรัฐกำลังแสวงหาการแข่งขันที่ดีกับจีน บนพื้นฐานของกฎเกณฑ์ที่ยุติธรรม ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศ ไม่ใช่แนวทางแบบ “winner- take-all” ที่ผู้ชนะได้ทุกอย่างไปเพียงฝ่ายเดียว  

เยลเลนบอกกับหลี่ เฉียง ว่าเธอหวังว่าการเยือนของเธอจะกระตุ้นช่องทางการสื่อสารที่สม่ำเสมอมากขึ้นระหว่างกัน พร้อมเสริมว่าทั้งสองประเทศมีหน้าที่ “แสดงความเป็นผู้นำ” ต่อความท้าทายระดับโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

เธอกล่าวว่า รัฐบาลสหรัฐ “จำเป็นต้องดำเนินการตามเป้าหมายเพื่อปกป้องความมั่นคงของชาติในบางสถานการณ์” แต่ความไม่ลงรอยกันเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวในบางสถานการณ์ดังกล่าว ไม่ควรทำลายความสัมพันธ์ในภาพกว้าง 

“เราอาจไม่เห็นตรงกันในกรณีเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรปล่อยให้ความขัดแย้งใด ๆ นำไปสู่ความเข้าใจผิดที่ทำให้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเงินทวิภาคีของเราแย่ลงโดยไม่จำเป็น” เธอกล่าว

ทั้งนี้ การเดินทางเยือนจีนของเยลเลนเป็นส่วนหนึ่งของการเยือนที่เกิดขึ้นอย่างเร่งรีบ โดยมีจุดประสงค์เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลสหรัฐกับรัฐบาลจีน หลังจากที่สหรัฐพบบอลลูนจีนในน่านฟ้าสหรัฐ แล้วยิงบอลลูนตกในช่วงต้นปีที่ผ่านมา 

การเยือนของเยลเลนได้รับการเปิดทางโดยการเยือนของแอนโทนี่ บลิงเคน (Antony Blinken) รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐที่เดินทางเยือนจีนเมื่อเดือนที่แล้ว และบลิงเคนได้แสดงความเห็นพ้องต้องกันกับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง (Xi Jinping) ของจีนว่า การแข่งขันกันไม่ควรถูกเปลี่ยนไปเป็นความขัดแย้ง และคาดว่า จอห์น เคอร์รี (John Kerry) ทูตด้านสภาพภูมิอากาศของรัฐบาลไบเดนจะไปเยือนจีนในเดือนนี้ 

ทั้งหมดทั้งมวล การเยือนจีนของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐในช่วงที่ผ่านมาและกำลังเกิดขึ้น เป็นการผลักดันทางการทูตของสหรัฐเพื่อปูทางไปสู่ความเป็นไปได้ที่จะเกิดการประชุมระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน (Joe Biden) ของสหรัฐ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ในช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ที่ประเทศอินเดียในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ หรือในการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ซึ่งสหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมที่เมืองซานฟรานซิสโก ในเดือนพฤศจิกายนนี้