“ระดับรายได้” – หาใช่ประชาธิปไตย ตัวกำหนด “อิทธิพล” พาสปอร์ต

สิงคโปร์
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

สัปดาห์ที่แล้ว “เฮนลีย์&พาร์ตเนอร์ส” ซึ่งเป็นบริษัทให้คำปรึกษาการโยกย้ายการลงทุนข้ามประเทศเพื่อความมั่งคั่ง ได้เผยแพร่ผลการจัดอันดับหนังสือเดินทาง หรือ “พาสปอร์ต” ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกประจำปี 2023 ซึ่งปรากฏว่าปีนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

โดย สิงคโปร์ สามารถแซงญี่ปุ่นขึ้นมาเป็นประเทศที่มีพาสปอร์ตทรงอิทธิพลอันดับ 1 ของโลก พลเมืองสิงคโปร์สามารถเดินทางไป 192 ประเทศ จากทั้งหมด 227 ประเทศทั่วโลกได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า ส่วนอันดับ 2 มี 3 ประเทศที่ได้รับตำแหน่งร่วมกันคือ เยอรมนี อิตาลี และสเปน สามารถเดินทางไป 190 ประเทศโดยไม่ต้องขอวีซ่า

ส่วนอันดับ 3 มีถึง 7 ประเทศที่ครองตำแหน่งร่วมกันคือ ออสเตรีย ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น ลักเซมเบิร์ก เกาหลีใต้ สวีเดน สามารถเดินทางได้ 189 ทั่วโลก ส่วนสหรัฐอเมริกาอยู่อันดับ 8 ร่วงลงไป 2 อันดับ สามารถเดินทางไป 184 ทั่วโลก ขณะที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) อยู่อันดับ 12 ไปได้ 179 ประเทศ และมีอันดับก้าวกระโดดมากที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา กล่าวคือเพิ่มขึ้น 44 อันดับ จาก 56 มาเป็นอันดับ 12

ด้านประเทศที่พาสปอร์ตทรงอิทธิพลน้อยที่สุด ยังคงเป็น “อัฟกานิสถาน” สามารถเดินทางไป 27 ประเทศโดยไม่ต้องขอวีซ่า ตามมาด้วยอิรัก 29 ประเทศ ซีเรีย 30 ประเทศ

ที่ผ่านมา มักไม่ค่อยมีสื่อรายงานว่าปัจจัยอะไรบ้างที่มีส่วนสำคัญในการทำให้พลเมืองที่ถือพาสปอร์ตของประเทศนั้น ๆ สามารถเดินทางไปทั่วโลกได้มากที่สุดโดยไม่ต้องขอวีซ่า และมีจำนวนไม่น้อยที่คิดว่าเพียงแค่รัฐบาลขยันเดินสายไปสร้างสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ หรือมีความเป็นประชาธิปไตยก็เพียงพอแล้ว

อย่างไรก็ตาม หากดูจากรายงานของ “โอเมอร์ ซาร์ปลิ” และ “อูเกอร์ อัลทันดัล” สองนักวิจัยของเฮนลีย์ฯ ซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อปีที่แล้ว เกี่ยวกับปัจจัยที่จะเป็นตัวกำหนดความทรงอิทธิพลของพาสปอร์ต ได้ระบุเอาไว้ว่า ปัจจัยดังกล่าวก็คือ 1.รายได้ 2.ความเปราะบางของสถานการณ์ภายในประเทศ 3.ประชาธิปไตย

Advertisment

รายงานของเฮนลีย์ฯ ชี้ว่า รายได้ของพลเมืองประเทศนั้น ๆ เป็นตัวทำนายที่เชื่อถือได้มากที่สุด ว่าพวกเขาจะมีพาสปอร์ตที่ทรงอิทธิพลหรือไม่ ทั้งนี้ พบว่าประเทศที่มีรายได้สูง หรือรายได้ปานกลางค่อนไปทางสูง จะสามารถเดินทางไปประเทศต่าง ๆ

โดยไม่ต้องใช้วีซ่าได้มากกว่าประเทศที่มีรายได้ต่ำ หรือรายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำ เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะประเทศต่าง ๆ มักยินดีเปิดประเทศต้อนรับคนจากประเทศร่ำรวย เพราะจะได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากกว่า ทั้งในรูปการค้า การลงทุน และท่องเที่ยว อีกทั้งมองว่าคนจากประเทศเหล่านี้จะสร้างภาระด้านเศรษฐกิจและสังคมให้กับตนน้อยกว่า ในทางกลับกัน พลเมืองจากประเทศยากจนและไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ มักมีแนวโน้มจะลักลอบอยู่ในประเทศเจ้าภาพเกินวีซ่า

Advertisment

ระดับความเปราะบางภายในประเทศ ก็เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญพอ ๆ กับรายได้ กล่าวคือประเทศใดก็ตามมีปัญหาความรุนแรงสูง ไม่ว่าจะเป็นการวางระเบิด การก่อการร้าย ความขัดแย้งของชนกลุ่มน้อย องค์กรอาชญากรรม พลเมืองต้องพลัดถิ่นหรือไร้ที่อยู่ ก็มีโอกาสน้อยที่จะเดินทางไปประเทศอื่น ๆ ได้โดยไม่มีวีซ่า หรือแม้จะยื่นขอวีซ่าก็ยากที่จะผ่าน เพราะคนจากประเทศเหล่านี้มักจะถูกประเทศเจ้าภาพมองว่าเป็นปัญหาต่อความมั่นคง และมีแนวโน้มจะลี้ภัย หรืออยู่เกินวีซ่า

ส่วนเรื่อง “ประชาธิปไตย” กลับเป็นปัจจัยที่เฮนลีย์ฯ ชี้ว่าไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญมากนักในการกำหนดความทรงอิทธิพลของพาสปอร์ต แม้ว่าโดยเฉลี่ยแล้วเป็นความจริงที่ว่าประเทศประชาธิปไตยสามารถเดินทางแบบไม่ใช้วีซ่า (visa-free) ได้มากกว่าประเทศที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยก็ตาม เช่น ในปี 2020 พลเมืองประเทศประชาธิปไตย 133 ประเทศสามารถเดินทางแบบ visa-free ส่วนประเทศที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยมีเพียง 83 ประเทศที่เดินทางได้แบบ visa-free

เฮนลีย์ฯ ชี้ว่า อย่างไรก็ตาม นับจากปี 2006 เป็นที่น่าสังเกตว่า ทั้งประเทศประชาธิปไตยและไม่ใช่ประชาธิปไตย มีจำนวนประเทศจุดหมายปลายทางที่เดินทางได้แบบ visa-free เพิ่มขึ้นในอัตราใกล้เคียงกัน อย่างเช่นปี 2020 ยูเออี ซึ่งปกครองด้วยระบอบอัตตาธิปไตย (autocracy) หรือรวมศูนย์อยู่ที่คนคนเดียว สามารถเดินทางไปได้ 175 ประเทศโดยไม่ต้องใช้วีซ่า (เช่นเดียวกับมาเลเซียและสิงคโปร์มีระดับประชาธิปไตยเพียงปานกลาง กลับสามารถเดินทางไปประเทศต่าง ๆ แบบ visa-free ในระดับสูงมาก

แต่ประเทศที่มีระดับประชาธิปไตยสูงบางประเทศ เช่น อาร์เมเนีย เซเนกัล ตูนิเซีย กลับได้รับโอกาสเดินทางแบบ visa-free อย่างจำกัด บ่งบอกว่าความสัมพันธ์ระหว่างประชาธิปไตยและความแข็งแกร่งของพาสปอร์ตไม่สอดคล้องเป็นแนวเดียวกัน