นักเศรษฐศาสตร์ระดับ “ท็อป” รุมค้าน “ฟิทช์ฯ” หั่นเครดิตสหรัฐ

สหรัฐ
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

สัปดาห์ที่ผ่านมา “ฟิทช์ เรทติ้งส์” ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อ ได้ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศของรัฐบาลสหรัฐ (long-term foreign currency issuer default rating) ลงจาก “AAA” เหลือ “AA+” โดยอ้างว่าสาเหตุหลักมาจากปัญหางบประมาณขาดดุลสูง ที่คาดว่าจะแย่ลงอีกในอนาคต ปัญหาภาระหนี้สาธารณะสูง รวมทั้งปัญหาธรรมาภิบาลที่เสื่อมทรามลง

ฟิทช์ฯระบุว่า ในส่วนของการขาดดุลงบประมาณ คาดว่าปีนี้จะขยับขึ้นเป็น 6.3% ของจีดีพี จาก 3.7% ในปี 2022 การขาดดุล 9 เดือนแรกของปีงบประมาณปัจจุบันอยู่ที่ 1.39 ล้านล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 170% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่วนหนี้สาธารณะในอีก 3 ปีข้างหน้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นแตะ 118% ของจีดีพี ถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยมาตรฐาน โดยค่าเฉลี่ยของผู้ที่จะได้รับอันดับ “AAA” ต้องมีหนี้ประมาณ 39% ของจีดีพี

ขณะเดียวกัน ปัจจัยผสมผสานทั้งการเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ การลงทุนของภาคธุรกิจที่อ่อนแอลง รวมทั้งการบริโภคที่ชะลอลงจะทำให้เศรษฐกิจถดถอยอ่อน ๆ ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้และไตรมาสแรกของปีหน้า

ในส่วนของธรรมาภิบาลรัฐบาลนั้น ฟิทช์ฯเห็นว่าเสื่อมทรามลงในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยมีการเอ่ยถึงเหตุการณ์ขัดแย้งไม่ยอมกันของฝ่ายค้านและรัฐบาล เกี่ยวกับการขยายเพดานหนี้ที่เจรจากันยืดเยื้อและเตะถ่วงจนเกือบนาทีสุดท้าย เกือบทำให้สหรัฐต้องผิดนัดชำระหนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ก่อนจะตกลงกันได้อย่างฉิวเฉียดในต้นเดือนมิถุนายน สร้างความกังวลไปทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม รายงานของซีเอ็นเอ็นระบุว่า ในการเข้าพูดคุยกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐนั้น ตัวแทนของฟิตช์ฯ ได้เน้นย้ำหลายครั้งกับเจ้าหน้าที่ ว่าเหตุการณ์ที่ผู้สนับสนุน โดนัลด์ ทรัมป์ จำนวนมากก่อจลาจลบุกรัฐสภาสหรัฐเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2021 ภายหลังจากทรัมป์แพ้เลือกตั้งให้กับ โจ ไบเดน เป็นประเด็นที่ฟิทช์ฯ กังวลอย่างมีนัยสำคัญในเรื่องธรรมาภิบาลของรัฐบาล

เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐกล่าวว่า การตัดสินใจของฟิทช์ฯ ไร้เหตุผล และไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน เช่นเดียวกับโฆษกทำเนียบขาวออกมาระบุว่า ไม่เห็นด้วยอย่างแรงต่อการลดอันดับในครั้งนี้ พร้อมกับชี้ว่า “พวกรีพับลิกันสุดโต่งที่สนับสนุนให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้เพื่อบ่อนทำลายธรรมาภิบาลและประชาธิปไตย และหาหนทางลดภาษีให้กับคนรวยและบริษัทขนาดใหญ่ เป็นภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจของเราอย่างต่อเนื่อง”

ลาร์รี ซัมเมอร์ อดีตรัฐมนตรีคลังสหรัฐแสดงความเห็นว่า การตัดสินใจของฟิทช์ฯ “แปลกประหลาดและไม่เหมาะสม” โดยเฉพาะในยามที่เศรษฐกิจสหรัฐดูแข็งแกร่งมากกว่าที่คาด ตนคิดว่าฟิทช์ฯไม่มีข้อมูลใหม่ ๆ และถ่องแท้ของสถานการณ์ปัจจุบัน จึงทำให้การตัดสินใจลดอันดับดูไร้สาระ ถ้าฟิทช์ฯ ไม่มีข้อมูลอัพเดตล่าสุด แต่อย่างน้อยข้อมูล 2 เดือนที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจแข็งแกร่งกว่าคาด

นอกเหนือจาก “ลาร์รี ซัมเมอร์” แล้ว มีนักเศรษฐศาสตร์อีกหลายคนที่เห็นว่าการตัดสินใจของฟิทช์ฯ ไม่สมเหตุผล เช่น เอล-เอเรียน หัวหน้าที่ปรึกษาเศรษฐกิจของอัลไลแอนซ์ เอสอี ระบุว่า เป็นการตัดสินใจที่แปลกและไม่น่าจะมีผลกระทบต่อตลาด

ทางด้าน พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลระบุว่า “ดูน่าหัวเราะและไม่สมเหตุสมผล แม้จะวัดตามหลักเกณฑ์ของฟิทช์ฯเอง แน่นอนว่ามันมีเรื่องราวอยู่เบื้องหลัง แต่ไม่ว่าเรื่องราวนั้นจะเป็นอะไร มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับฟิทช์ฯ แต่ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับการล้มละลายของสหรัฐ”

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ตราสารหนี้รัฐบาลสหรัฐถูกลดอันดับ เพราะในปี 2011 เอสแอนด์พี ก็เคยลดอันดับความน่าเชื่อถือดังกล่าวจาก AAA เหลือ AA+ จากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและฝ่ายค้านเรื่องเพดานหนี้ และคงระดับนี้ไว้จนถึงปัจจุบัน ส่วนมูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ยังคงระดับเดิมไว้ที่ AAA

ทั้งนี้ นับจากปี 2011 ย้อนขึ้นไป สหรัฐครองระดับ AAA มาโดยตลอด หลังจากมูดีส์ฯ มอบอันดับนี้ให้ครั้งแรกเมื่อปี 1917