สื่อรัฐบาลจีนทวงโบราณวัตถุคืนจากบริติชมิวเซียม ประณามเป็น “ผู้รับของโจร” รายใหญ่สุด

บริติชมิวเซียม
บริติชมิวเซียม (ภาพโดย Hulki Okan Tabak/ Pixabay)

โกลบอลไทม์ส (Global Times) สื่อที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นเจ้าของ เขียนบทบรรณาธิการทวงโบราณวัตถุคืนจากบริติชมิวเซียมของอังกฤษ ประณามเป็น “ผู้รับของโจร” รายใหญ่ที่สุดในโลก สิ่งของส่วนใหญ่ได้ไปจากประเทศอื่นผ่านช่องทางที่ไม่เหมาะสม หรือแม้กระทั่งวิธีการที่สกปรกและเป็นบาป  

ในวันที่ 28-29 สิงหาคม 2023 สื่อต่างประเทศหลายสำนักรายงานข่าวสำนักข่าวของรัฐบาลจีนเขียนบทความทวงโบราณวัตถุของจีนที่ถูกขโมยไปกลับคืนมาจากบริติช มิวเซียม (British Museum) พิพิธภัณฑ์ชื่อดังระดับโลกในสหราชอาณาจักร ซึ่งอาจนำไปสู่ความแตกแยกมากขึ้นระหว่างจีนกับสหราชอาณาจักรและพันธมิตรชาติตะวันตก 

ต้นทางของบทความที่ถูกกล่าวถึงเป็น “บทบรรณาธิการ” ของโกลบอลไทม์ส (Global Times) สื่อภาษาอังกฤษที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นเจ้าของ โดยบทบรรณาธิการดังกล่าวเผยแพร่ในวันที่ 28 สิงหาคม 2023 หลังจากที่เมื่อสองสัปดาห์ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าสิ่งของในบริติชมิวเซียมราว 2,000 ชิ้นสูญหาย ถูกขโมย หรือเสียหาย 

“ในฐานะสื่อของจีน เราร้องขออย่างเป็นทางการให้บริติชมิวเซียมส่งคืนวัตถุทางวัฒนธรรมจีนทั้งหมดที่ได้ไปผ่านช่องทางที่ไม่เหมาะสมกลับมายังประเทศจีนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และงดเว้นการใช้ท่าทีต่อต้าน ยืดเยื้อ และขอไปที อันดับแรก ควรให้คำมั่นสัญญาสาธารณะต่อโลกว่าจะคืนโบราณวัตถุ และงานที่คั่งค้างมายาวนานนี้ควรเริ่มต้นโดยเร็วที่สุด”

“นอกจากนี้ เรายังสนับสนุนการเรียกร้องการคืนโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมของประเทศอื่น ๆ ที่ถูกปล้นไปโดยอังกฤษ เช่น อินเดีย ไนจีเรีย และแอฟริกาใต้ เราเรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษร่วมมือในด้านกฎหมหายและกระบวนการอื่น ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในกระบวนการนี้ ซึ่งจะเป็นการทดสอบและยืนยันความจริงใจของสหราชอาณาจักรในการขจัดร่องรอยอาณานิคมและล้างบาปทางประวัติศาสตร์” 

บทบรรณาธิการดังกล่าวบอกว่า การเปิดเผยเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า วัตถุราว 2,000 ชิ้นจากคอลเล็กชันของบริติชมิวเซียมหายไปอย่างลึกลับ ไม่เพียงสร้างความตกใจให้กับสหราชอาณาจักรเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเทศอื่น ๆ ทั้งหมดที่มีคอลเล็กชั่นสิ่งของสะสมอยู่ในบริติชมิวเซียมด้วย

“ผู้คนต่างตั้งคำถามว่าทำไมตำรวจอังกฤษและมิวเซียมจึงล่าช้าในการเผยแพร่ภาพถ่ายและคำอธิบายโดยละเอียดเกี่ยวกับสิ่งของที่ถูกขโมยไป ความล้มเหลวในการเผยแพร่ภาพถ่ายอาจบ่งชี้ว่าบริติชมิวเซียมยังคงไม่สามารถทราบได้อย่างแน่ชัดว่าคอลเล็กชันจำนวนมหาศาลได้สูญหายไปมากน้อยเพียงใด ซึ่งอาจมากกว่า 2,000 ชิ้น” 

“สิ่งของสะสมส่วนใหญ่ของบริติชมิวเซียมซึ่งมีจำนวนมากถึง 8 ล้านชิ้นนั้นมาจากประเทศอื่นนอกสหราชอาณาจักร และส่วนสำคัญของสิ่งของเหล่านั้นได้มาผ่านช่องทางที่ไม่เหมาะสม แม้กระทั่งวิธีการที่สกปรกและเป็นบาป”  

“ด้วยเหตุนี้ บริติชมิวเซียมจึงได้รับฉายาว่าเป็น ‘ผู้รับของโจร’ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจัดแสดง ‘ทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่ถูกขโมย’ กล่าวอีกนัยหนึ่ง สิ่งที่บริติชมิวเซียมล้มเหลวในการดูแลให้ดี และสิ่งที่สูญหายและผุพังนั้น จริง ๆ แล้วส่วนใหญ่เป็นทรัพย์สินทางวัฒนธรรมของประเทศอื่น ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะไม่ทำให้ใจสลายได้อย่างไร” ข้อความส่วนหนึ่งในบทบรรณาธิการของโกลบอลไทม์ส 

บทบรรณาธิการของโกลบอลไทม์สบอกอีกว่า ในบริติชมิวเซียมมีโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมจากประเทศจีนประมาณ 23,000 ชิ้น ซึ่งในจำนวนนี้มี 2,000 ชิ้นที่ถูกจัดแสดงระยะยาว รวมถึงภาพวาดบนผืนผ้าชื่อ “Admonitions of the Instructress to the Court Ladies” จากราชวงศ์ถัง เครื่องสัมฤทธิ์ที่ใช้ในพิธีกรรมจากราชวงศ์ชางและโจว คัมภีร์พระสูตรหินของราชวงศ์เว่ย์และราชวงศ์ฉิน และสมบัติล้ำค่าของชาติอื่น ๆ  

“เป็นการยากที่จะตรวจสอบย้อนกลับว่าจีนสูญเสียสิ่งเหล่านี้ให้กับบริติชมิวเซียมอย่างไร แต่คอลเล็กชั่นจีนส่วนใหญ่ถูกอังกฤษปล้นหรือขโมยไปอย่างแน่นอนเมื่อบริติชมิวเซียมถูกสร้างขึ้น และต่อมาก็ได้ใช้ประโยชน์จากวิกฤตของจีน หรือแม้แต่ปล้นจีนไปโดยตรง ตราบใดที่สหราชอาณาจักรไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าคอลเล็กชันไหนได้มาโดยถูกต้องตามกฎหมายและตรงไปตรงมา ประเทศแม่ของคอลเล็กชันเหล่านี้ก็มีสิทธิ์ขอการส่งคืนกลับประเทศได้” 

“ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริติชมิวเซียมปฏิเสธที่จะคืนวัตถุทางวัฒนธรรมส่วนใหญ่บนเหตุผลและพื้นฐานของ  British Museum Act ซึ่งได้รับการแก้ไขโดยรัฐสภาอังกฤษในปี 1963 และโดยพื้นฐานแล้วห้ามมิให้พิพิธภัณฑ์ส่งคืนคอลเลคชันใด ๆ ก็ตาม … เห็นได้ชัดว่าเป็นการเสแสร้งและไร้สาระมากที่จะใช้กฎหมายที่ตนเองตั้งขึ้นเป็นข้ออ้างในการปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามหลักศีลธรรมระหว่างประเทศ และปฏิบัติตามหลักความรับผิดชอบระหว่างประเทศ” 

“บริติชมิวเซียมเป็นโลกขนาดเล็กแห่งประวัติศาสตร์การขยายอาณานิคมของอังกฤษ แม้ว่าสหราชอาณาจักรจะเช็ดลายนิ้วมือของผู้ปล้นทรัพย์บนโบราณวัตถุเหล่านั้นออกไปแล้ว แต่ก็ไม่สามารถลบความเป็นเจ้าของที่แท้จริงของทรัพย์สินทางวัฒนธรรมเหล่านี้ได้” บทบรรณาธิการของสื่อจีนซัดอังกฤษอย่างดุเดือด