ฝรั่งเศสจ่ายเงิน 200 ล้านยูโร ทำลาย “ไวน์” ที่ล้นตลาด ช่วยผู้ผลิตจากปัญหาราคาตกต่ำ 

ฝรั่งเศสจ่ายเงินทำลายไวน์
ภาพโดย Sergey Nemo/ Pixabay

ไวน์ล้นตลาดส่งผลให้ราคาไวน์ตกต่ำ รัฐบาลฝรั่งเศสจึงควักเงิน 200 ล้านยูโรเป็นทุนสนับสนุนให้ผู้ผลิตไวน์ทำลายไวน์ส่วนเกินทิ้ง เป็นความพยายามที่จะหนุนราคาไวน์ ช่วยผู้ผลิตที่กำลังเดือดร้อนจากปัญหาราคาไวน์ตกต่ำ อีกทั้งมีความพยายามจูงใจให้ผู้ปลูกองุ่นหันไปปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นด้วย 

ถึงแม้ว่าไวน์จะเป็นเป็นสัญลักษณ์ของ “หรูหรา” เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีราคาสูงกว่าเครื่องดื่มชนิดอื่น แต่ต่อให้หรูแค่ไหนก็คงหนีไม่พ้นกลไกตลาดที่ราคาสินค้าจะแปรผันตามอุปสงค์กับอุปทาน 

ปัญหาผลผลิตไวน์ล้นตลาดเกิดขึ้นในประเทศฝรั่งเศสในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาไวน์ตกต่ำ จนเมื่อเร็ว ๆ นี้ รัฐบาลฝรั่งเศสประกาศจัดสรรเงิน 200 ล้านยูโรเพื่อเป็นทุนสนับสนุนให้ผู้ผลิตไวน์ทำลายผลผลิตไวน์ส่วนเกินประมาณ 300 ล้านลิตร เป็นความพยายามที่จะหนุนราคาไวน์ ช่วยผู้ผลิตที่กำลังเดือดร้อนจากปัญหาราคาไวน์ตกต่ำ 

เดอะ การ์เดียน (The Guardian) รายงานเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2023 ว่า ภูมิภาคที่เป็นแหล่งผลิตไวน์หลัก ๆ หลายแห่งในฝรั่งเศส โดยเฉพาะภูมิภาคบอร์กโดซ์ (Bordeaux) กำลังดิ้นรนกับความยากลำบากเนื่องจากปัญหามากมาย เช่น การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค วิกฤตค่าครองชีพสูง และผลกระทบที่ตามมาจากโรคระบาดโควิด-19

สมาคมเกษตรกรในท้องถิ่นบอร์กโดซ์บอกว่า ความต้องการบริโภคไวน์ที่ลดลงส่งผลให้ผลผลิตที่ออกมานั้นกลายเป็นล้นตลาด ราคาไวน์ลดลงอย่างรวดเร็ว และตอนนี้ผู้ผลิตไวน์ราว 1 ใน 3 ในภูมิภาคบอร์กโดซ์ประสบปัญหาทางการเงิน  

ภูมิภาคลองเกอด็อก ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ พื้นที่ผลิตไวน์ที่ใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศสซึ่งมีชื่อเสียงในการผลิตไวน์แดงชนิด Full-Bodied Reds ก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน จากความต้องการไวน์ที่ลดลง

“เรากำลังผลิตมากเกินไป และราคาขายต่ำกว่าราคาผลิต ดังนั้น เราจึงสูญเสียเงิน” ฌอง-ฟิลิปป์ กราเนียร์ (Jean-Philippe Granier) จากสมาคมผู้ผลิตไวน์ลองเกอด็อกกล่าว 

ด้วยปัญหาดังกล่าว รัฐบาลฝรั่งเศสจึงจัดสรรเงินทุนเริ่มต้นจำนวน 160 ล้านยูโร (ประมาณ 6,100 ล้านบาท ตามอัตราแลกเปลี่ยนวันที่ 30 สิงหาคม 2023) สำหรับการทำลายไวน์ส่วนเกิน และล่าสุดเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2023 มาร์ก ฟีส์นู (Marc Fesneau) รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรของฝรั่งเศสบอกว่า รัฐบาลได้เพิ่มวงเงินเป็น 200 ล้านยูโร (ประมาณ 7,620 ล้านบาท) 

รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรของฝรั่งเศสกล่าวว่า เงินงบประมาณดังกล่าว “มีจุดมุ่งหมายเพื่อหยุดยั้งราคาที่ตกต่ำ และเพื่อให้ผู้ผลิตไวน์สามารถมีแหล่งรายได้อีกครั้ง” แต่เขาย้ำว่าอุตสาหกรรมไวน์จำเป็นต้อง “มองไปสู่อนาคต คิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค … และปรับตัว” 

ทั้งนี้ การทำลายไวน์ที่ว่านี้ก็ไม่ใช่การให้เทไวน์ทิ้งไปเฉย ๆ เสียทีเดียว แต่ผู้ผลิตไวน์สามารถนำไวน์ไปกลั่นเอาแอลกอฮอล์เพื่อนำไปขายให้บริษัทที่ผลิตสินค้าที่ไม่ใช่อาหาร เช่น เจลล้างมือ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด และน้ำหอม 

นอกจากนี้ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฝรั่งเศสก็ได้ประกาศให้เงิน 57 ล้านยูโร (ประมาณ 2,170 ล้านบาท) เพื่อเป็นเงินทุนสำหรับการเก็บเกี่ยวองุ่นประมาณ 9,500 เฮกตาร์ (ประมาณ 59,375 ไร่) ในภูมิภาคบอร์กโดซ์ ในขณะเดียวกัน ยังมีกองทุนสาธารณะอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ปลูกองุ่นเปลี่ยนไปผลิตพืชผลการเกษตรอื่น ๆ เช่น มะกอก  

ครั้งล่าสุดที่ยุโรปประสบกับ “ทะเลสาบไวน์” หรือปัญหาไวน์ล้นตลาด คือในช่วงกลางทศวรรษ 2000 ซึ่งปัญหาครั้งนั้นบังคับให้สหภาพยุโรปต้องปฏิรูปนโยบายการปลูกองุ่นเพื่อลดการผลิตไวน์ที่มากเกินไป โดยใช้เงินอุดหนุนเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ผลิตลดการผลิตลง และจนถึงตอนนี้สหภาพยุโรป (EU) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 27 ประเทศยังคงจ่ายเงินปีละ 1,060 ล้านยูโรเพื่ออุดหนุนภาคส่วนนี้ 

การบริโภคไวน์ที่ลดลงในรอบล่าสุดนี้ ได้รับผลกระทบมาจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลงในช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้บริโภคลดการซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็น 

แต่แนวโน้มในระยะยาวก็ดูจะไม่ค่อยสดใสสำหรับอุตสาหกรรมไวน์เช่นกัน เนื่องจากผู้บริโภคเปลี่ยนไปดื่มเบียร์และเครื่องดื่มอื่น ๆ มากขึ้น