เศรษฐกิจ “เวียดนาม” ปีนี้ ไม่สดใสสมกับเป็น “ดาวรุ่งแห่งเอเชีย”

เศรษฐกิจเวียดนาม

เศรษฐกิจโลกที่แม้ยังไม่เข้าสู่ “ภาวะถดถอย” อย่างเป็นทางการ แต่ก็ชะลอตัวหนัก กำลังทำร้ายแทบทุกประเทศในเวลานี้ โดยเฉพาะประเทศที่พึ่งพาการส่งออกสูง แม้แต่ “เวียดนาม” ที่ว่าเป็นดาวรุ่งแห่งเอเชียก็ไม่รอด

ก่อนหน้านี้เราได้เห็นถึง “ความเฉิดฉาย” ของเวียดนาม ในฐานะประเทศที่ได้รับประโยชน์จากการที่โรงงานจำนวนมากย้ายออกจากจีน หรือเป็นฐานการผลิตอีกแห่งสำหรับบริษัทที่ต้องการกระจายความเสี่ยงของห่วงโซ่อุปทาน

แต่เศรษฐกิจเวียดนามในปีนี้ไม่สดใส การส่งออกสินค้าสำคัญ ๆ ของเวียดนามหดตัวยกแผง

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2023 การส่งออกของเวียดนามมีมูลค่า 164,681 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวลง 12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) แต่ด้านการนำเข้าก็หดตัวลงเช่นกัน โดยมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 151,837 ล้านดอลลาร์ หดตัวลง 18.4%

นับถึงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา การส่งออกของเวียดนามหดตัวติดต่อกันแล้ว 6 เดือน (มีนาคม-สิงหาคม) และก่อนหน้านั้นก็หดตัวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2022 ถึงมกราคม 2023 กล่าวคือในช่วง 10 เดือนล่าสุด มีเพียงเดือนกุมภาพันธ์เดือนเดียวที่การส่งออกฟื้นเป็นบวกได้

การส่งออกที่หดตัวต่อเนื่องส่งผลให้ภาคการผลิตชะลอตัวลงรุนแรงเช่นกัน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคอุตสาหกรรมการผลิตของเวียดนามอยู่ต่ำกว่า 50 จุด (ซึ่งบ่งชี้ถึงการหดตัวของเศรษฐกิจ) มา 5 เดือนติดต่อกัน ตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงกรกฎาคม เพิ่งจะโผล่ขึ้นเหนือ 50 จุดได้ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

“นิกเคอิ เอเชีย” รายงานเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า การส่งออกของเวียดนามที่ลดลงต่อเนื่องมาหลายเดือน เป็นเหตุให้บริษัทผู้ผลิตสินค้าในเวียดนามต้องลดจำนวนการจ้างงานลงในช่วงนี้ ซึ่งโดยปกติแล้วเป็นช่วงที่โรงงานจะเร่งการผลิตเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับรับคำสั่งซื้อที่มากขึ้นในช่วงคริสต์มาส

สำนักงานสถิติแห่งชาติของเวียดนามระบุว่า การสูญเสียงานในภาคอุตสาหกรรมส่งผลให้ในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ชาวเวียดนามราว 300,000 คนเข้าสู่ “เศรษฐกิจสีเทา” (กรณีนี้หมายถึงเศรษฐกิจนอกระบบที่ไม่ได้ผิดกฎหมาย) โดยหารายได้จากงานต่าง ๆ เช่น ตกปลา ทำฟาร์ม หรือรับทำความสะอาดบ้าน

อย่างไรก็ตาม หลายบริษัท เช่น “ยูนิโคล่” ผู้ค้าปลีกแฟชั่น และผู้ผลิตซอฟต์แวร์ชิป “ซินนอปซิส” (Synopsys) ยังคงเร่งการผลิตในเวียดนามท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ เนื่องจากเวียดนามอยู่ติดกับประเทศจีน

นอกจากเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอกดคำสั่งซื้อของภาคส่งออกแล้ว เวียดนามยังถูกรุมเร้าด้วยปัจจัยลบภายในซึ่งเป็นความท้าทายระยะยาวกว่า นั่นคือกฎระเบียบซึ่งไม่ง่ายต่อการทำธุรกิจ และปัญหาไฟดับที่กระทบต่อการดำเนินงานของอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงท่าเรือที่ยังไม่เพียงพอ

เวียดนามอยู่ท่ามกลางบรรยากาศการปราบปรามคอร์รัปชั่น ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐกังวลเรื่องการอนุมัติใบอนุญาต ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลต่อการลงทุนของบริษัทต่างชาติเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อการลงทุนของภาครัฐเองด้วย การลงทุนภาครัฐในช่วงครึ่งแรกของปีนี้อยู่ที่ระดับ 33% ของเป้าหมายทั้งปีเท่านั้น

“จูเลียง เชสส์” ศาสตราจารย์แห่ง “ซิตี้ ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ ฮ่องกง” ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ แสดงความเห็นว่า สถานการณ์ในเวียดนามที่อาจสะท้อนถึงปัญหาที่ฝังรากลึก และเลวร้ายยิ่งขึ้นจากอุปสรรคในด้านโลจิสติกส์และระบบราชการ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองข้ามได้

เขาบอกอีกว่า “กลยุทธ์จีนบวกหนึ่ง” (China plus one strategy) ซึ่งในทางทฤษฎีถูกมองว่าเป็นการกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ ยังไม่ได้เป็นไปตามที่ตั้งเป้าไว้อย่างเต็มที่

ขณะที่ “สตีฟ โอลสัน” นักวิจัยจาก “ฮินริช ฟาวเดชั่น” องค์กรที่ทำงานเพื่อการพัฒนาการค้า แสดงความเห็นว่า กรณีของเวียดนามอาจแสดงให้เห็นถึงความเครียดในความพยายามที่จะทำให้โครงสร้างพื้นฐานในประเทศมีเพียงพอ หลังจากที่บริษัทต่าง ๆ ย้ายจากจีนมาตั้งโรงงานในเวียดนามมากขึ้น และการส่งออกก็เฟื่องฟูขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

“ตัน เถิงเถิง” ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทวิเคราะห์และคาดการณ์เศรษฐกิจ “อ็อกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์” มองว่า ภาวะชะลอตัวยังไม่ถึงจุดสิ้นสุด ความหวังที่ว่าดีมานด์ของภาคการส่งออกจะได้รับแรงหนุนจากการเปิดประเทศของจีนก็เกือบจะหายไปหมด และเมื่อพิจารณาจากแนวโน้มภายนอกที่แย่ คาดว่าการเติบโตของจีดีพีในปีนี้จะไม่ถึงเป้าหมายอันทะเยอทะยานของนายกรัฐมนตรีเวียดนามที่ตั้งเป้าไว้ 9%

อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกดีขึ้น ก็คาดว่าการส่งออกและการผลิตของเวียดนามจะดีขึ้นอีกครั้ง แต่คงยังไม่ใช่ในปีนี้

ส่วนในระยะยาวคาดว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะได้รับประโยชน์อีกมากจากการสนับสนุนของ “ป๋าดัน” อย่างสหรัฐอเมริกาที่เพิ่งยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างกันขึ้นเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม” เมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา ในขณะที่ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐเดินทางเยือนเวียดนามด้วยตัวเอง

ภายใต้การยกระดับความสัมพันธ์นี้ สหรัฐกับเวียดนามมีข้อตกลงกันหลายเรื่อง ทั้งสหรัฐจะช่วยสนับสนุนทุนสำหรับการพัฒนาแร่หายากในเวียดนาม และยังจะมอบเงิน 2 ล้านดอลลาร์เพื่อฝึกอบรมวิศวกรด้านเซมิคอนดักเตอร์ และอบรมพนักงานในกระบวนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์

พร้อมกับที่ภาคธุรกิจก็จะมีบริษัทจากสหรัฐมาลงทุนในเวียดนาม เช่น แอมกอร์ เทคโนโลยี (Amkor Technology) จะลงทุนผลิตชิปด้วยงบฯลงทุน 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมาร์เวลล์ เทคโนโลยี (Marvell Technology) จะสร้างศูนย์การออกแบบเซมิคอนดักเตอร์