Starbucks ถูกฟ้องข้อหาขายน้ำผลไม้ที่ไม่มีผลไม้

Strawberry Acai with Lemonade Starbucks Refreshers
Strawberry Acai with Lemonade Starbucks Refreshers

“ขายน้ำผลไม้ที่ไม่มีผลไม้” เป็นข้อหาที่สตาร์บัคส์ (Starbucks) แบรนด์ร้านกาแฟยักษ์ใหญ่ของโลกโดนผู้บริโภคในสหรัฐยื่นฟ้อง และศาลปฏิเสธคำขอยกฟ้องของสตาร์บัคส์เมื่อวานนี้ เดินหน้ากระบวนการพิจารณาคดีต่อไป 

วันที่ 19 สิงหาคม 2023 สำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า ศาลชั้นต้นของรัฐบาลกลางสหรัฐสั่งฟ้องร้องสตาร์บัคส์ (Starbucks) แบรนด์กาแฟยักษ์ใหญ่ระดับโลก ในข้อหาขายเครื่องดื่มหลายเมนูในไลน์ “Refresher” โดยระบุว่าเป็นเครื่องดื่มน้ำผลไม้ แต่เครื่องดื่มนั้นกลับไม่มีส่วนผสมที่สำคัญ นั่นก็คือ “ผลไม้” 

ก่อนหน้านี้ ผู้บริโภคยื่นคำฟ้องว่าเครื่องดื่ม 6 เมนูของสตาร์บัคส์ ได้แก่ Mango Dragonfruit, Mango Dragonfruit Lemonade, Pineapple Passionfruit, Pineapple Passion Fruit Lemonade, Strawberry Açai และ Strawberry Açai Lemonade Refreshers ไม่มีผลไม้เป็นส่วนผสมตามที่โฆษณาว่าเป็นเครื่องดื่มรสมะม่วง เสาวรส และอาซาอิ 

ล่าสุด เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2023 จอห์น โครแนน (John Cronan) ผู้พิพากษาศาลเขตแมนฮัตตัน ในนครนิวยอร์ก ซึ่งเป็นศาลชั้นต้นในระบบศาลรัฐบาลกลางสหรัฐ ได้ปฏิเสธคำร้องของสตาร์บัคส์ที่ร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำฟ้อง 9 ข้อหา จากทั้งหมด 11 ข้อหา ในการดำเนินคดีแบบกลุ่ม

โดยผู้พิพากษากล่าวว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ในกระบวนการทดสอบผู้บริโภคที่สมเหตุสมผล (reasonable-consumer test) คาดหวังว่าเครื่องดื่มที่ได้รับจะมีผลไม้ตามที่ระบุอยู่ในชื่อเมนู 

โจน โคมินิส (Joan Kominis) โจทก์รายหนึ่งจากเมืองแอสโตเรีย รัฐนิวยอร์ก และเจสัน แม็กอัลลิสเตอร์ (Jason McAllister) จากเมืองแฟร์ฟิลด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า ส่วนผสมหลักของเครื่องดื่มเหล่านี้คือน้ำ น้ำองุ่นเข้มข้น และน้ำตาล และกล่าวว่า ชื่อที่ทำให้เข้าใจผิดของสตาร์บัคส์ทำให้ลูกค้าต้องจ่ายเงินในราคาแพงจริง ซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค

ในการยื่นคำขอให้ศาลยกฟ้อง สตาร์บัคส์โต้แย้งว่า ชื่อโปรดักต์บอกถึงรสชาติของเครื่องดื่ม ไม่ใช่ส่วนผสม และป้ายเมนูของร้านก็โฆษณารสชาติเหล่านั้นอย่างถูกต้องแล้ว และยังบอกอีกว่า ไม่มีผู้บริโภคที่สมเหตุสมผลคนไหนหรอกที่จะสับสน และพนักงานบาริสต้าของบริษัทก็สามารถขจัดความสับสนได้ดีพอ หากผู้บริโภคมีคำถาม 

ฟังดูอาจเหมือนว่าจะคล้ายกับคำว่า “วานิลลา” ที่อยู่ในเครื่องดื่ม ขนม ไอศกรีม ซึ่งก็เป็นที่เข้าใจกันว่าไม่มีส่วนผสมของ “วานิลลา” แท้ ๆ แต่เป็นสารแต่งกลิ่นเท่านั้น 

แต่ผู้พิพากษากล่าวว่า คดีนี้ไม่เหมือนกับคำว่า “วานิลลา” ซึ่งเคยเป็นประเด็นของการฟ้องร้องหลายคดีก่อนหน้านี้ เนื่องจากไม่มีอะไรที่บ่งชี้ได้ว่าคำว่า “มะม่วง” “เสาวรส” และ “อาซาอิ” เป็นคำที่เข้าใจได้โดยทั่วไปว่าเป็นคำที่บอก “รสชาติ” โดยที่ไม่ได้บอกถึง “ส่วนผสม” ด้วย 

ผู้พิพากษาบอกอีกว่า ความสับสนของผู้บริโภคเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เนื่องจากผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ของสตาร์บัคส์นั้นมีส่วนผสมตามชื่อเมนูจริง ๆ เช่น Ice Matcha Tea Latte ซึ่งมีมัทฉะจริง และ Honey Citrus Mint Tea ซึ่งมีน้ำผึ้งและมินต์เป็นส่วนผสมจริง ๆ 

อย่างไรก็ตาม ผู้พิพากษายกฟ้องในข้อกล่าวหาเรื่องการฉ้อโกง เนื่องจากไม่พบข้อพิสูจน์ว่าสตาร์บัคส์มีเจตนาฉ้อโกงผู้บริโภค และยกฟ้องข้อกล่าวหาเรื่องลาภมิควรได้ (จากการขายเครื่องดื่มในราคาสูงเกินควร) 

ทั้งนี้ ในแถลงการณ์ของสตาร์บัคส์ระบุว่า ข้อกล่าวหาในคดีนี้ “ไม่ถูกต้องและไม่มีคุณธรรม” และระบุว่า บริษัทตั้งหน้าตั้งตารอที่จะต่อสู้คดี