ธนาคาร-สถาบันการเงิน “ฟอกเขียว” พุ่ง 70% ส่วนใหญ่อยู่ในยุโรป

ฟอกเขียว
การประท้วงการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ Place de la Republique ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสระหว่างการประชุมสุดยอดสนธิสัญญาการเงินระดับโลก เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2023 (ภาพโดย Thomas SAMSON / AFP)

พบการ “ฟอกเขียว” ของภาคธุรกิจธนาคารและสถาบันการเงิน เพิ่มขึ้นมากถึง 70% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา เป็นรองเพียงธุรกิจน้ำมันและก๊าซเท่านั้น โดยส่วนใหญ่เป็นธนาคาร-สถาบันการเงินในทวีปยุโรปซึ่งมีกฎหมายสิ่งแวดล้อมเข้มงวด 

วันที่ 3 ตุลาคม 2023 สำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) รายงานอ้างอิงรายงานของ เรปริสก์ (RepRisk) บริษัทให้บริการข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) รายใหญ่ระดับโลกว่า จำนวนกรณีการฟอกเขียว (green washing) ของธนาคารและธุรกิจให้บริการทางการเงินทั่วโลกในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา (ตุลาคม 2022-กันยายน 2023) เพิ่มขึ้น 70% เมื่อเทียบกับ 12 เดือนก่อนหน้านั้น (ตุลาคม 2021-กันยายน 2022) 

RepRisk กล่าวว่า ภาคการธนาคารและบริการทางการเงินมีการฟอกเขียวมากเป็นอันดับสอง เป็นรองเพียงภาคอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ 

ในรายงานบันทึกข้อมูลว่าว่า มีการฟอกเขียว 148 กรณีจากภาคการธนาคารและบริการทางการเงินทั่วโลกในช่วง 12 เดือนล่าสุด (ตุลาคม 2022-กันยายน 2023) เพิ่มขึ้นจาก 86 กรณีในช่วง 12 เดือนก่อนหน้านั้น (ตุลาคม 2021-กันยายน 2022) คิดเป็นเพิ่มขึ้น 70% 

จากทั้งหมด 148 กรณีนั้น มีจำนวน 106 กรณีที่มาจากสถาบันการเงินในทวีปยุโรป 

ทั้งนี้ ข้อมูลเผยว่า องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเขียวมักจะเป็นองค์กรที่กล่าวอ้างเกี่ยวกับ “ความยั่งยืน” โดยจงใจลวงตานักลงทุนหรือผู้บริโภคให้เข้าใจผิด (ว่าบริษัทได้ดำเนินการอย่างใส่ใจสิ่งแวดล้อมจริง) ซึ่งโดยปกติแล้วจะเป็นการทำเพื่อเพิ่มชื่อเสียงและกำไรขององค์กร

RepRisk กล่าวว่า กว่า 50% ขององค์กรที่มีความเสี่ยงที่จะฟอกเขียวในเรื่องสภาพภูมิอากาศมีการกล่าวถึงเชื้อเพลิงฟอสซิล หรือมีการเชื่อมโยงระหว่างสถาบันการเงินกับบริษัทน้ำมันและก๊าซ อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์เหล่านี้ไม่ได้ถูกปล่อยให้เกิดขึ้นโดยไม่มีใครสนใจ หน่วยงานกำกับดูแลต่างก็เพิ่มความตระหนักถึง “ขนาดของปัญหา” มากขึ้น 

บรรดาองค์กรเฝ้าระวังและตรวจสอบ (watchdog) ในสหภาพยุโรป (EU) กล่าวเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่า ธนาคาร บริษัทประกันภัย และบริษัทด้านการลงทุนทั่วทั้งสหภาพยุโรป มีการกล่าวอ้างหรือจงใจลวงตานักลงทุนเกี่ยวกับหนังสือรับรองความยั่งยืน (sustainability credentials) 

การตรวจสอบของ RepRisk พบว่า การฟอกเขียวกำลังเพิ่มขึ้นในวงกว้าง โดย 25% ของเหตุการณ์ที่เป็นความเสี่ยงด้านความยั่งยืนที่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศนั้นเชื่อมโยงกับการฟอกเขียว ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 20% ในปีที่แล้ว 

ขณะเดียวกันก็พบว่า ประมาณ 33% ของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการ “ฟอกเขียว” (green washing) นั้นพัวพันกับสิ่งที่เรียกว่า “social washing” ซึ่งหมายถึงการแสร้งทำเป็นว่ามีความรับผิดชอบต่อสังคม แต่แท้จริงปกปิดประเด็นปัญหาทางสังคมเอาไว้ เช่น ปกปิดผลกระทบต่อชุมชนที่เกิดจากการดำเนินงานของบริษัท หรือปกปิดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกระบวนการผลิต เป็นต้น เพื่อปกป้องชื่อเสียงและผลการดำเนินงาน 

“การสื่อสารที่จงใจทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ไม่เพียงแต่ขัดขวางความก้าวหน้าในการบรรลุเป้าหมายร่วมกัน แต่ยังทำลายความไว้วางใจของผู้บริโภคและนักลงทุนด้วย” RepRisk กล่าวในรายงาน