“ผมอยากออกจากพื้นที่เสี่ยง” เสียงแรงงานไทยในอิสราเอลที่รอคอยการช่วยเหลือ

เสียงแรงงานไทยในอิสราเอล

นับถึงวันที่ 11 ตุลาคม 2023 สงครามระหว่างอิสราเอลกับ “ฮามาส” กองกำลังติดอาวุธชาวปาเลสไตน์ ที่บริเวณฉนวนกาซาและพื้นที่ใกล้เคียงดำเนินมาเป็นวันที่ 5 

ณ เวลาประมาณ 16.00 น. วันที่ 11 ตุลาคม 2023 ตามเวลาประเทศไทย ซึ่งตรงกับเวลา 17.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นประเทศอิสราเอล มีผู้เสียชีวิตทั้งสองฝั่งรวมกันอย่างน้อย 2,150 ราย เป็นผู้เสียชีวิตในพื้นที่อิสราเอล 1,200 ราย และผู้เสียชีวิตในพื้นที่ฉนวนกาซา 950 ราย ในจำนวนนั้นมีชาวไทยที่รัฐบาลยืนยันแล้วจำนวน 20 คน 

ตามรายงานข่าวก่อนหน้านี้ กลุ่มฮามาสจับพลเมืองไปคุมขังไว้ในฉนวนกาซาเพื่อเป็น “โล่มนุษย์” จำนวนราว 150 ราย ซึ่งในจำนวนนั้นเป็นคนไทย 11 ราย  

สำหรับการช่วยเหลือแรงงานชาวไทยออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยและอพยพกลับประเทศ กระทรวงการต่างประเทศของไทยบอกในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 9 ตุลาคมว่า กองทัพอิสราเอลได้เริ่มการอพยพพลเมืองรวมทั้งคนไทยจากพื้นที่เสี่ยงภัยไปยังพื้นที่ปลอดภัยแล้ว รวมถึงมีรายงานข่าวว่า เจ้าหน้าที่รัฐของไทยเองก็ได้พยายามให้การช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอลออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยไปยังพื้นที่ปลอดภัย เพื่อรอเวลาที่จะได้เดินทางกลับประเทศ 

ล่าสุดช่วงสายวันที่ 11 ตุลาคม กระทรวงการต่างประเทศแถลงว่า สถานะ ณ วันที่ 10 ตุลาคม มีแรงงานไทยในอิสราเอลแจ้งความประสงค์กลับไทย 5,019 ราย และประสงค์พำนักต่อในอิสราเอล 61 ราย ซึ่งสถานเอกอัครรราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟอยู่ระหว่างประสานที่เกี่ยวข้องเพื่อสำรองที่นั่งสายการบินพาณิชย์เพื่ออพยพคนไทยในวันที่ 18 ตุลาคม และเตรียมการรับเครื่องบินของกองทัพอากาศ ซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตให้บินผ่านน่านฟ้าของประเทศต่าง ๆ เพื่อปฏิบัติภารกิจ 

Advertisment

ส่วนแรงงานไทย 15 คนแรก ซึ่งเป็นผู้บาดเจ็บที่ได้รับการช่วยเหลืออพยพกลับประเทศ จะเดินทางกลับมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ประเทศไทย ในเวลา 10.35 น. วันที่ 12 ตุลาคมนี้ 

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากการตรวจสอบข้อมูลในไลน์โอเพ่นแชทซึ่งเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศได้ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นช่องทางให้คนไทยในอิสราเอลรวมถึงญาติที่อยู่ในประเทศไทยได้แจ้งขอความช่วยเหลือและติดต่อสื่อสารกับเจ้าหน้าที่อีกทางหนึ่ง พบว่าในวันที่ 10 และ 11   ตุลาคม มีแรงงานชาวไทยจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือในการอพยพออกจากพื้นที่เสี่ยง รวมถึงคนที่แจ้งความประสงค์ขอกลับประเทศแล้วอยู่ระหว่างรอการติดต่อกลับจากเจ้าหน้าที่ และแจ้งปัญหาความเดือดร้อนอื่น ๆ เช่น ไม่มีเงินติดตัวที่จะอพยพด้วยตัวเอง หลบภัยอยู่โดยไม่มีอาหาร เป็นต้น 

จากการตรวจสอบข้อความพบว่า แรงงานไทยบางคนอยู่พื้นที่สีแดงใกล้ฉนวนกาซาทางภาคใต้ของประเทศอิสราเอล ขณะเดียวกัน ก็มีแรงงานไทยที่อยู่พื้นที่ทางภาคเหนือของอิสราเอลที่เสี่ยงภัยการสู้รบของอิสราเอลกับกลุ่มเฮซบอลเลาะห์จากประเทศเลบานอนด้วย 

“ประชาชาติธุรกิจ” ยกตัวอย่างข้อความที่มีผู้ส่งเข้าไปขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ ดังนี้ 

Advertisment

 

“ถ้าเราอยู่ในหมู่บ้านกับนายจ้าง จะสามารถย้ายไปอยู่ศูนย์อพยพได้ไหมครับ” 

พิทักษ์ – วันที่ 10 ตุลาคม เวลา 10.49 น.

 

“ผมต้องการอพยพไปพื้นที่ปลอดภัย … ไม่มีหน่วยงานไหนมารับเลยครับ… เหลือแต่คนไทยที่อยู่บริเวณนี้ ไม่รู้จะไปทางไหน” 

สังวาลย์ – วันที่ 10 ตุลาคม เวลา 10.49 น. 

 

“ตอนนี้ต้องการอพยพด่วนครับ”

สถิตย์ – วันที่ 10 ตุลาคม เวลา 11.24 น. 

 

“ตอนนี้อยู่ห่างกาซาประมาณ 10 กว่ากิโลเมตร อยู่ติดกับมิสเตอร์คิม ยังมีการยิงกันต่อเนื่อง คนไทยทางพวกผมประมาณ 60 กว่าคน ยังไม่มีการอพยพจากที่พักแรงงาน” 

แบงก์ – วันที่ 10 ตุลาคม เวลา 11.34 น. 

 

“ถ้าจะไปศูนย์อพยพ ต้องติดต่อหน่วยงานไหนครับ” 

Tawan – วันที่ 10 ตุลาคม เวลา 12.19 น. 

 

“ขอความช่วยเหลือหน่อยครับ ตอนนี้ 11 คน”

Boy.bc – วันที่ 10 ตุลาคม เวลา 12.21 น. 

 

“มีใครรู้ ศูนย์อพยพอยู่ตรงไหน บอกหน่อยครับ เพราะคนที่เขาจะอพยพ เขาไม่มีเป้าหมายที่จะไป” 

Ake – วันที่ 10 ตุลาคม เวลา 12.22 น. 

 

“… คนไทยอยู่ตรงนั้น 100+ ค่ะ นายจ้างทิ้งหมดค่ะ รอการช่วยเหลือค่ะ อาหารจะหมดแล้วค่ะ ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ” 

นุ้ย – วันที่ 10 ตุลาคม เวลา 13.12 น. 

 

“ผมห่างจากกาซา 4 กิโล ยังไม่มีหน่วยงานไหนช่วยเลยครับ” 

สังวาลย์ – วันที่ 10 ตุลาคม เวลา 12.06 น. 

“นอนในหลุมหลบภัยวันนี้ 5 วันละ ไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาเลยครับ มีแต่รอ ๆ ตอนนี้ครับ วิตกกังวลกัน … ยังดีมีทหารจะมาในช่วงเย็น เขตที่อยู่กลางตอนล่าง เขตพิกัน ช่วยพวกเราออกจากจุดที่อันตรายด้วยนะครับ ตอนนี้เงินก็ไม่สำคัญเท่าชีวิต นายจ้างก็ไม่จ่ายค่าแรง เมื่อวานจะให้ทำงาน พวกผมกลัวไม่มีคนกล้าทำ เพราะห่วงชีวิต … เลยจะพากันออกไปจากเขตนี้ แต่ไม่รู้จะไปแบบไหน ขอท่านที่จะช่วยพวกผมได้ ช่วยพาออกไปจากตรงนี้ด้วยนะครับ แจ้ง mail ไปแล้วก็เงียบ แจ้ง Line สายด่วนก็เงียบ เบอร์กงศุล โทรไปก็ไม่มีคนรับ ผมจะแจ้งแบบนี้ตลอดช่วงที่มีสัญญาน ถ้าวันไหนไม่มีสัญญานจะติดต่อผมไม่ได้ ช่วยหน่อยนะครับ” 

สังวาลย์ – วันที่ 11 ตุลาคม เวลา 06.26 น. 

“น้องชายผมต้องการความช่วยเหลือให้เจ้าหน้าที่ไปรับออกจากพื้นที่สีแดงด่วนครับ เพิ่งติดต่อได้ ตอนนี้น้องชายบอกว่ามีกันอยู่ประมาณ 24 คน ติดต่อไครไม่ได้เลยครับ ผมติดต่อประสานช่องทางไหนครับ” 

ต้อ – วันที่ 11 ตุลาคม เวลา 06.26 น. 

“ตอนนี้โดนไล่ที่แล้วครับ ไม่ทำงานให้เขา … พวกผมสภาพจิตใจไม่พร้อมทำงานครับ โดนมาเยอะ กระสุนเฉี่ยวหัว โดนยิงไล่หลัง โดนเผาให้ตายทั้งเป็น รวม ๆ แล้วหนีตาย 3 วัน”

สุริยันต์ – วันที่ 11 ตุลาคม เวลา 11.29 น. 

“มีใครอยู่ใกล้อัชเคลอนที่ยังไม่ได้อพยพบ้างครับ ผมอยู่คนเดียว อยู่ห่าง 4 กิโล นายจ้างไม่เคยมาดูเลยครับ โมชาฟ มาเชน”

อรรถพล – วันที่ 11 ตุลาคม เวลา 11.37 น. 

“ขอสอบถามหน่อยครับ คือว่าผมตอนนี้ได้อพยพมาจากเขตเดชามิสเตอร์คิมลงมาอยู่ภาคใต้เขตคัสเซว่า นายจ้างเก่าเอามาทำงานอยู่ที่นี่ แต่เมื่อวานทางสถานทูตโทรมาว่าผมได้คิวรอบบินวันที่ 15 นี้ แต่ตอนนี้ผมยังไม่ได้เงินค่าจ้างจากที่เก่าติดตัวเลยแม้แต่บาทเดียว และไม่มีค่าแท็กซี่ขึ้นไปสนามบินเลยครับ”

ฐานันดร – วันที่ 11 ตุลาคม เวลา 13.07 น.

นอกจากนั้น มีข้อความอีกจำนวนมาก ทั้งที่แรงงานไทยในอิสราเอลส่งมาเอง และญาติของแรงงานในอิสราเอลส่งเข้าไปแจ้งขอความช่วยเหลือแทนเจ้าตัว