BITE SIZE : สงครามครั้งใหม่ อิสราเอล-ฮามาส

Prachachat BITE SIZE
โดย พฤฒินันท์ สุดประเสริฐ

สงครามครั้งใหม่ระหว่างอิสราเอล และกลุ่มที่มีชื่อว่า “ฮามาส” ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา ประเด็นใหญ่ที่ทั่วโลกกำลังจับตามองอย่างมาก

สงครามระหว่าง 2 ฝ่ายในครั้งนี้ เริ่มจากการยิงจรวดของกลุ่มฮามาส มากกว่า 5,000 ลูก แบบที่อิสราเอลไม่ทันตั้งรับ ก่อนที่จะตามมาด้วยการเสียชีวิตของผู้คน การจับตัวประกัน ไปจนถึงปฏิบัติการโต้ตอบของอิสราเอล

คำถามที่หลายคนอาจสงสัยคือ กลุ่ม “ฮามาส” ที่ว่านี้เป็นใคร แล้วอะไรที่เป็นจุดเริ่มต้นสงครามครั้งใหม่ ที่กลายเป็นเรื่องใหญ่ระดับโลก และจะกระทบต่อเศรษฐกิจโลก-เศรษฐกิจไทยอย่างไร ?

Prachachat BITE SIZE สรุปเรื่องราวทั้งหมดให้เข้าใจไปพร้อมกัน

“กลุ่มฮามาส” คือใคร ?

ตัวละครสำคัญที่หลายคนต่างอยากรู้ คงหนีไม่พ้น “กลุ่มฮามาส” ที่เป็นคู่ขัดแย้งในสงครามครั้งนี้

Advertisment

กลุ่มฮามาส เป็นกลุ่มเคร่งศาสนาอิสลามนิกายซุนนี ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2530 โดยเป็นเครือข่ายของกระบวนการเคลื่อนไหว “ขบวนการภราดรภาพมุสลิมของอาหรับ” ได้รับการสนับสนุนจากประเทศอิหร่าน ทั้งด้านเงินทุน การจัดหาอาวุธ และการฝึกซ้อมรบ โดยกลุ่มฮามาส มีเป้าหมายสำคัญ คือ เพื่อทำลายล้างอิสราเอล เพราะมองว่า ชาวยิวเข้ามาแย่งพื้นที่อาศัยของพวกเขา

และกลุ่มฮามาสเข้ายึดครองพื้นที่ฉนวนกาซา (Gaza Strip) มาตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งพื้นที่ดังกล่าว มีขนาดพื้นที่ 365 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่ที่อยู่อาศัยของชาวปาเลสไตน์ แต่ถูกควบคุมพื้นที่ให้ผ่านเมืองได้จำกัด ทั้งสินค้าและผู้คน

ขณะที่ชาติตะวันตกทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร หรือแม้แต่อิสราเอล จัดให้กลุ่มฮามาสเป็น “กลุ่มก่อการร้าย”

ปัญหาพื้นที่-ผู้คน สู่สงคราม

อิสราเอล และกลุ่มฮามาส จริง ๆ แล้ว มีความขัดแย้งกันมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ที่กลุ่มฮามาส เข้ายึดครองพื้นที่ฉนวนกาซา เมื่อปี 2550 และหากย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นไปอีก ก็เกิดความขัดแย้งและสงครามระหว่าง 2 ฝ่ายมานานนับทศวรรษ

Advertisment

เหตุผลการโจมตีอิสราเอลของกลุ่มฮามาส มาจากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่ยืดเยื้อมานานราว 80-100 ปี และมีรากของปัญหาที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่และผู้คนที่อาศัยอยู่ในดินแดนนั้นมายาวนานกว่านั้น

คาเลด กาโดมี (Khaled Qadomi) โฆษกของกลุ่มฮามาส ให้สัมภาษณ์กับอัลจาซีรา ระบุว่า ปฏิบัติการทางทหารของกลุ่มฮามาสมีขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความโหดร้ายทั้งหมดที่ชาวปาเลสไตน์ต้องเผชิญตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา

ขณะที่ โมฮัมเหม็ด เดอิฟ (Mohammed Deif) ผู้บัญชาการทหารของกลุ่มฮามาส ซึ่งเป็นผู้ให้ข่าวว่ามีการยิงจรวด 5,000 ลูกในการโจมตีครั้งแรก กล่าวว่า “นี่เป็นวันแห่งการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเพื่อยุติการเข้ายึดครองดินแดนครั้งสุดท้ายของโลก”

นอกจากนั้น กลุ่มฮามาสได้เรียกร้องให้ชาวปาเลสไตน์ที่อาศัยอยู่ในเขตเวสต์แบงก์ ซึ่งอยู่อีกฟากหนึ่งของประเทศอิสราเอล ลุกฮือขึ้นมาต่อต้านอิสราเอลด้วยกัน รวมถึงเรียกร้องให้ชาติอาหรับและรัฐอิสลามเข้าร่วมการต่อสู้ครั้งนี้

ส่วนการเริ่มต้นสงครามครั้งใหม่ หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมต้องเป็นเช้าวันที่ 7 ตุลาคม ตามเวลาท้องถิ่น

สื่อต่างประเทศหลายสำนักรายงานว่า กลุ่มฮามาสตั้งใจเลือกโจมตีในช่วงวันครบรอบ 50 ปีของสงครามระหว่างแนวร่วมอาหรับกับอิสราเอล ที่เกิดขึ้นเมื่อตุลาคม 2516 ซึ่งครั้งนั้น เป็นทั้งสงครามแย่งชิงดินแดน และเป็นสงครามที่มีเจตนาต่อสู้ทางความเชื่อ และเจตนาสร้างความเจ็บปวดทางจิตใจด้วย

สงครามครั้งใหม่ รุนแรงขนาดไหน ?

แม้ว่าที่ผ่านมา อิสราเอล และกลุ่มฮามาส มีความขัดแย้งและพยายามตอบโต้กันมาอย่างต่อเนื่อง แต่ครั้งนี้นับว่ารุนแรงมากที่สุดครั้งหนึ่ง เพราะมีผู้เสียชีวิตไปแล้วนับพันคน และยังมีแนวโน้มว่าจะมีผู้เสียชีวิตต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีผู้บาดเจ็บ และถูกจับเป็นตัวประกันอีกด้วย ซึ่งตอนนี้รัฐบาลไทย เร่งเรื่องการติดตามและให้ความช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในอิสราเอลให้ปลอดภัยจากสงครามครั้งนี้ต่อไป

ส่วนในแง่ของเศรษฐกิจ มีการวิเคราะห์กันว่า ความขัดแย้งครั้งนี้จะสร้างความเสี่ยงใหม่ ๆ ต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะปัญหา “เงินเฟ้อ” ที่อาจพุ่งกลับขึ้นอีก เป็นโจทย์ใหญ่ให้ธนาคารกลางทั่วโลกต้องแก้ด้วยการขึ้นดอกเบี้ยต่ออีก รวมถึงมีแนวโน้มว่าสงครามจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจกับนักลงทุนลดลง

สำหรับผลกระทบในประเทศไทยนั้น คุณบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากสงคราม ระบุว่า เบื้องต้นยังคงมีผลจำกัด หากความขัดแย้งยังอยู่ภายในประเทศอิสราเอล ไม่ได้ขยายวงกว้างไปสู่ประเทศอื่น เนื่องจากไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปยังกลุ่มตะวันออกกลางไม่มาก

โดยในช่วง 8 เดือนมีมูลค่าส่งออกไปตะวันออกกลางอยู่ที่ 7,300 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นสัดส่วน 2.7% ของการส่งออกทั้งหมด และส่งออกไปยังอิสราเอลราว 545 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 0.3% ของการส่งออกทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม สงครามครั้งนี้ ไม่มีใครล่วงรู้ได้ว่า อีกนานแค่ไหนถึงจะจบลง และบทสรุปของสงครามครั้งนี้ จะออกมาเป็นแบบไหน

ติดตาม Prachachat BITE SIZE EP.24 ได้ที่ https://youtu.be/vE6LakKxAZY