ดูคำกล่าว ปธน.ปาเลสไตน์ มีท่าที-ความเห็นอย่างไรต่อสงครามอิสราเอล-ฮามาส 

ประธานาธิบดีปาเลสไตน์ สงครามอิสราเอล-ฮามาส
ฉนวนกาซาหลังการโจมตีโต้กลับของอิสราเอล วันที่ 9 ตุลาคม 2023/ มาห์มูด อับบาส ปธน.ปาเลสไตน์ (ภาพโดย AFP)

สงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มติดอาวุธ “ฮามาส” ชาวปาเลสไตน์ ไม่ได้ถือว่าเป็นสงครามระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ เพราะฮามาสไม่ใช่ตัวแทนของรัฐ แต่เป็นกลุ่มหัวรุนแรงที่อยู่คนละขั้วกับรัฐบาลปาเลสไตน์ที่บริหารปาเลสไตน์ในเวสต์แบงก์ 

เมื่อ “ฮามาส” ไม่เท่ากับ “ปาเลสไตน์” แต่ “ปาเลสติเนียน” ส่วนหนึ่งเป็นฮามาส หรือเชียร์ฮามาส ในสถานการณ์สงครามรอบใหม่ที่จุดชนวนโดยฮามาสซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตของชาวปาเลสไตน์จำนวนมาก จึงน่าจะเป็นภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกพอสมควรสำหรับรัฐบาลปาเลสไตน์

น่าสนใจว่าผู้มีอำนาจปกครองปาเลสไตน์คิดเห็นอย่างไรต่อสงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาสในครั้งนี้ 

ประธานาธิบดีมาห์มูด อับบาส (Mahmoud Abbas) ของปาเลสไตน์แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ล่าสุดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม 2023 ระหว่างที่เขาพบกับแอนโทนี บลินเคน (Antony Blinken) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐ ในการเยือนกรุงอัมมาน ประเทศจอร์แดน 

เมื่อพบกับแอนโทนี บลินเคน ประธานาธิบดีอับบาสของปาเลสไตน์กล่าวกับบลิงเคนว่า ตัวเขาปฏิเสธ “การบังคับย้ายถิ่นฐาน” ที่กระทำต่อชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา 

เขากล่าวว่า การอพยพของชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาครั้งนี้จะถือเป็น “นักบาห์ครั้งที่สอง” ซึ่งหมายถึงการพลัดถิ่นครั้งใหญ่ของชาวปาเลสไตน์ในสงครามปี 1948 ซึ่งเกี่ยวกับการกำเนิดของประเทศอิสราเอล

พร้อมทั้งเสริมว่า จะต้องมีการอนุญาตให้สร้างช่องทางเพื่อมนุษยธรรม (humanitarian corridor) ในฉนวนกาซาทันที เพื่อป้องกันหายนะด้านมนุษยธรรม 

แอนโทนี่ บลิงเคน และมาห์มูด อับบาส
แอนโทนี่ บลิงเคน และมาห์มูด อับบาส พบกันที่ประเทศจอร์แดน วันที่ 13 ตุลาคม 2023 (ภาพโดย Jacquelyn Martin/ Pool via REUTERS)


ก่อนการพบกับบลิงเคนหนึ่งวัน รอยเตอร์ (Reuters) รายงานอ้างอิงสำนักข่าววาฟา (WAFA) ของทางการปาเลสไตน์ว่า อับบาสได้ประณามความรุนแรงที่กระทำต่อพลเรือนของทั้งสองฝ่าย ทั้งการโจมตีอย่างรุนแรงของกลุ่มฮามาสต่ออิสราเอล และการโจมตีอย่างไม่หยุดยั้งของอิสราเอลในฉนวนกาซา 

ประธานาธิบดีอับบาสของปาเลสไตน์กล่าวในวันที่ 12 ตุลาคมว่า รัฐบาลปาเลสไตน์ซึ่งมีอำนาจปกครองอย่างจำกัดในเขตเวสต์แบงก์และต่อต้านกลุ่มฮามาสขอยืนหยัดต่อต้านความรุนแรง และจะดำเนินการทางการเมืองเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการต่อต้านความรุนแรงนี้ 

“เราไม่ยอมรับแนวปฏิบัติในการสังหารหรือการข่มเหงพลเรือนของทั้งสองฝั่ง พวกเขาละเมิดศีลธรรม ศาสนา และกฎหมายระหว่างประเทศ” รอยเตอร์รายงานคำพูดของอับบาส 

ความคิดเห็นสองครั้งหลังสุดของมาห์มูด อับบาส ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงท่าทีจากก่อนหน้านี้ โดยเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2023 อับบาสบอกกับรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐว่า ชาวปาเลสไตน์มีสิทธิที่จะปกป้องตนเองจาก “ความน่าหวาดกลัวของผู้ตั้งถิ่นฐานและกองทหารยึดครอง” 

เขาบอกว่า “ความอยุติธรรม” ต่อชาวปาเลสไตน์กำลังผลักดันความขัดแย้งระหว่างปาเลสไตน์กับอิสราเอลไปสู่ “การระเบิด” และเขายังกล่าวอีกว่า การยกระดับ (ความขัดแย้ง) ขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้นขึ้นอยู่กับ “การปฏิบัติของพวกนักล่าอาณานิคมและกองกำลังยึดครองของอิสราเอล และการรุกรานต่อความศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาอิสลามและคริสเตียน” 

ซึ่งหากตีความจากคำพูดของเขา ณ วันนั้น ก็ดูเหมือนว่าประธานาธิบดีปาเลสไตน์เป็นอีกคนหนึ่งที่มองว่าชาวปาเลสไตน์มีความชอบธรรมที่จะลุกฮือขึ้นสู้อิสราเอลทุกเมื่อ 

ต่อมา ในวันที่ 9 ตุลาคม หลังจากอิสราเอลโจมตีโต้กลับอย่างหนักต่อพื้นที่ฉนวนกาซา ส่งผลให้มีพลเมืองเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ประธานาธิบดีมาห์มุด อับบาส ของปาเลสไตน์ได้เรียกร้องให้สหประชาชาติ (UN) เข้าแทรกแซงสถานการณ์การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับฮามาสทันที เพื่อป้องกันการเกิดหายนะด้านมนุษยธรรมอันเนื่องมาจาก “การรุกรานอย่างต่อเนื่องของอิสราเอล โดยเฉพาะในฉนวนกาซา” 

ถ้าสรุปตามไทม์ไลน์ช่วง 7 วันที่ผ่านมา ประธานาธิบดีปาเลสไตน์ ซึ่งถือว่าพูดในนามรัฐบาลปาเลสไตน์ เริ่มจากบอกว่า ชาวปาเลสไตน์ (ไม่ได้เจาะจงว่าเป็นฮามาสหรือกลุ่มไหน) มีสิทธิที่จะปกป้องตนเองจากความน่าหวาดกลัวของผู้ยึดครองดินแดน ต่อมาได้เรียกร้องให้ UN เข้าแทรกแซงเพื่อยุดติสงคราม และตามมาด้วยการประณามทั้งสองฝ่ายที่โจมตีพลเมือง 

ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าอิสราเอลเข้าใจดีว่าฮามาสไม่ได้เท่ากับปาเลสไตน์ และเขตเวสต์แบงก์ก็ไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจของฮามาส ซึ่งดูเหมือนว่าความขัดแย้งของอิสราเอลกับฮามาสครั้งนี้ไม่น่าจะถูกเหมารวมมาถึงชาวปาเลสไตน์ในเวสต์แบงก์ แต่ลำพังเพียงชาวอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่อยู่ร่วมกันของในเวสต์แบงก์นั้นก็หาใช่ว่าจะอยู่กันอย่างสงบสุข เพราะมีการกระทบกระทั่งกันอยู่เป็นธรรมดาของคนสองชาติที่มีประวัติศาสตร์ความขัดแย้งกันมานาน

ตามการรายงานของรอยเตอร์บอกว่า ในเขตเวสต์แบงก์ซึ่งชาวปาเลสไตน์ต้องการให้เป็นแกนกลางของรัฐในอนาคตก็ได้เห็น “คลื่นแห่งความรุนแรง” มาเป็นเวลานานกว่า 18 เดือนแล้ว ซึ่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นกระตุ้นให้เกิดความกังวลว่า “ปาเลสติเนียน อินติฟาดา” (Palestinian Intifadas) หรือการลุกฮือของชาวปาเลสไตน์ในพื้นที่ที่อิสราเอลยึดครองจะเกิดขึ้นซ้ำอีก หลังจากที่เคยเกิดขึ้นแล้วสองครั้งในช่วงทศวรรษ 1980 และต้นทศวรรษ 2000 

ในขณะที่อิสราเอลเจอการโจมตีระดับรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนโดยฝีมือของกลุ่มฮามาส และขณะที่ฉนวนกาซาตกอยู่ภายใต้การโจมตีโต้กลับที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา เขตเวสต์แบงก์จึงมีความเสี่ยง และผู้คนในพื้นที่ก็รู้สึกว่ามีลางไม่ดี

ทั้งนี้ นับตั้งแต่เกิดเหตุโจมตีเมื่อวันเสาร์ที่ 7 ตุลาคมมาถึงวันที่ 13 ตุลาคม ในเขตเวสต์แบงก์และเยรูซาเลมตะวันออกก็มีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 30 ราย