
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์
นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ยอมรับตรงกันว่า ในห้วงเวลาเพียงแค่ 4 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของทั้งโลกได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์ “ช็อก” มาแล้ว 2 ครั้ง
ครั้งแรกคือการระบาดใหญ่ของเชื้อโควิด-19 ที่เขย่าทั้งโลก ก่อให้เกิดความปั่นป่วนและเปลี่ยนแปลงทั้งในการผลิต การบริโภค การค้าและห่วงโซ่ซัพพลาย
ก่อนที่จะถูกกระหน่ำซ้ำเติมด้วย วิกฤตสงครามที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน นั่นคือการที่รัสเซียส่งกำลังทหารบุกยูเครน อันเป็นการรุกรานประเทศอื่นอย่างเปิดเผยเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เรื่อยมา
ภาวะช็อกทั้งสองครั้งส่งผลเหมือนกันกับภาวะเงินเฟ้อ ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศพัฒนาแล้วพุ่งขึ้นสูงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในรอบ 40 ปี ส่งผลให้ธนาคารกลางของแต่ละประเทศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง
ขณะที่ภาวะเงินเฟ้อชะลอตัวลงในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา จนหลายคนคิดว่า “เทรนด์” กำลังพลิกผันเป็นขาลง ภาวะช็อกระลอกที่ 3 ก็ซ้ำเติมเข้ามาอย่างกะทันหัน
เมื่อฮามาสเปิดฉากปฏิบัติการ ที่นักสังเกตการณ์บางคนระบุว่าเป็นการก่อการร้ายที่ได้ผลที่สุดในแง่ของการทำลายล้างชีวิต นับตั้งแต่เหตุการณ์ 9/11 เรื่อยมา ส่งผลให้อิสราเอลตอบโต้กลับด้วยปฏิบัติการทางทหารที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปีเช่นกัน
หลายคนกังขาว่า โลกจะรอดพ้นจากภาวะช็อกระลอกที่สามนี้ได้หรือไม่
นักเศรษฐศาสตร์บางคนเปรียบเปรยสงครามยิว-ฮามาสว่า เป็นเหมือน “อาฟเตอร์ช็อก” ของโลกทั้งใบที่กำลังแบกหนี้จนหลังแอ่น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับสูงมากอย่างรวดเร็วมาก ๆ ทำให้โครงสร้างทางการเงินของทั้งโลกอ่อนแอลง รอยปริร้าวเริ่มเผยให้เห็นในหลาย ๆ ประเทศในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ตั้งแต่สหรัฐอเมริกา, จีน, สวิส เรื่อยไปจนถึงสหราชอาณาจักร (ยูเค)
แรงกระหน่ำจากภาวะช็อกครั้งที่ 3 ทำให้โอกาสเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินครั้งใหม่ มีความเป็นไปได้มากกว่าทุกครั้งในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา
ผู้บริโภคพากันดึง “เงินออม” ออกจากธนาคาร เพื่อนำไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มั่นคงกว่า ให้ผลตอบแทนดีกว่า อาทิ ทองคำ ส่งผลให้ระบบธนาคารอ่อนแอลง, นักลงทุนระดับสถาบันรวมทั้งบรรดาเฮดจ์ฟันด์ขนาดใหญ่อยู่ในสภาพ “ตกบันได” หัวทิ่มแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว, ตลาดอสังหาริมทรัพย์กลายเป็นขาลง ส่งผลเสียต่อทั้งระบบมากขึ้น
สุดท้ายแล้ว ประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศก็อาจไม่สามารถชำระหนี้ตามพันธะในเวลาที่กำหนดได้ ในขณะที่การเงินการคลังของประเทศพัฒนาแล้วก็เหมือนยืนโงนเงนอยู่ริมขอบเหว
ทั่วโลกได้แต่สวดภาวนา ขออย่าให้ความขัดแย้งนี้ลุกลามออกไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค อาทิ อิหร่าน ไม่เช่นนั้นแล้วเศรษฐกิจของทั้งโลกอาจตกอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างหนักจากราคาพลังงานที่ถีบตัวสูงลิ่ว หากปริมาณน้ำมันในตลาดโลกหดหายไป
ภูมิภาคตะวันออกกลางป้อนน้ำมันเข้าสู่ตลาดในสัดส่วนสูงมาก ตัวเลขเมื่อปีที่ผ่านมาคือ 32% ของทั้งโลกในแง่ของการผลิต แต่สูงขึ้นไปอีกเป็น 41% ในแง่ของการส่งออกสู่ตลาดโลก ซึ่งตึงตัวอย่างยิ่งอยู่แล้วก่อนหน้าศึกครั้งนี้จะระเบิดขึ้น
ราคาพลังงานที่สูงขึ้น สร้างแรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อให้ถีบตัวสูงขึ้น ธนาคารกลางอาจไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งหากนำไปสู่สถานการณ์ดอกเบี้ย “สูงและยาวนาน” ผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งโลกอย่างมีนัยสำคัญจะเกิดขึ้นตามมา
ปัญหาคือ ยังคงมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ต้องนำมาพิจารณาประกอบไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะ “deglobalisation” ในระบบการค้าโลกที่ค่อย ๆ เผยตัวอย่างให้เห็นในเชิงนโยบายการค้าตลอดช่วงปีสองปีที่ผ่านมา ในแง่ของการย้ายฐานการผลิต การปรับเปลี่ยนแหล่งทรัพยากร เรื่อยไปจนถึงการแสวงหาห่วงโซ่ซัพพลายใหม่
แล้วถูกสถานการณ์ความขัดแย้ง ยิว-ฮามาส ขยายภาพให้เห็นกระจ่างชัดเจนในเวลานี้
ในสงครามครั้งนี้ ชาติตะวันตกส่วนใหญ่ส่งเสียงสนับสนุนอิสราเอลว่ามีสิทธิที่จะป้องกันตนเอง ในขณะที่ประเทศอย่างจีนและรัสเซีย เรียกร้องให้หยุดยิงโดยไม่ได้พาดพิงถึงพฤติกรรมของฮามาส
ชี้ให้เห็นว่า กรณียิว-ฮามาสกำลังถูกดูดกลืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความแตกแยกเชิงภูมิรัฐศาสตร์ครั้งใหม่ ที่ฉายแววให้เห็นมาก่อนหน้าการโจมตีครั้งนี้
หากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ซึ่งซับซ้อนอย่างยิ่งยังดำเนินต่อไปเป็นระยะเวลานาน ภายใต้การเข้ามาเกี่ยวข้องของมหาอำนาจทั้งหลาย ก็จะยิ่งเร่งให้การปรับตัว จัดกลุ่มใหม่ในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ของโลกเกิดเร็วขึ้น ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และจะส่งผลเสียหายมหาศาลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของโลก เหมือนเช่นที่กำลังส่อเค้าว่าจะเป็นเช่นนั้นอยู่
ในกรณีเช่นนี้ แม้ว่าในอีกไม่ช้าไม่นาน สงครามยิว-ฮามาสจะสร่างซาจนสงบลง
ความขัดแย้งก็จะยังดำรงอยู่ รอวันระเบิดเป็นศึกที่ใหญ่กว่า รุนแรงกว่า และทำลายล้างมากกว่าเท่านั้นเอง